SHARE

EEC กับโอกาสในการกระจายรายได้การท่องเที่ยวในภาคตะวันออก

การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ


iStock-1145661962.jpg

EEC กับโอกาสในการกระจายรายได้การท่องเที่ยวในภาคตะวันออก

การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สะท้อนได้จากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างต่อเนื่อง โดยภาคตะวันออกถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการกระจุกตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2019 แสดงให้เห็นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 360,000 ล้านบาทใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกนั้น กว่า 3 ใน 4 กระจุกตัวอยู่ในชลบุรีเพียงจังหวัดเดียว

ทั้งนี้นอกจาก จ.ชลบุรีแล้ว ภาคตะวันออกยังมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้งกิจกรรมทางทะเลตามเกาะต่าง ๆ และชายทะเลซึ่งได้รับความนิยมอยู่แล้ว และแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดระยอง การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจันทบุรีจากการเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้เศรษฐกิจของไทย ความคึกคักของย่านการค้าบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่จังหวัดสระแก้วและตราด แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี

การพัฒนาการพัฒนาโครงข่ายถนนในภาคตะวันออกให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้นตามแผนพัฒนา EEC จึงถือเป็นโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะการแนะนำเส้นทางการขับขี่เพื่อท่องเที่ยว (road trip) ซึ่งเป็นกลยุทธที่หลายประเทศนิยมใช้เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปตามแนวเส้นทางการขับขี่ที่มักครอบคลุมหลายแหล่งท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ รวมถึงมีการแนะนำจุดแวะพักตามแนวเส้นทางเพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนสองข้างทางและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่

สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการการท่องเที่ยวแบบ road trip จากโครงข่ายทางหลวงระหว่างรัฐที่ครอบคลุมและโครงการ National Scenic Byway ซึ่งเป็นการรวบรวมเส้นทางที่เหมาะสำหรับการขับขี่เพื่อท่องเที่ยวกว่า 150 เส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 46 รัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางหลวง โครงการดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีทางเลือกในท่องเที่ยวแบบ road trip ที่หลากหลาย ทั้งถนนที่มีจุดเด่นด้านทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม ด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม ด้านกิจกรรมสันทนาการ ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดการใช้จ่ายตลอดเส้นทาง

ภาคตะวันออกของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของระบบการคมนาคมหลายประเภทและโครงข่ายถนนที่กำลังได้รับการพัฒนาในการแนะนำเส้นทาง road trip ได้เช่นกัน โดยการแนะนำเส้นทางขับขี่ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายและพาดผ่านพื้นที่หลายจังหวัด ตัวอย่างเช่น ถนนสุขุมวิท-ถนนเฉลิมบูรพาชลทิตที่จะผ่าน จ.กรุงเทพฯ - ชลบุรี – ระยอง – จันทบุรี - ตราด เพื่อกระจายรายได้การท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และชลบุรีไปยังจังหวัดอื่น ๆ ตลอดแนวเส้นทางและอาจเป็นตัวอย่างในการจัดทำเส้นทางการขับขี่แนะนำในภูมิภาคอื่น ๆ ของไทย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ road trip ของไทยคือการไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกิจให้เช่ายานพาหนะเพื่อท่องเที่ยว จึงมักเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการและผู้เช่าอยู่บ่อยครั้งในประเด็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อยานพาหนะและหลักเกณฑ์ในการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้เช่ายานพาหนะชาวต่างชาติ นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางก็มีความสำคัญ เช่น คุณภาพของผิวถนน การแนะนำจุดแวะพักระหว่างเส้นทาง ระบบป้ายบอกทาง ไฟส่องสว่าง ระบบแจ้งเหตุและช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในขณะท่องเที่ยว

_______________

 

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 9 มีนาคม 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ