SHARE

ส่งออก มิ.ย. หดตัวเล็กน้อยหลังผลไม้ส่งออกไปจีนแผ่วลงอีกครั้งจากอากาศแล้ง คาดส่งออก ก.ค. จะพลิกขยายตัวได้

SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกในเดือน ก.ค. มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ จากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ เนื่องจากมูลค่าการส่งออก ก.ค. 2023 หดตัวมากถึง -10.3%

Flash_Export_Jun2024-01.jpg

การส่งออกเดือน มิ.ย. 2024 หดตัว จากการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีนแผ่วลงเป็นสำคัญ

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน มิ.ย. 2024 อยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อย -0.3%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) หลังจากที่ขยายตัวดี 6.9% ในเดือนก่อนหน้า การหดตัวในเดือนนี้เป็นผลจากปัจจัยฐานสูงเป็นสำคัญ ประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปจีนหดตัวอีกครั้งจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า (ขยายตัวสูง 142.4% ในเดือน พ.ค.) แม้จะยังมีแรงส่งจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 184.1% ก็ตาม ทั้งนี มูลค่าการส่งออกหลังหักทองคำและปัจจัยฐานหดตัวเล็กน้อยที่ -0.4%MOM_SA (เทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล) สะท้อนภาวะการส่งออกของไทยที่ใกล้เคียงเดือนก่อน ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 145,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2%YOY (ตัวเลขระบบศุลกากร)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าเกษตรกลับมาหดตัว โดยเฉพาะผลไม้ไปจีน

หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว -4.8% จากที่ขยายตัว 0.8% ในเดือนก่อน โดยผลิตภัณฑ์ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (2) สินค้าเกษตรกลับมาหดตัว -2.2% จากที่ขยายตัวมากถึง 36.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่หดตัว -37.8% หลังขยายตัวสูงถึง 128% ในเดือนก่อน จากอากาศแล้ง โดยเฉพาะตลาดจีนหดตัวถึง -40.2% จากที่ขยายตัวถึง 142.4% ในเดือนก่อน (คิดเป็นราว 90% ของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยทั้งหมด) ทั้งนี้การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเป็นสินค้าสำคัญที่กดดันให้มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. ลดลงถึง -1.4% จากการส่งออกรวมที่หดตัว -0.3% ขณะที่ข้าวและยางพาราเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัว (3) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.3% ชะลอลงจาก 4.2% ในเดือนก่อน โดยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ขณะที่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.3% หลังจากขยายตัว 2.6% ในเดือนก่อน (รูปที่ 1 และ 2)

การส่งออกรายตลาดผันผวน สาเหตุหลักจากทองคำไม่ขึ้นรูป

หากพิจารณาการส่งออกรายตลาด พบว่า (1) ตลาดฮ่องกงพลิกกลับมาหดตัว -15.5% หลังจากที่ขยายตัว 25.1% ในเดือนก่อน โดยสินค้าส่งออกไปฮ่องกงที่สำคัญสุด 3 ประเภทหดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับหดตัว -14.2% (โดยเฉพาะทองคำหดตัว -95.6%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัว -12.9% และแผงวงจรไฟฟ้าหดตัว -16.9% (2) ตลาดญี่ปุ่นหดตัว -12.3% รุนแรงขึ้นจาก -1% ในเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ค่อนข้างทั่วถึง เพราะ 12 ใน 15 สินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นที่สำคัญหดตัวในเดือนนี้ เป็นภาพต่อเนื่องจากที่เห็นการหดตัวทั้ง 15 สินค้าในเดือนก่อน (3) ตลาดจีนพลิกกลับมาหดตัว -12.3% หลังจากที่ขยายตัวมากถึง 31.2% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิดที่หดตัวเป็นตัวเลขสองหลัก เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งหดตัวถึง -40.2% เม็ดพลาสติกหดตัว -19.8% ผลิตภัณฑ์ยางหดตัว -17% (4) การส่งออกไปสหรัฐฯ และอินเดียขยายตัวดีในเดือนนี้และครึ่งแรกของปี และมีแนวโน้มเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต่อไปได้ (5) ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 106.9% จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 1,641.7% (6) ตลาด CLMV ขยายตัว 7.5% จากการส่งออกไปกัมพูชาที่ขยายตัว 44.2% โดยเฉพาะจากการส่งออกทองคำไปกัมพูชาที่ขยายตัวมากถึง 648.6% แต่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำไปกัมพูชากลับหดตัว -4.1% ขณะที่การส่งออกไปยังลาวและเมียนมาหดตัว -0.8% และ -24% (ผลจากความไม่สงบในประเทศเมียนมา) และการส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 2.6% (รูปที่ 1)

ดุลการค้าไทยเกินดุลเล็กน้อยในเดือน มิ.ย. แต่ภาพรวมครึ่งปีแรกยังขาดดุลอยู่มาก

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,578.5 พลิกกลับมาขยายตัว 0.3% หลังจากหดตัว -1.6% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวดี 6.3% สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลง 1.3% ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนหดตัว -22.2% -3.8% และ -2% ตามลำดับ ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาเกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจาก 656.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน พ.ค. สำหรับภาพรวมครึ่งแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุล -5,242.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC ประเมินส่งออกไทยจะขยายตัวต่อเนื่องได้ในเดือน ก.ค. และครึ่งปีหลัง

SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกในเดือน ก.ค. มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ จากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ (รูปที่ 3) เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ปี 2023 หดตัวมากถึง -10.3% ตามเศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสนักในขณะนั้นประกอบกับการส่งออกทองคำหดตัวมากถึง -53.7% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมโลกยังเอื้อต่อการส่งออกไทยอยู่บ้าง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 (รูปที่ 4) แต่ข้อมูลเดือนล่าสุดทยอยปรับลดลงต่ำกว่า 50 ในประเทศพัฒนาแล้ว (รูปที่ 5) SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน และมุมมอง ณ มิ.ย. 2024) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ภาคการผลิตโลก และราคาสินค้าส่งออกที่มีทิศทางเติบโตดีขึ้นกว่ามุมมองก่อนหน้านี้ 

สำหรับในปี 2025 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีเติบโตใกล้เคียงปีนี้และปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากปีนี้ จากความต้องการบริโภคสินค้าภาคการผลิตที่มากขึ้น ภายใต้แรงกดดันปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการส่งออกของไทยที่ไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้เต็มที่ ตลอดจนผลการเลือกตั้งsสำคัญในโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มจะทำให้คู่ค้าสำคัญของไทยมีลักษณะเป็น Protectionism และใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหา China overcapacity ยังเป็นความเสี่ยงและปัจจัยกดดันสำคัญที่ต้องจับตามอง เนื่องจากทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนในตลาดโลกได้ยากขึ้น ทั้งนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2024 และ 2025 ใหม่ และจะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือน ส.ค.

trade01.png
trade02.png
trade03.png

trade04.png
trade05.png

 Button-01.jpg

 engver.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ