The series of “Conscious Consumerism” (EP.2) Sustainable eating … ได้เวลาเปลี่ยนมื้อนี้ ให้อิ่มท้องและอิ่มใจ
ผู้บริโภคชาวไทยตระหนักรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยพบว่าประเด็น “สิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด
อุตสาหกรรมอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 4 ของโลก
อุตสาหกรรมอาหาร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากถึงราว 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมในระดับต้นน้ำ (Upstream level) ของห่วงโซ่การผลิต เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาข้าว รวมไปถึงก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และไร่นาอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนซ้ำเติมให้ภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงไปอีก
ชาวไทยตระหนักรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยมีความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยพบว่าประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยในทุกช่วงวัย (Generation) ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืน โดยประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ 1) กระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรและดูแลสิ่งแวดล้อม 2) มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และ 3) มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ราวครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์
ผลสำรวจฯ พบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า หากมีตัวเลือกในตลาดก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ การบริโภคโปรตีนจากพืชยังมีส่วนช่วยลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ขยะอาหาร อีกหนึ่งวาระเร่งด่วนของสังคมไทยสู่เป้าหมาย Zero waste
คนไทยสร้างขยะอาหารสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกค่อนข้างมาก สะท้อนว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงแนวทางป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางคือในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการสูญเสียของอาหาร การคัดแยก รวมไปถึงการจัดการหรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอาหารที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาขยะอาหารของภาครัฐ คือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและนำไปสู่เป้าหมาย Zero waste ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ต้องปรับแนวคิดด้วยการเปลี่ยนให้วิกฤติขยะอาหารกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้เพิ่มเติม
อนาคตอุตสาหกรรมอาหารต้องยั่งยืน โปร่งใส และบริหารซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ
อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลการทำธุรกิจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืน ดังนั้นกระบวนการผลิตสินค้าในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต จะต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) รวมทั้งจะต้องมีการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
1. The series of “Conscious consumerism” (EP.1) : Green road, Go sustain เปลี่ยนการสัญจรให้ยั่งยืนทุกเส้นทาง คลิกอ่านต่อ https://www.scbeic.com/th/detail/product/Sustainable-mobility-170325
2. The series of “Conscious Consumerism” (EP.3) Green electronics … เส้นทางสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสายกรีน คลิกอ่านต่อ https://www.scbeic.com/th/detail/product/green-electronics-270325