SUGAR INDUSTRY ANALYSIS AND OUTLOOK แนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาล

SCB EIC คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง

SCB EIC คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง แต่ปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากกลายเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยพยุงรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวม ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2024/2025 แล้ว โดยผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 กลับมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว -11.2%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา ตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ทั้งนี้แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 34.3%YOY สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY แม้ว่าราคาส่งออกปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ยังส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศเป็นจำนวนมากที่ยังรอการส่งออก ประกอบกับสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงน้อยกว่าช่วง 5 เดือนแรก  อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลโลก ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาล และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก

 
อนึ่ง กำไรของธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยรวมในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ทั้งนี้นอกจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว โรงงานน้ำตาลยังมีการแข่งขันกัน  ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า และการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีสินค้าที่ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ