ธุรกิจโรงไฟฟ้าปี 2568 : พลังงานหมุนเวียนเติบโต โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องเร่งปรับตัว
ธุรกิจโรงไฟฟ้าปี 2568-2571 เติบโตสอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจ
แนวโน้มความต้องการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยปี 2568-2571
ในช่วงปี 2568-2571 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านอกระบบจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าทั้งในและนอกระบบจะเติบโตเฉลี่ย 2.5%YOY ในปี 2568 และขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) 3.0% ในช่วงปี 2569-2571 จากการเพิ่มขึ้นของโครงการ Direct PPA และ IPS นอกจากนี้ คาดว่าค่าไฟฟ้าในปี 2568 จะคงอยู่ใกล้เคียงระดับ 4.1-4.2 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปี 2567 อันเป็นผลมาจากนโยบายลดค่าพลังงานของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2569-2571 ค่าไฟฟ้าจะค่อย ๆ ลดลง และคาดว่าจะต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยภายในปี 2571 ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงในตลาดโลก ในระยะยาว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลจะเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2567) มุ่งเน้นการลดสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ
แนวโน้มการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยปี 2568-2571
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 5%YOY และจะเติบโตเฉลี่ยที่ 7% (CAGR) ในช่วงปี 2569-2571 ทั้งนี้เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามแผน COD (Commercial Operation Date) ของพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่คาดว่าจะเข้าระบบประมาณ 700-1,000 เมกะวัตต์ต่อปี โดยแหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล และขยะชุมชน นอกจากนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS/SPP direct) และโครงการ Private PPA ยังช่วยผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
แนวโน้มการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนยังคงอยู่ในทิศทางบวกจนถึงปี 2573 จากการที่รัฐบาลประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 3,731 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2567) ที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 51% ภายในปี 2580 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตราว 3,700 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และจะทยอยเพิ่มเข้าระบบมากกว่า 31,000 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2574-2580
นอกจากประเทศไทยแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงไฟฟ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการสิ้นสุดของโครงการที่ได้รับ Adder กว่า 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยครบกำหนดในปี 2567-2568 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่อิงรายได้กับ Adder
แนวโน้มความต้องการแผงโซลาร์และปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลกปี 2568-2571
แม้ว่าความต้องการแผงโซลาร์จะยังคงเติบโตในปี 2568 แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงปี 2569-2571 สาเหตุหลักมาจากตลาดใหญ่ เช่น จีนและยุโรป ซึ่งเคยมีการขยายตัวสูงในช่วงปี 2562-2566 เริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าความต้องการแผงโซลาร์จะยังขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 9% ในปี 2568 โดยกำลังการผลิตใหม่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตนี้มาจากความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ตามเป้าหมาย Net zero ของหลายประเทศ ประกอบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาของแผงโซลาร์และแบตเตอรี่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดแผงโซลาร์ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญ เช่น ปัญหาภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาของแผงโซลาร์ในปี 2568 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองประกอบด้วย 1) อุปทานที่ล้นตลาดจากประเทศจีน 2) การแข่งขันที่รุนแรงในหมู่ผู้ผลิตแผงโซลาร์ (Module) และ 3) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องขายสินค้าค้างสต็อกในราคาที่ต่ำลง นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการ รวมถึงการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด ทำให้อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคต
ธุรกิจโรงไฟฟ้ากับประเด็นด้าน ESG
การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น Carbon neutrality และ Net zero emission ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ สร้างแรงกดดันให้โรงไฟฟ้าที่พึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติต้องเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมาใช้งาน อาทิ การนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางประเภท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro) ที่ปริมาณการผลิตลดลงจากปรากฏการณ์ El Niño ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง
