SHARE

EIC มอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวมาจากปัจจัยอุปทานเป็นสำคัญ และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบนโยบายในปีหน้า

EIC มอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวมาจากปัจจัยอุปทานเป็นสำคัญ ...


engver.jpg



pic_policyrate.png


กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี

 

กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2022 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2023 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ทั้งนี้คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

 

 

EIC คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจาก

 

1) กนง. มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2022 ลงเหลือ 2.7% จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิม จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจชะลอการเดินทางจากภาวะเงินเฟ้อและการบริโภคที่จะได้รับผลกระทบ 2) อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุปทาน ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังอ่อนแอ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย และ 3) ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต

 

 

ทั้งนี้ EIC มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก (Recession risk) ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์และการส่งออกไทยในระยะต่อไปได้

 

โดย EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ (รวม 7 ครั้งในปี 2022) และมีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปีนี้ เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของ Fed อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากต้นทุนการกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยของทั้งธุรกิจและผู้บริโภคที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคสูงขึ้น 2) ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 3) ฐานะการเงินและความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับแย่ลง และ 4) ราคาสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็ว ได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 spread) ปรับลดลง จนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ซึ่งมักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยจากสถิติในอดีต พบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดหลังจากการติดลบของ 2-10 spread ประมาณ 1-2 ปี ทั้งนี้สำหรับในกรณีฐานคาดว่าภาวะ  Recession ในสหรัฐฯ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปีหน้า แต่ก็ต้องจับตาดูการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างต่อเนื่อง



Button-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ