SHARE
OUTLOOK:IN FOCUS
05 ตุลาคม 2020

In focus : ตลาดแรงงานไทย ในภาวะวิกฤติ ฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้า

ตลาดแรงงานของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

Info_Infocus_01.jpgInfo_Infocus_02.jpg

ตลาดแรงงานไทยในภาวะวิกฤติ ฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้า


ตลาดแรงงานของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี อีกทั้งในกลุ่มผู้มีงานทำก็มีแนวโน้มที่จะได้รับรายได้ที่ลดลงมากจากทั้งชั่วโมงการทำงานที่ลดลงมาก การหยุดงานชั่วคราวจากการปิดเมือง และการกลับไปประกอบอาชีพในภาคเกษตรของคนจำนวนมากในช่วงที่รายได้ภาคเกษตรหดตัวจากภัยแล้ง EIC มองว่าการทรุดตัวของตลาดแรงงานในครั้งนี้มีนัยต่อทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น ความเสี่ยงสู่ภาคการเงินผ่านช่องทางสินเชื่อ ไปจนถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ภาวะวิกฤติของตลาดแรงงานไทย 

ผลกระทบที่รุนแรงของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจนำไปสู่การว่างงานที่สูงที่สุดของตลาดแรงงานไทยนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก จากข้อมูลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจาก 3.8 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 97.7%YOY ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.95% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก (รูปที่ 1) ทั้งนี้การว่างงานที่เกิดจากวิกฤติในรอบนี้ได้รับผลกระทบผ่านทั้งผลของรายได้ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาก่อนหน้า และมาตรการปิดเมือง (lockdown) ทั่วโลกที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่พึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก

pic01.JPG

อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ในทุกอุตสาหกรรมสำคัญ เมื่อพิจารณาในรายอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในปีก่อนหน้าในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานในทุกอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ (รูป 2) โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารที่จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.4 หมื่นคน ส่งผลให้อัตราการว่างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้อยู่ในระดับ 2.9% สูงที่สุดเมื่อเทียบในทุกอุตสาหกรรม จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่มีมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นโดยเปรียบเทียบ ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ การปิดเมือง และการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศสอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยงของแรงงานรายอุตสาหกรรมตามที่ EIC ได้เคยประเมินไว้ ทั้งนี้นอกจากปัจจัยลบดังกล่าวแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังก่อให้เกิดผลกระทบอีกในหลายด้าน เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) การชะลอการลงทุน การปิดกิจการ ฯลฯ ส่งผลทำให้การว่างงานเป็นปัญหาในทุกอุตสาหกรรม

pic02.JPG

อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อย (youth unemployment) สูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาแบ่งตามระดับอายุของแรงงานพบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มเช่นกัน (รูปที่ 3) ทั้งนี้กลุ่มแรงงานในกลุ่มอายุน้อย คือ อายุ 15-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 64.6% ไม่มีประสบการณ์ทำงาน ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานที่สูงกว่ากลุ่มอื่นมาโดยตลอด และในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 นี้ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงไปอยู่ที่ 8.6% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 สอดคล้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่การจ้างงานของแรงงานอายุน้อยก็ได้รับผลกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่น ๆ เช่นกัน เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานของกลุ่มเยาวชนเพิ่มจาก 7.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ไปอยู่ที่ 25.2% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ 13.3% ในเดือนเดียวกัน หรือในประเทศแคนาดาที่อัตราการว่างงานของกลุ่มเยาวชนเพิ่มจาก 10.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ไปอยู่ที่ 29.4% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมของแคนาดาที่อยู่ที่ 13.7% ในเดือนเดียวกัน


pic03.JPG


EIC มองว่าปัญหาการว่างงานในกลุ่มแรงงานอายุน้อย (youth unemployment) เสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงมากในช่วงวิกฤติ เพราะในภาวะที่งานมีจำกัดกลุ่มแรงงานอายุน้อยยังต้องแข่งขันกับกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าและมีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่าแต่ต้องตกงานบางส่วน และอาจกระทบต่อเนื่องไปยังปีถัด ๆ ไปที่กลุ่มแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาในรุ่นถัดไปจะเข้ามาแข่งขันในตลาดแรงงานเพิ่มเติมในขณะที่กำลังการจ้างงานของภาคธุรกิจน่าจะถดถอยลงจากวิกฤติ จึงอาจไม่เพียงพอต่อการรองรับอุปทานแรงงานกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาของ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) พบว่าในภาวะที่ซบเซาของตลาดแรงงานในช่วงวิกฤติจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อกลุ่มแรงงานอายุน้อยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งในแง่ของการจ้างงานและค่าจ้าง เนื่องจากแรงงานอายุน้อยที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานอาจตัดสินใจเริ่มทำงานที่ใช้ทักษะน้อยกว่าที่ตนมีจากการจ้างงานที่มีจำกัด ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อความก้าวหน้าในสายงาน (career path) โดย OECD ยังพบอีกว่า ในสหราชอาณาจักร แรงงานที่อายุน้อยกว่า 25 ปี มีโอกาสที่จะทำงานในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการปิดกิจการ (เช่น โรงแรมและร้านอาหาร) มากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่นถึง 2.5 เท่า

นอกจากการว่างงานจะสูงแล้ว ภาวะการมีงานทำยังอ่อนแอลงมาก จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การหยุดงานชั่วคราวที่เพิ่มสูง และการย้ายไปสู่ภาคเกษตรที่กำลังประสบปัญหารายได้ตกต่ำ โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

  • ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยหดตัวสูงซึ่งลดลงต่อเนื่องจากแนวโน้มระยะยาวที่ลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2013 EIC มองว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญต่อการประเมินภาวะตลาดแรงงาน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าคนที่มีงานทำนั้นได้ทำงานในเวลาที่มากหรือน้อยอย่างไร ซึ่งสำหรับแรงงานจำนวนมากที่ได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง โดยเฉพาะคนที่พึ่งพารายได้จากการทำงานล่วงเวลาหรือที่เรียกว่าการทำโอที จำนวนชั่วโมงถือเป็นตัวกำหนดรายได้ที่สำคัญ ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยอยู่ที่ประมาณ 38.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงถึง -11.5%YOY จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถือเป็นระดับชั่วโมงการทำงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีข้อมูลในปี 2013 (รูปที่ 4)

  • ชั่วโมงการทำงานที่หดตัวมาจากการลดลงของงานเต็มเวลาและงานล่วงเวลา วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการหดตัวอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนของงานเต็มเวลา (full time jobs) หรืองานที่ใช้เวลาทำตั้งแต่ 35 ถึงไม่เกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และงานล่วงเวลา (overtime jobs หรืองานโอที) หรืองานที่ใช้เวลาทำตั้งแต่ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป โดยผู้ที่ทำงานเต็มเวลาในไตรมาสที่ 2 ลดลง 2.3 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า คิดเป็นการหดตัวที่ –9.4%YOY ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาลดลง 2.5 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่สูงถึง -35.6%YOY ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยแรงงานในทั้ง 2 กลุ่มนี้อาจถูกเลิกจ้างหรือมีชั่วโมงการทำงานน้อยลงทำให้ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่าเดิม (เช่น เคยทำงานล่วงเวลา และถูกงดงานโอทีทำให้กลายเป็นคนทำงานเต็มเวลา หรือถูกให้หยุดงานชั่วคราว เป็นต้น) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง

  • การลดลงของงานเต็มเวลาและงานล่วงเวลาบางส่วนถูกทดแทนด้วยงานต่ำระดับ กลุ่มประเภทงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤติคืองานต่ำระดับ (underemployment) หรืองานที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในไตรมาส 2 ปี 2020 อยู่ที่ 10.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 4.1 ล้านคนคิดเป็น 68.3%YOY ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้มาจากการที่คนที่เคยทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาถูกลดชั่วโมงกลายมาเป็นแรงงานที่ทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงจำนวนผู้มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงาน (แรงงานที่ทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งน่าจะเป็นผลของมาตรการ lockdown ที่ทำให้แรงงานไม่มีกิจกรรมการทำงานในช่วงดังกล่าว


    pic04.JPG

  • ในกลุ่มของคนทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้น ส่วนมากเป็นผู้มีงานทำที่รายงานว่าตนเองทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติผู้มีงานทำสามารถมีชั่วโมงการทำงานได้ตั้งแต่ 0 ชั่วโมงขึ้นไป โดยคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมงคือคนที่ตอบแบบสำรวจว่าในช่วงระหว่าง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ไม่ได้ทำงาน แต่มีงานหรือกิจการให้กลับไปทำ (จึงถูกนับเป็นผู้ที่มีงานทำ) ซึ่งนั่นอาจหมายถึงแรงงานที่อยู่ระหว่างช่วงการลางานหรือถูกให้พักงานชั่วคราว โดยจากข้อมูลพบว่าแรงงานที่ทำงาน 0 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5 ล้านคน ในไตรมาส 2 ปี 2020 จาก 4.4 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 เท่าจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งในอดีตแรงงานกลุ่มนี้จะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณเพียง 3-4 แสนคน โดยไม่ได้มีทิศทางการเปลี่ยนแปลง (trend) มากนักแต่จะเป็นไปในลักษณะตามฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่ การเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในไตรมาสที่ 2 จึงคาดว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการ lockdown ที่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง แรงงานจำนวนมากจึงถูกให้หยุดงานเป็นการชั่วคราวโดยที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง หรือเป็นคนทำงานรับจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ โดยในระยะต่อไป EIC มองว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่อาจถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานให้กลับไปทำในที่สุดเพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ในภาวะหดตัวทำให้บางธุรกิจอาจขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการถาวร

  • ในกลุ่มแรงงานที่ทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่กว่า 82.4% ไม่ได้รับค่าจ้าง ในบรรดากลุ่มคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมงนี้มีจำนวนถึง 2.1 ล้านคนที่ไม่มีรายได้จากการทำงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานรับจ้างและประกอบอาชีพอิสระกว่า 1.2 ล้านคน ที่เหลืออีก 9.3 แสนคนเป็นกลุ่มลูกจ้าง ขณะที่แรงงาน 0 ชั่วโมงส่วนน้อยเพียง 4.5 แสนคนยังคงมีรายได้จากการทำงาน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่นายจ้างยังมีการจ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวมีจำนวน 4.1 แสนคน การเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงาน 0 ชั่วโมงซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีรายได้นี้ถือเป็นอีกสิ่งที่น่ากังวลของตลาดแรงงานไทยนอกเหนือไปจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงโดยหากถือเอาคนกลุ่ม 0 ชั่วโมงและไม่มีรายได้เป็นแรงงานที่เสมือนตกงาน และนับรวมเข้ากับจำนวนผู้ว่างงานตามนิยามทางการอัตราการว่างงานที่รวมแรงงาน 0 ชั่วโมงจะอยู่สูงถึง 7.4% ในไตรมาสที่ 2 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ที่เพียง 1.9% ในช่วงปี 2013-2019 (รูปที่ 5)


    pic05.JPG
  • จำนวนงานเต็มเวลาและล่วงเวลามีการลดลงมากในแทบทุกอุตสาหกรรม ขณะที่งานต่ำระดับมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรและการเพิ่มขึ้นของแรงงาน 0 ชั่วโมงในภาคบริการ ตลาดแรงงานในไตรมาส 2 ปี 2020 มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ซบเซาลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีการเพิ่มขึ้นของคนทำงาน 0 ชั่วโมงสูงถึง 2.1 ล้านคนและเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคบริการซึ่งได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และบริการอื่น ๆ เป็นส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมง โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในภาคบริการถึง 70.7% (รูปที่ 6) สำหรับงานที่มากกว่า 0 ถึงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรืองานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันนั้น (เพิ่มขึ้น 2 ล้านคน) กว่า 30% เป็นงานในภาคเกษตร ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2020 งานต่ำระดับในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 5.7 แสนคน ในขณะที่งานต่ำระดับในอุตสาหกรรมอื่น ๆ กลับลดลงในช่วงเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ถือว่ามีนัยต่อรายได้ภาคครัวเรือนเพราะภาคเกษตรเป็นภาคที่ค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ อยู่แล้ว (โดยในปี 2019 ค่าจ้างภาคเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6,013 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าจ้างนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 15,063 บาทต่อเดือน) อีกทั้งภาคเกษตรในปีนี้ก็ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวถึง -6.2%YOY การเคลื่อนย้ายของแรงงานเข้าสู่งานต่ำระดับในภาคเกษตรจึงเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงความซบเซาของรายได้ภาคครัวเรือนที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนคนทำงานตั้งแต่ 35 ชม.ขึ้นไป (งานเต็มเวลาและล่วงเวลา) ในภาพรวมลดลงรวมกันถึง 4.8 ล้านคน ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมสุทธิลดลง 7 แสนคน


    pic06.JPG

นัยของวิกฤติตลาดแรงงานไทย (implications)


EIC มองว่าภาวะวิกฤติของตลาดแรงงานนี้มีนัยต่อทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น ความเสี่ยงสู่ภาคการเงินผ่านช่องทางสินเชื่อ ไปจนถึงศักยภาพของการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาว...


Button-01.jpg





Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ