SHARE
FLASH
30 ตุลาคม 2013

ปรับเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันตามกฎหมายจาก 5% เป็น 6% เริ่ม 1 พ.ย. 2013

กระทรวงพลังงานออกประกาศเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ต้องเพิ่มสำรองน้ำมันจากเดิม 5% เป็น 6% ของปริมาณที่จำหน่ายในประเทศ หรือต้องเพิ่มสำรองจาก 36 วัน เป็น 43 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2013

ผู้แต่ง : ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ และ ชนิตา สุวรรณะ

147941508.jpg

Event.png

885_20100622103059.gif

  • กระทรวงพลังงานออกประกาศเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 71 ต้องเพิ่มสำรองน้ำมันจากเดิม 5% เป็น 6% ของปริมาณที่จำหน่ายในประเทศ หรือต้องเพิ่มสำรองจาก 36 วัน เป็น 43 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2013  

    --------------------------------------------------------------------------------

     1ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิด ปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป (เช่น โรงกลั่น และผู้ค้าน้ำมันอื่นๆ)


Analysis.png

884_20100622103051.gif

  • การปรับเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันดังกล่าว ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทย ปัจจุบันไทยมีการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปราว 7 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันดิบที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นส่วนใหญ่ หรือ 85% ของปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมด นำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน เช่น เกิดสงครามในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือมีอุปสรรคด้านการจัดส่งน้ำมันมายังประเทศไทย ไทยจะยังมีน้ำมันสำรองไว้ใช้ได้นานขึ้นถึง 43 วัน จากเมื่อก่อนที่ 36 วัน โดยไทยจะมีน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 4.7 ล้านบาร์เรล เป็น 28 ล้านบาร์เรล
  • EIC คาดว่าผู้ค้าน้ำมันส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้ และไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก...
    • สูตรการกันสำรองมีความยืดหยุ่น ผู้ค้าน้ำมันจะเก็บสำรองน้ำมันทั้งในรูปแบบน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป แต่น้ำมันทั้ง 2 ชนิดสามารถเลือกเก็บแทนกันได้ตามอัตราส่วนที่รัฐบาลกำหนด โดยปริมาณสำรองทั้งหมดต้องมีสัดส่วน 6% ของปริมาณการค้าน้ำมัน
    • คลังเก็บน้ำมันในปัจจุบันยังมีความสามารถเพียงพอในการรองรับน้ำมันสำรองที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำมันแต่ละรายมีทางเลือกในการเก็บน้ำมันสำรองที่เพิ่มขึ้นหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองในถังเดิม การซื้อถังใหม่ หรือการเช่าคลังเพิ่ม ซึ่งผู้ค้าน้ำมันบางราย เช่น Shell และ Esso ที่ก่อนหน้านี้มีคลังไม่เพียงพอสำหรับการสำรองเพิ่ม อาจขอเช่าจากผู้ค้าน้ำมันรายอื่น เช่น  IRPC และ สีชังเทอร์มินอล ที่ยังมีถังเหลือสำหรับให้รายอื่นเช่าได้ ส่วนการซื้อถังใหม่ขนาดความจุสูงสุดที่ 600,000 บาร์เรล จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งผู้ค้าน้ำมันยังไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการนี้
    • ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในภาพรวมการปรับเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันจะส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันบางรายมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนหลักที่เพิ่มขึ้นจะมาจากต้นทุนทางการเงิน ค่าถัง และค่าบริหารความเสี่ยง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นราว 7-10 สตางค์ต่อลิตร
  • ในอนาคต ไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มสำรองน้ำมันเป็น 90 วัน ตามมาตรฐานของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องลงทุนด้านคลังกักเก็บน้ำมันเพิ่ม  โดยอาจนำรูปแบบการสำรองน้ำมันของต่างประเทศมาปรับใช้กับไทย เช่น ยุโรป มีการจัดตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นมาดูแลบริหารจัดการเนื้อน้ำมันและเช่าคลัง โดยมีผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นเป็นสมาชิกซึ่งสามารถขอยืมน้ำมันสำรองไปใช้ในช่วงฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ ไทยอาจจะสร้างคลังสำรองน้ำมันอยู่ในพื้นที่การก่อสร้างโครงการท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย (Energy Bridge) ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และอาจอยู่ในพื้นที่โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันจากภาคกลางไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มสำรองน้ำมันเป็น 90 วันจะสำเร็จหรือไม่ ใครจะเป็นผู้ลงทุนสร้างคลังใหม่ และผู้ค้าน้ำมันจะต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูผลกระทบต่อไป


Implication.png

886_20100622103105.gif

  • มาตรการเพิ่มอัตราสำรองน้ำมัน จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น สังเกตได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ราคาขายปลีกในประเทศมักเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อภาคครัวเรือนผู้ใช้ยานยนต์ทั่วไป และภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันดังกล่าวน่าจะช่วยคลายความกังวลของผู้บริโภคน้ำมัน ทำให้ประเทศมีน้ำมันไว้ใช้อย่างเพียงพอในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนจนสร้างความเดือดร้อนแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
  • ในระยะยาว หากมีคลังเก็บน้ำมันกระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นตามโครงการขยายท่อส่งน้ำมันไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างคลังสำรองน้ำมันในพื้นที่โครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยให้การใช้ประโยชน์จากที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้พื้นที่ต่างจังหวัดมีน้ำมันไว้ใช้อย่างเพียงพอและทันการณ์

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ