SHARE
FLASH
01 พฤศจิกายน 2018

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. 2018 อยู่ที่ 1.23% ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 1.23%YOY ชะลอลงจาก 1.33%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2018 อยู่ที่ 1.15%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเป็น 0.75%YOY จาก 0.80%YOY ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.72 %YOY

ผู้เขียน: จิรายุ โพธิราช

 

Analysis.png

keypoint.jpg

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 1.23%YOY ชะลอลงจาก 1.33%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2018 อยู่ที่ 1.15%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเป็น 0.75%YOY จาก 0.80%YOY ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.72 %YOY

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลออย่างต่อเนื่องตามการหดตัวที่เร่งขึ้นของราคาอาหารสดและการชะลอลงของเงินเฟ้อพื้นฐาน ดัชนีราคาอาหารสดในเดือนนี้หดตัวที่ -1.48%YOY เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -1.16%YOY สาเหตุมาจากดัชนีราคาในหมวดผักและผลไม้ที่หดตัวเร่งขึ้นที่ -8.33%YOY จาก -6.69%YOY ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดเนื้อสัตว์ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องแม้จะเป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลง ในส่วนของดัชนีราคาหมวดพลังงานขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ 8.11%YOY ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเช่นกัน นำโดยราคาหมวดเคหสถาน และค่าโดยสารสาธารณะ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงในเดือนนี้ที่ 0.59%YOY และ 0.66YOY จาก 0.67%YOY และ 0.69%YOY ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ นอกจากนี้ ราคายาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในเดือนนี้ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 0.41%YOY จาก 3.86%YOY ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในเดือน ก.ย. 2017 ทำให้เกิดปัจจัยฐานสูงในราคาสินค้าหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ การชะลอลงของราคาในหมวดต่างๆ ดังกล่าวทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวชะลอลงแม้ว่าราคาอาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนที่แล้วเร่งตัวขึ้นมา จะยังคงมีอัตราการเติบโตที่เร่งขึ้นในเดือนนี้ที่ 1.54%YOY จาก 1.41%YOY ในเดือนก่อนหน้าก็ตาม
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • อีไอซีประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 1.2%YOY โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะยังคงขยายตัวได้สูงกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1.0% สำหรับดัชนีราคาพลังงานจะเริ่มเห็นผลจากปัจจัยฐานสูงของราคาน้ำมันดิบโลกชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้อัตราการเติบโตแบบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนราคาอาหารสดอาจยังได้รับผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตรที่ยังคงมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมามากอาจเริ่มลดลงในระยะต่อไป เพราะการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรในระยะหลังเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรในเดือน ต.ค. 2018 ขยายตัวที่ 1.78%YOY ชะลอลงจากในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว 4.76%YOY และครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 12.35%YOY


  • อีไอซีประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 0.7%YOY โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2018 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่กำลังการฟื้นตัว แต่ทั้งนี้อัตราเร่งของการขยายตัวอาจยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก สอดคล้องกับกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งต้องจับตาแนวโน้มรายได้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไปหลังแนวโน้มรายได้เกษตรกรขยายตัวต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือน ต.ค. ขยายตัวได้เพียง 0.19%YOY หลังจากที่หดตัว -4.04%YOY ในเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันแนวโน้มรายได้ค่าจ้างนอกภาคเกษตรก็ยังถือว่าขยายตัวได้ในระดับที่ไม่สูงมาก โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ที่ 2.4%YOY


  • ทิศทางในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ทำให้มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาในเดือน ต.ค. นี้ สะท้อนว่าปัจจัยอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีไอซีจึงมองว่าการพิจารณาตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการของปัจจัยสำคัญอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ต้องจับตาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยที่เริ่มมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยบ้างแล้วในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจในประเทศที่อาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเข้มแข็งสะท้อนจากรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังไม่ได้ขยายตัวในระดับสูงมากนัก

EIC_Infographic_ Inflation_20181101_new-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ