EIC Ariticle : ราคาน้ำมันขึ้นรอบนี้อาจไม่ช่วยดึงราคายางพาราและน้ำตาลขึ้นตามไปด้วย
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่มีแนวโน้มจบปีนี้ด้วยราคาที่สูงกว่าปีก่อน 20% อาจไม่ส่งผลให้ราคายางพาราและน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งยางพาราและอ้อยที่มีปริมาณมากด้วยสภาพอากาศที่ดี
EIC Article : ราคาน้ำมันขึ้นรอบนี้อาจไม่ช่วยดึงราคายางพาราและน้ำตาลขึ้นตามไปด้วย
ผู้เขียน: ปัญจรัตน์ กิตติจรูญวิทย์
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่มีแนวโน้มจบปีนี้ด้วยราคาที่สูงกว่าปีก่อน 20% อาจไม่ส่งผลให้ราคายางพาราและน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งยางพาราและอ้อยที่มีปริมาณมากด้วยสภาพอากาศที่ดี
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้เทียบกับปี 2017 อาจไม่ส่งผลให้ราคายางพารา และน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นไปด้วยในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 20% แต่ราคายางพาราและน้ำตาลยังมีแนวโน้มคงตัว ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าปลายปี ทิศทางราคายางพารา และน้ำตาลก็อาจจะยังไม่ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันเช่นเดิม แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มประคองตัวอยู่ที่ระดับสูงกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจนสิ้นปี จากปัจจัยทางด้านอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และยุโรป ประกอบกับปัจจัยด้านอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวกว่าปีก่อนจากมาตรการปรับลดปริมาณการผลิตให้เหลือ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปี ตลอดจนปัจจัยกดดันทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และความไม่สงบทางการเมืองของเวเนซุเอลา
ในอดีต ราคายางพารา และน้ำตาลมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน โดยยางพาราจะได้รับผลกระทบในฝั่งอุปสงค์ ในขณะที่น้ำตาลจะได้รับผลกระทบในฝั่งของอุปทาน ในส่วนของยางพารานั้น น้ำมันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยางสังเคราะห์ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนยางพาราได้ เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ยางสังเคราะห์ก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วย อุตสาหกรรมที่ใช้ยาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ก็จะเปลี่ยนมาใช้ยางพาราแทนยางสังเคราะห์ ส่งผลให้ความต้องการยางพาราสูงขึ้น นำไปสู่การขึ้นราคาของยางพารา ในทางกลับกัน ในกรณีของน้ำตาล น้ำอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อใช้แทนน้ำมันได้ เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ผู้ผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลแทน ทำให้ปริมาณน้ำอ้อยที่เหลือไปผลิตน้ำตาลลดลง ส่งผลให้อุปทานน้ำตาลในตลาดลดลงไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากที่สุดของโลก หรือคิดเป็น 41% ของมูลค่าการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก ที่สัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน เนื่องจากโรงงานน้ำตาลในบราซิลกว่า 80% สามารถผลิตได้ทั้งน้ำตาลและเอทานอล ส่งผลให้สัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งประเทศลดลง
อย่างไรก็ดี ราคายางพาราในปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวมากกว่าจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน จากผลผลิตยางพาราที่อยู่ในระดับสูงกว่าการบริโภค และปริมาณสต็อกยางโลกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 20 ปี จากข้อมูลของ IRSG (International Rubber Study Group) เผยว่าผลผลิตยางพาราในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 7% เนื่องจากสภาพอากาศดี ไม่มีภัยแล้ง หรือน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรสวนยางสามารถกรีดน้ำยางได้มากขึ้น ซึ่งปริมาณอุปทานยางพาราที่สูงขึ้นนี้ เพียงพอต่อความต้องการใช้ยางพาราเพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ที่ราคาสูงขึ้นได้ ดังนั้น ราคายางพาราจึงมีแนวโน้มทรงตัว และนอกจากอุปทานยางที่สูงแล้ว ปริมาณสต็อกยางที่สูงยังช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันอีกด้วย ซึ่งปริมาณสต็อกยางโลกในปี 2018 อยู่ที่ 24% ของปริมาณการบริโภคยางพาราทั้งปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 26% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนปี 2013 ที่ระดับปริมาณสต็อกยางต่ำกว่า 20% มาโดยตลอด
ราคายางพารามีแนวโน้ม เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันน้อยลงหลังปี 2013
ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ส่งออกที่สงขลา เทียบกับราคาน้ำมันดิบ Brent และ ปริมาณยางพาราคงคลัง
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ IRSG
ในอนาคต ราคายางพารามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันน้อยลง หากปริมาณสต็อกยางยังอยู่ในระดับสูง ปริมาณสต็อกยางสร้างความมั่นใจว่าปริมาณยางพารามีเพียงพอต่อความต้องการ และเสริมอุปทานส่วนขาดได้ ทำให้เป็นส่วนสำคัญในการลดความผันผวนด้านราคาและผลกระทบจากราคาน้ำมัน ดังจะเห็นได้จากราคายางพาราที่ค่อนข้างทรงตัว และเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันน้อยลง หลังจากปี 2013 ที่สต็อกยางพาราโลกเพิ่มขึ้น 72% จากค่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้า ซึ่งถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ในทางสถิติระหว่างราคาน้ำมันและยางช่วงก่อนและหลังปี 2013 พบว่าผลกระทบของราคาน้ำมันต่อราคายางลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยความสัมพันธ์ (correlation) ลดลงจาก 0.88 ในปี 2000-2013 เหลือเพียง 0.59 เท่านั้นในปี 2013-ปัจจุบัน
ในกรณีของน้ำตาล ราคาน้ำตาลก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาเช่นกัน เพราะอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวสูง หากพิจารณาข้อมูลราคาในอดีต พบว่าราคาน้ำตาลเปลี่ยนแปลงตามอัตราส่วนการบริโภคน้ำตาลต่อปริมาณการผลิตน้ำตาลเป็นหลัก โดยมีความสัมพันธ์เชิงสถิติตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 0.61 ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงราคาของน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำตาล จึงถือเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาล อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตน้ำตาลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ ทำให้ผลกระทบจากราคาน้ำมันเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลกับราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2008 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ -0.04 เพียงเท่านั้น ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น แต่ปริมาณวัตถุดิบน้ำตาลก็สูงขึ้นด้วยจากสภาพอากาศที่ดี ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลที่บราซิลผลิตได้ลดลงเพียง 3 แสนตันเท่านั้น แม้ว่าจะมีการปรับสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลจากระดับ 50% มาเป็น 60% แล้วก็ตาม ซึ่งปริมาณที่หายไปนี้ไม่สามารถเทียบกับปริมาณน้ำตาลที่อินเดียผลิตได้เพิ่ม 10 ล้านตัน หรือไทย 4 ล้านตันได้เลย เมื่ออุปทานน้ำตาลโลกสูงขึ้น จึงกดดันราคาน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลไม่ปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
ในช่วงที่ปริมาณน้ำตาลคงคลังสูง เช่นปี 2015 และ 2018 ราคาน้ำตาลไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมัน
ราคาน้ำตาลหมายเลข 5 เทียบกับราคาน้ำมัน (Brent) และปริมาณน้ำตาลเหลือคงคลังต่อปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั่วโลก
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ USD
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารา และน้ำตาล อาจไม่ต้องกังวลกับราคายางและน้ำตาลมากนัก แม้ว่าน้ำมันในปีนี้จะปรับราคาสูงขึ้น