SHARE
IN FOCUS
04 พฤษภาคม 2011

จับตาการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซ

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากกลุ่มประเทศหลัก แต่ปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศสมาชิกหลายประเทศยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยล่าสุดปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนจากทั้ง Credit default swap (CDS) และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งตลาดมองว่าไม่น่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

ผู้เขียน:  มันทนา เลิศชัยทวี

477529807-s.jpg

แม้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากกลุ่มประเทศหลัก แต่ปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศสมาชิกหลายประเทศยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยล่าสุดปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนจากทั้ง Credit default swap (CDS) และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งตลาดมองว่าไม่น่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซกลับมาตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหลังมีข่าวร้ายออกมาต่อเนื่อง เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา Eurostat ได้ประกาศตัวเลขขาดดุลการคลังของกรีซที่ 10.5% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเป้าที่เคยตั้งไว้ 9.6% สะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะได้อย่างที่เคยสัญญา กอปรกับรัฐมนตรีคลังของเยอรมนีที่แสดงความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการให้เงินกู้เพิ่มเติมแก่กรีซ รวมทั้งข่าวลือว่ารัฐบาลกรีซมีการเตรียมตัวเกี่ยวกับการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ CDS* เพิ่มสูงขึ้นถึง 1435 bps (basis points) และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกรีซระยะ 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 15% ณ สิ้นเดือนมีนาคมมาอยู่ที่ 24.6% เมื่อวันที่ 27 เมษายน ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีระยะเดียวกันถึงประมาณ 13 เท่า  

เรายังคงมุมมองว่า กรีซน่าจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ในที่สุดเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว การช่วยเหลือด้านการเงินจาก EU และ IMF ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าของกรีซ แต่ไม่แก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว โดยกรีซมีหนี้สาธารณะสูงถึง 145% ของ GDP หรือสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐสูงถึง 15% ของรายได้ภาครัฐ ขณะที่กลุ่มประเทศยูโรมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้โดยเฉลี่ยเพียง 6% เท่านั้น นอกจากนี้ การแก้ปัญหาด้วยการลดการขาดดุลการคลังอย่างที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ เพราะแม้จะพยายามลดรายจ่าย แต่หากรัฐรัดเข็มขัดมากเกินไป เศรษฐกิจก็จะอ่อนแอซึ่งทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้น้อย จนไม่สามารถลดการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะได้อย่างที่คาดไว้ ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การยืดเวลาชำระหนี้ ลดเงินต้น หรือลดดอกเบี้ย ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

หากกรีซปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าผลกระทบโดยตรงส่วนใหญ่จะตกอยู่กับประเทศในกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นเจ้าหนี้หลัก เพราะหนี้ของรัฐบาลกรีซส่วนใหญ่กว่า 80% ถือโดยสถาบันการเงิน กองทุน และนักลงทุนของยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี

มีความเสี่ยงสำคัญอยู่ในภาคธนาคารของยุโรป ผลกระทบต่อภาคธนาคารโดยตรงคือการขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้กรีซที่มูลค่าลดลง โดยธนาคารในกรีซน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะถือครองหนี้รัฐบาลอยู่ถึงประมาณ 63 พันล้านยูโร หรือคิดเป็น 60% ของหนี้รัฐบาลกรีซในภาคธนาคารของยุโรป และเมื่อธนาคารกรีซมีปัญหาก็มีโอกาสที่จะส่งผ่านผลกระทบไปธนาคารอื่นในยุโรปได้ง่าย เพราะ ธนาคารในยุโรปเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของกรีซคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการกู้ยืมผ่านธนาคารโดยภาครัฐและเอกชนของกรีซทั้งหมด นอกจากนี้ การที่ธนาคารในยุโรปส่วนใหญ่กู้ยืมกันเองสูงถึงกว่า 60% ก็ทำให้ความเสี่ยงในระบบธนาคารในยุโรปยิ่งสูงขึ้นหากเกิดความเสียหายขึ้นกับธนาคารในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของภาคธนาคารโดยเฉพาะการเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อการรับภาระขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือตัวชี้ความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลประเทศสมาชิก และ ธนาคารกลางยุโรป ( ECB) เพราะสะท้อนถึงโอกาสที่กรีซจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และ CDS ยังเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของตลาดที่สำคัญ เช่น จากการวิเคราะห์ของสำนักวิจัยต่างประเทศ CDS ในระดับปัจจุบันของกรีซสะท้อนว่ารัฐบาลกรีซมีโอกาสจะผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 65% ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือประมาณ 22% ในปีหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าทีหรือการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐบาลประเทศสมาชิก และ ECB ก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดและเป็นสัญญาณบอกว่ากรีซจะมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

* CDS (Credit default swap) คือ ค่าประกันความเสี่ยงในกรณีที่ตราสารหนี้ที่เราซื้อไว้เกิดผิดนัดชำระหนี้ ยิ่ง CDS สูงจะยิ่งแสดงว่าตลาดมองว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ผลกระทบโดยตรงต่อไทยน้อยมาก เพราะการลงทุนระหว่างไทยและกรีซต่ำ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ทางการค้า (ไทยส่งออกไปกรีซ 0.1% และส่งออกไปกลุ่ม PIIGS 1.8% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2010) นอกจากนี้ไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกน้อย (low external vulnerability) เพราะ มีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และหนี้ต่างประเทศที่เป็นหนี้ระยะสั้นมีสัดส่วนประมาณ 27% ของทุนสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น

  • ตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจผันผวนมากขึ้น หากปัญหารุนแรงขึ้นมักมีการถอนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่กลับไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อรอดูสถานการณ์

  • ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน และอาจแข็งค่าขึ้นเป็นระยะๆ แม้เงินดอลลาร์จะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว แต่ปัญหาในยุโรปอาจเป็นแรงกดดันให้เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าเป็นระยะๆ เพราะ หากปัญหาหนี้สาธารณะรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยากขึ้นรวมทั้งอาจทำให้มีเงินทุนไหลกลับไปที่สหรัฐฯ

 2202_20110504153837.jpg

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ