SHARE
SCB EIC ARTICLE
05 ตุลาคม 2017

สแกน “เมียนมา” จับสัญญาณธุรกิจดิจิทัล

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง อันเป็นผลมาจากการรุกเข้ามาทำตลาดของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Telenor จากนอร์เวย์ หรือ Ooredoo จากกาตาร์ ประกอบกับราคาซิมโทรศัพท์มือถือในเมียนมาที่ลดลงอย่างมากจาก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมามีโอกาสเข้าถึงบริการด้านโทรคมนาคมได้มากขึ้น จนอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือพุ่งสูงขึ้นจากเพียง 1% ในปี 2009 เป็นกว่า 95% ในปัจจุบัน

ผู้เขียน: ภูริพัฒน์ โสภณคีรีรัตน์    

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์  วันที่ 5 ตุลาคม 2017

 

iStock-545589328.jpg

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง อันเป็นผลมาจากการรุกเข้ามาทำตลาดของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Telenor จากนอร์เวย์ หรือ Ooredoo จากกาตาร์ ประกอบกับราคาซิมโทรศัพท์มือถือในเมียนมาที่ลดลงอย่างมากจาก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมามีโอกาสเข้าถึงบริการด้านโทรคมนาคมได้มากขึ้น จนอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือพุ่งสูงขึ้นจากเพียง 1% ในปี 2009 เป็นกว่า 95% ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมมือถือในเมียนมายังมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของเมียนมายังคงต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างกัมพูชา ไทย และเวียดนามที่มีอัตราการใช้มือถือราว 128% 136% และ 146% ตามลำดับ ตลอดจนค่ายมือถือหลักทั้ง 4 รายของเมียนมาที่ประกอบไปด้วย MPT, Telenor, Ooredoo และ MyTel มีแผนที่จะลงทุนเทคโนโลยี 4G และขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะการสร้างเสาสัญญาณซึ่งยังมีจำนวนไม่มาก เพียง 14,000 ต้น เมื่อเทียบกับไทยที่มีเสาสัญญาณทั้งสิ้น 67,000 ต้น


อีไอซีมอง 2 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีโอกาสเข้าไปลงทุน เพื่อรับอานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมา โดยธุรกิจแรกคือร้านขายมือถือและอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้องกับมือถือ ซึ่งหากเราลองเปรียบเทียบกับไทยในช่วงปี 2009 ที่อัตราการเข้าถึงบริการมือถือมีความใกล้เคียงกับเมียนมาในปัจจุบัน จะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันและปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้จำนวนร้านขายมือถือตามห้างสรรพสินค้าและห้องแถวตามย่านที่พักอาศัยผุดขึ้นอย่างมากมาย และจำนวนยอดขายมือถือต่อปีของไทยก็ยังเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี รวมถึงยังทำให้ร้านขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคสมือถือหรือพาวเวอร์แบงค์ได้รับความนิยมตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในหลายๆ ด้านควบคู่ไปด้วย อาทิ ยอดขายมือถือที่มีโอกาสจะชะลอตัวลง เนื่องจากยอดผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มใกล้เข้าถึงจุดอิ่มตัวในระยะยาว รวมถึงการที่ร้านขายมือถือมีลักษณะคล้ายคลึงกันและจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ค่ายมือถือจะใช้โปรโมชั่นลดราคาค่าเครื่องเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ย้ายค่ายจากผู้ให้บริการรายอื่นหรือซื้อเครื่องพร้อมสมัครแพ็คเกจบริการแบบรายเดือนที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องผ่านค่ายมือถือมากกว่าร้านค้าทั่วไปอีกด้วย

อีไอซีแนะผู้ประกอบการร้านขายมือถือในเมียนมาควรคำนึงการสร้างความแตกต่างผ่านบริการที่ครบวงจร ทั้งบริการให้คำปรึกษาสำหรับการใช้งานมือถือ การนำเสนออุปกรณ์เสริมที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า รวมถึงบริการซ่อมบำรุงที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ในขณะที่ความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเมียนมาที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเป็นหลักก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เช่น การเปิดเผยรายละเอียดราคาสินค้าให้ครบถ้วน รวมถึงให้เหตุผลประกอบที่น่าเชื่อถือหากสินค้ามีราคาแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ การขยายสาขาควรคำนึงถึงโครงสร้างของผู้บริโภคเพราะถึงแม้ว่าผู้มีรายได้ปานกลางของเมียนมาจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแต่กำลังซื้อหลักก็ยังกระจุกตัวอยู่ในย่างกุ้งและเมืองท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น

สำหรับธุรกิจกลุ่มที่สองที่มีศักยภาพในการเติบโตคือ การให้บริการทางการเงินผ่านมือถือที่จะได้รับอานิสงส์จากการใช้งานมือถือที่เติบโตเร็วกว่าอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินของเมียนมา ทั้งนี้ จากข้อมูล World Bank ระบุว่าในปี 2014 มีชาวเมียนมาเพียง 22% ที่เข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ระดับ 61.5% โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับประเทศในแอฟริกาใต้อย่างเคนยาที่ประชาชนหันมาใช้บริการทางการเงินผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินบนมือถืออย่าง M-Pesa เป็นช่องทางหลักแทนที่จะรอให้สาขาหรือเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกระจายไปถึงพื้นที่ที่ห่างไกลจากบริเวณเมือง

ทั้งนี้ ในอนาคต หากประชาชนชาวเมียนมามีความคุ้นชินและหันมาใช้ช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มีศักยภาพเติบโตได้อย่างโดดเด่นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมมือถือด้วยในภาพรวมตลาดโทรคมนาคมในเมียนมาจึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จคือการเรียนรู้และประยุกต์ใช้บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของชาวเมียนมา เพื่อจับเทรนด์ผู้บริโภคที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้นและสร้างธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ