SHARE
IN FOCUS
15 ตุลาคม 2010

เงินบาทแข็งค่า ธุรกิจใดเสียหรือได้ประโยชน์

เพราะธุรกิจมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ละธุรกิจจึงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตกต่างกันไป SCB EIC จึงทำการวิเคราะห์ว่าธุรกิจใดที่เสียผลประโยชน์จากการแข็งค่าของค่าเงินบาทมากน้อยไปกว่ากัน รวมทั้งธุรกิจใดได้รับผลประโยชน์จากการแข็งของค่าเงิน โดยสามารถแบ่งหลักๆ ได้ดังนี้

ผู้เขียน:  ภารดี วิวัฒนะประเสริฐ

78160637.jpg

เพราะธุรกิจมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ละธุรกิจจึงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตกต่างกันไป SCB EIC จึงทำการวิเคราะห์ว่าธุรกิจใดที่เสียผลประโยชน์จากการแข็งค่าของค่าเงินบาทมากน้อยไปกว่ากัน รวมทั้งธุรกิจใดได้รับผลประโยชน์จากการแข็งของค่าเงิน โดยสามารถแบ่งหลักๆ ได้ดังนี้ 

  • กลุ่มธุรกิจที่เสียประโยชน์ ซึ่งก็คือธุรกิจที่ส่งออกมากนำเข้าน้อย หรือ export content สูง ขณะที่ import content ต่ำ เพราะต้นทุนที่ลดลงจากการนำเข้าที่ถูกลงไม่มากพอที่จะทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากราคาขายที่ลดลงได้ ดังนั้น ทุกบาททุกสตางค์ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นคือรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้กำไรของกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ลดลงทันที แม้อาจยังไม่ถึงกับขาดทุน ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตยางแปรรูปขั้นต้น (เช่น ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง) และผู้ค้าข้าว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงมากและการนำเข้าน้อยมาก โดยผู้ผลิตยางแปรรูปขั้นต้น มีสัดส่วนการส่งออกสูงเกือบ 90% แต่แทบจะไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จเลย และหากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินราว 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ผลิตยางแปรรูปขั้นต้นและผู้ค้าข้าวจะประสบปัญหาขาดทุน

  • นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มธุรกิจส่งออกที่แม้เสียประโยชน์แต่ทนต่อการแข็งค่าของเงินบาทได้มากกว่า โดยระดับค่าเงินบาทที่รับได้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการลดความเสี่ยงในแบบต่างๆ กันไป เช่น

    • ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในลักษณะ OEM (original equipment manufacturing) ให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ hard disk drive ชั้นนำ โดยมีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าสูงมากราว 70% และเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน จะพยายามตั้งราคาขายและราคาซื้อวัตถุดิบด้วยราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แม้บริษัทคู่ค้าจะอยู่ในไทย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ทั้งหมด (fully hedge) เนื่องจาก ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบทั้งหมดในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ราคาสินค้าที่ผลิตได้นั้นสูงกว่าราคาวัตถุดิบ ดังนั้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงยังคงเสียประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ไม่มากเท่ากับธุรกิจที่ส่งออกมากนำเข้าน้อย และหากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินราว 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถึงจะประสบปัญหาขาดทุน

    • ผู้ผลิต hard disk drive ที่ส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับบริษัทแม่ด้วยราคาขายที่ตั้งไว้เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และซื้อวัตถุดิบด้วยราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน แม้ supplier อยู่ในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ทั้งหมด (fully hedge) เนื่องจาก ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบทั้งหมดในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ราคาสินค้าที่ผลิตได้นั้นสูงกว่าราคาวัตถุดิบ ดังนั้น ผู้ผลิต hard disk drive จึงยังคงเสียประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ไม่มากเท่ากับธุรกิจที่ส่งออกมากนำเข้าน้อย  

    • ผู้ผลิตรถยนต์ มีลักษณะคล้ายกับผู้ผลิต hard disk drive หากแต่สินค้าที่ผลิตได้นั้นไม่ได้ส่งให้กับบริษัทแม่ทั้งหมด จะแบ่งไว้สำหรับขายในประเทศและเพื่อส่งออก ในส่วนของวัตถุดิบ ผู้ผลิตรถยนต์จะมีการตกลงราคากับทาง supplier เป็นที่เรียบร้อยเพื่อรักษาอัตรา margin ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ จึงยังคงได้รับผลกระทบจากบาทที่แข็งค่า แต่จะไม่เร็วเท่ากับธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น

    • กลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มธุรกิจที่อาจเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ fully dollarized กล่าวคือ ราคาขายสินค้าสำเร็จและราคาขายวัตถุดิบถูกตั้งราคาในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาสินค้าสำเร็จแพงกว่าราคาวัตถุดิบ จึงส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มพลังงานได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทบ้างเช่นกัน แต่จะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ

  • อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ซึ่งก็คือธุรกิจที่นำเข้าสูงส่งออกจำกัด หรือ import content สูง ขณะที่ export content ต่ำ เพราะสามารถประหยัดต้นทุนจากการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จได้มากกว่ารายได้ที่สูญเสียไปจากราคาขายที่ลดลง ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเหล็กทั้งเหล็กเส้นและเหล็กรีดร้อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงส่งออกจำกัด โดยมีสัดส่วนการนำเข้าสูงราว 70% ขณะที่มีสัดส่วนการส่งออกเพียงราว 15% และหากค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินราว 40 - 45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ผลิตเหล็กถึงจะประสบปัญหาขาดทุน

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ค่าเงินบาทอาจมีการชะลอการแข็งค่าในระยะสั้น แต่ในระยะยาวน่าจะยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อไป ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่คงหลีกเลี่ยงได้ยากและประเทศไทยคงทำอะไรไม่ได้มากนัก ผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือแนวโน้มดังกล่าวพร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

  • โอกาสที่ ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วคงไม่สูงนัก และมีโอกาสที่จะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีก เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป จึงอาจได้เห็นมาตรการอื่นๆ ออกมาอีก โดยที่อาจเห็นผลได้เร็วที่สุดคือการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่ามาตรการที่ออกมาจะรุนแรงแบบมาตรการกันสำรอง 30% ที่เคยใช้เมื่อปี 2006
  • รัฐควรส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง การนำเข้าสินค้าทุนจะลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันจากกระแสเงินร้อนต่างๆ ไปด้วย นอกจากนี้ การลงทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลิตผลและรายได้ให้กับแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอีกด้วย

 

w1.jpg
w2.jpg 
w3.jpg 

 

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ