SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 มิถุนายน 2017

อินเดียลุย GST ยกเครื่องภาษี ... โอกาสดีที่ไทยต้องเหลียวมอง

EIC Research Series: ประตูสู่อินเดีย EP1

ผู้เขียน: ยุวาณี อุ้ยนอง

 

 

1.jpg

 

 

 

อินเดีย ประเทศที่ทำให้เราได้นึกถึงความหลากหลายและความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มจนทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีผู้คนรวมตัวกันมากกว่าพันล้านคน แม้นี่จะเป็นจุดเด่นของอินเดียที่ดึงดูดสายตาจากนักลงทุนทั่วโลก แต่การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว เพราะด้วยกฎระเบียบหลายอย่างที่ค่อนข้างหยุมหยิมและมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ เห็นได้จากอันดับความง่ายในการทำธุรกิจของอินเดียอยู่ที่ 130 จาก 190 ประเทศ แต่วันนี้ อินเดียกำลังเปลี่ยนไปภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ซึ่งมีหนึ่งนโยบายสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ คือ การยกเครื่องระบบภาษีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1947 โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบ GST” (Goods and Services Tax)        

 

 

รื้อระบบภาษีสุดยุ่งยาก

 

ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่แต่ละรัฐ ทำให้มีทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของ 29 รัฐที่มีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ รวมถึงอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีที่ซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก! ซึ่งอาจไม่ใช่เป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติสักเท่าไหร่ โดยอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่

 

1.เสียเวลาศึกษาอัตราภาษีจำนวนมาก ผู้ทำธุรกิจมีความยุ่งยากในการประเมินต้นทุนหรือกำไรจากการขายแต่ละรัฐ อีกทั้งหลายรัฐมีการตรวจสอบสินค้าและเก็บภาษีก่อนผ่านเข้าเขตแดน จึงต้องวางแผนการขายและคำนึงถึงภาระภาษีของรัฐต่างๆ อย่างรอบคอบ ทำให้การค้าขายระหว่างรัฐในอินเดียเปรียบเสมือนการค้าขายระหว่างประเทศต่างๆ กว่า 29 ประเทศ

 

 

India_soap.jpg

 

 

2. ตรวจสอบยาก เพราะถูกเก็บภาษีจากหลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานภาษีของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ทำงานแยกกัน ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และการขอเครดิตภาษีคืนในแต่ละขั้นการผลิตก็ทำได้ยาก ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ผลิตที่เคยเสียภาษีไปเมื่อซื้อวัตถุดิบมา สามารถนำภาษีส่วนดังกล่าวมาหักลบจากภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อขายสินค้าต่อไปได้ หรือเรียกว่าได้เครดิตภาษี แต่เมื่อผู้เก็บภาษีทำงานแยกกันก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ผลิตได้เสียภาษีวัตถุดิบไปอย่างถูกต้องหรือไม่

 

3.มีแรงจูงใจมหาศาลให้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เนื่องจากบางกรณีอาจต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี เพราะไม่มีกฎหมายกลางที่กำหนดอัตราภาษีที่ตายตัว และยังต้องตรวจสอบเอกสารจำนวนมากที่ใช้เจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่เข้าสู่ระบบออนไลน์

 

4.การซื้อขายระหว่างรัฐมีต้นทุนสูง ซึ่งต้นทุนดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของตัวเงิน แต่รวมถึงต้นทุนด้านเวลาด้วย โดยรายงานของ World bank ระบุว่า 60% ของระยะเวลาที่รถบรรทุกใช้ในการขนส่งสินค้าในอินเดียคือเวลาที่รถจอดอยู่เฉยๆ เพราะต้องเสียเวลาไปกับการต่อคิวในจุดผ่านแดนของรัฐต่างๆ เพื่อตรวจสอบและเสียภาษี ซึ่งยังทำให้บริษัทคาดการณ์เวลาขนส่งได้ยากด้วย

 

5.เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการผลิต จากการที่ผู้ผลิตมีต้นทุนสูงในการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังท่าเรือ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ผลิตสินค้าในโรงงานเมือง Tiruppur รัฐ Tamil Nadu ยอมใช้เส้นทางขนส่งที่อ้อมไปกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อส่งไปท่าเรือที่อยู่ในรัฐเดียวกัน ทั้งๆ ที่มีท่าเรือในรัฐ Kerala ที่อยู่ใกล้กว่าเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการผ่านเขตแดนระหว่างรัฐ แต่นั้นก็หมายถึงต้นทุนขนส่งที่สูงกว่าการส่งออกจากประเทศอื่น 2-3 เท่า นอกจากนี้ สำหรับผู้ผลิตในอินเดีย การซื้อวัตถุดิบหลายๆ ชนิดจากรัฐอื่นอาจมีต้นทุนแพงกว่าการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทใหญ่หลายรายไม่ต้องการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ

 

 

India_route.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ World Bank และ Apparel Resources

 

ระบบภาษีใหม่ไฉไลกว่าเดิม

 

GST เป็นระบบที่จะตั้งอัตราภาษีสินค้าและบริการให้มีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ประกอบกับจะยกเลิกภาษีทางอ้อมต่างๆ ประมาณ 15 ประเภท เช่น ภาษีขายระหว่างรัฐ (Central sale tax) ภาษีเข้ารัฐ (Entry tax) ภาษีผ่านแดน (Octori) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพสามิต ให้มารวมกันอยู่ภายใต้ระบบ GST ทั้งหมด ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดอัตราภาษีของสินค้าและบริการแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจนเป็นอัตราเท่ากันทั่วประเทศ และให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการขายสินค้าและบริการในรัฐเดียวกันจะต้องเสียภาษีให้รัฐบาลท้องถิ่น (State GST: SGST) และรัฐบาลกลาง (Central GST:CGST) ในสัดส่วน 50:50 ทำให้มีการตรวจสอบที่รัดกุมจากทั้ง 2 หน่วยงาน และสำหรับการซื้อขายระหว่างรัฐจะถูกจัดเก็บภาษีโดยรัฐบาลกลาง (Integrated GST:IGST) เท่ากันทั่วประเทศ

 

 

India_char.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ thegstindia.com

 

อีไอซีมองว่าประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดของระบบ GST คือ ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และลดการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน โดยระบบ GST จะทำให้อินเดียเป็นตลาดเดียวกันทั้งประเทศ กำจัดการเก็บภาษีระหว่างรัฐ และทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถขอเครดิตภาษีคืนจากการซื้อสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบได้เต็มจำนวน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาระภาษีและต้นทุนสินค้าในอินเดียลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ระบบ GST จะช่วยลดความยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการ เกิดการจัดเก็บที่โปร่งใสและรัดกุม ลดระยะเวลาขนส่งสินค้า ซึ่ง World Bank คาดว่าจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของอินเดียลดลงราว 30-40% หากลดเวลาขนส่งได้ครึ่งหนึ่ง และเป็นผลดีต่อเนื่องไปสู่ทุกภาคส่วนในอินเดีย เช่น กระตุ้นการผลิตและการส่งออก โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าระบบ GST จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มอีก 2%

 

 

India_tax.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC

 

การให้เครดิตภาษีคืนได้เต็มจำนวนยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นด้วย เพราะผู้ประกอบการจะได้เครดิตภาษีคืนก็ต่อเมื่อซื้อวัตถุดิบมาจาก supplier ที่มีการลงทะเบียนในระบบ GST เท่านั้น ดังนั้น supplier ที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็อาจมีลูกค้าน้อยลง ในฝั่งของผู้ผลิตเอง หากไม่ได้รับเครดิตภาษีคืนก็จะมีต้นทุนสูงกว่าเจ้าอื่นและอาจแข่งราคาสู้เจ้าอื่นไม่ได้ รัฐบาลอินเดียจึงหวังว่าระบบ GST จะทำให้มีผู้ประกอบเข้ามาสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยชดเชยรายได้บางส่วนที่เสียไป

 

ถึงแม้ระบบ GST ไม่ได้เป็นภาษีแบบอัตราเดียวโดยแท้จริง ตามที่รัฐบาลอินเดียเคยประกาศไว้ว่า “One nation, one tax, one rate” แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของอินเดียแล้ว โดยระบบ GST ยังมีการแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 4 อัตรา ได้แก่ 5% 12% 18% 28% รวมถึงยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ธัญพืช หรือนม ขณะที่อาจเก็บภาษีสูงถึง 28% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ตั๋วภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญบางประเภทที่ไม่รวมในระบบ GST เช่น ปิโตรเลียมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าการเก็บภาษีสินค้าทุกชนิดในอัตราเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยากเพราะสินค้าแต่ละอย่างมีความจำเป็นต่อประชาชนต่างกัน ซึ่งอย่างน้อย การที่อินเดียสามารถกำหนดให้สินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศได้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจอินเดียแล้ว

 

 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมารุกตลาดอินเดียกันดีกว่า

 

นักลงทุนไทยยังช้ากว่าต่างชาติ หากไม่สนใจอินเดียอาจพลาดโอกาสไป โดยบริษัทจากหลายประเทศทั่วโลกได้มองเห็นและรีบเข้าไปคว้าโอกาสจากตลาดอินเดียกันเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่รัฐบาลของ Modi เข้าดำรงตำแหน่งในปี 2014 มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28%YOY ต่อปี โดยเฉพาะการลงทุนจาก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียอยู่เพียงประมาณ 20 บริษัท1 โดยยอดคงค้างเงินลงทุนของไทยในอินเดีย ณ ปี 2016 อยู่ที่ 906 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนเพียง 7.8% ของเงินลงทุนใน CLMV ทั้งๆ ที่อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า CLMV ถึง 8 เท่า

 


India_logistics.jpg

1. ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจที่เห็นประโยชน์ได้ชัดเจนที่สุดจากการปฏิรูปครั้งนี้ โดยปัจจุบัน ถึงแม้บริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลกหลายรายได้เข้าไปดำเนินการอยู่ในอินเดียแล้ว แต่ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นของผู้เล่นรายย่อย2 ในท้องถิ่นต่างๆ โดยอุปสรรคด้านภาษีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นท้องถิ่นได้เปรียบ ทั้งนี้ การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อดธุรกิจโลจิสติกส์ในอินเดีย และเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนไทยมากขึ้น ได้แก่

  • มีการจ้างบริการโลจิสติกส์จากภายนอก (outsource) ที่ครบวงจรมากขึ้น โดยระบบเดิม ผู้ผลิตนิยมขนส่งเองหรือจ้างบริการรายย่อยในท้องถิ่นเพราะมักเป็นการขนส่งสินค้าระยะใกล้ๆ ภายในรัฐ หรือหากขนส่งข้ามรัฐก็ต้องเจอการตรวจสอบหลายขั้นตอน ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นมีความชำนาญกว่าบริษัทต่างชาติ แต่ระบบ GST จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกับการซื้อขายระหว่างรัฐที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตที่ต้องการกระจายสินค้าไปหลายๆ รัฐหันมาใช้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรมากขึ้นทั้งด้านการขนส่งและด้านคลังสินค้า อีกทั้ง ระบบ GST จะทำให้บริษัทสามารถขอเครดิตภาษีได้เมื่อใช้บริการโลจิสติกส์ที่อยู่ในระบบเท่านั้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตเปลี่ยนจากใช้บริการโลจิสติกส์รายย่อยที่อยู่นอกระบบมาใช้บริษัทในระบบ เปิดทางให้บริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เข้าไปแข่งขันในอินเดียได้มากขึ้น

  • การให้บริการโลจิสติกส์จะมีต้นทุนถูกลง โดยผู้ประกอบการจะไม่ต้องเสียเวลาและเสียน้ำมันรถขนส่งไปกับการรอคิวผ่านเข้า-ออกเขตแดนของแต่ละรัฐ และจะสามารถคาดการณ์เวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

  • การวางแผนลงทุนด้านคลังสินค้าและการกระจายสินค้าจะทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่จะต้องสร้างคลังสินค้าขนาดเล็กไว้ในหลายๆ รัฐ เพื่อให้อยู่ใกล้กับช่องทางกระจายสินค้าที่สุดและเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเข้ารัฐ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ภายใต้ระบบ GST ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนมาลงทุนในคลังสินค้าที่เป็นศูนย์รวมขนาดใหญ่ขึ้น สามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่อาจไม่คุ้มทุนในคลังสินค้าขนาดเล็ก และสามารถสร้างเพียงไม่กี่แห่งก็ใช้กระจายสินค้าไปทั่วประเทศได้ 


India_network.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC

 

2. ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer products) เช่น อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สบู่ ยาสระผม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในบ้าน เป็นต้น โดยธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างอินเดีย ซึ่งยังเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากการปฏิรูปภาษีอย่างชัดเจน โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่

 

  • กระจายสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางไปสู่ผู้บริโภครายย่อย ดังนั้น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ลดลงจะเป็นผลดีต่อต้นทุนของธุรกิจนี้โดยตรง อีกทั้ง เมื่ออินเดียกลายเป็นตลาดเดียวกันทั้งประเทศ ก็จะสามารถสร้างศูนย์กลางบริหารการขายสินค้าทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ต่างจากในระบบเดิมที่จะตั้งคลังสินค้าไว้ในหลายๆ รัฐ ทำให้คาดการณ์ความต้องการสินค้าและบริหารสินค้าคงคลัง (inventory) แต่ละแห่งได้ยาก ซึ่งระบบ GST ก็มีส่วนช่วยให้ต่างชาติเข้าไปแข่งขันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

  • สินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าในระบบเก่า เช่น ธัญพืช หรือนม ก็ได้รับยกเว้นภาษีจากเดิมระบบเก่าต้องเสียภาษีที่ 5% หรือ สบู่ ยาสีฟัน เสียภาษีที่ 18% จากเดิม  22-24% จึงอาจทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดราคาถูกลง และจะกระตุ้นการบริโภคสินค้าประเภทนี้ได้

  • หนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย คือการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ด้วยความที่อินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตรวดเร็ว แม้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดแล้ว แต่ส่วนแบ่งตลาดอาหารแปรรูปอีกเกือบ 50% ยังเป็นของผู้เล่นรายย่อยในอินเดีย3 ทั้งนี้ ระบบภาษี GST จะเอื้อให้บริษัทไทยสามารถเข้าไปแข่งขันกับผู้เล่นรายย่อยในอินเดียง่ายขึ้น เช่น สามารถทดลองส่งออกสินค้าไปขายในเมืองต่างๆ ของอินเดียก่อนได้ จากในอดีตนั้นเป็นเรื่องลำบากเพราะต้นทุนการขนส่งที่สูง ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากไทยมีราคาสูงกว่าจึงแข่งกับผู้เล่นในท้องถิ่นไม่ได้และยังต้องศึกษากฎระเบียบรัฐต่างๆ ซึ่งบริษัทไทยก็จะเสียเปรียบ หรือ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในอินเดีย นอกจากบริษัทไทยต้องเลือกเมืองที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ดีที่สุดแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนการกระจายสินค้าไปเมืองอื่นๆ ที่ยุ่งยากด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวก็จะลดลงภายใต้ระบบ GST ซึ่งช่วยเปิดทางให้บริษัทไทยเข้าไปง่ายขึ้น

  • การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับคนอินเดียเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับบริษัทไทย เช่น บริษัทดัชมิลล์ ผู้ผลิตนมของไทยที่เข้าไปในตลาดอินเดียมาระยะหนึ่งแล้ว ได้ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นสร้างโรงงานผลิตสินค้านมเปรี้ยว โดยใช้ชื่อแบรนด์ Mista Twista เพื่อให้เข้ากับภาษาและวัฒนธรรมอินเดียและปรับรสชาติให้เปรี้ยวน้อยลงเพื่อให้ถูกปากคนอินเดีย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้เปิดสาขาไก่ย่างห้าดาวในชื่อ Five Star Chicken โดยปรับเปลี่ยนเมนูให้เข้ากับรสชาติอินเดีย อาทิ ไก่ทอดมาสซาร่า และมีการโฆษณาผ่าน MV แนวบอลลีวูดเพื่อจับกลุ่มวัยรุ่นอินเดีย หรือผลิตภัณฑ์เครื่องครัวของบริษัทศรีไทยที่ได้ปรับปรุงดีไซน์ให้เข้ากับรสนิยมชาวอินเดียจนเป็นที่นิยมของแม่บ้านอินเดียจำนวนมาก เป็นต้น4 นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคไทยหลายอย่างก็มีความคล้ายคลึงกับอินเดีย ทำให้การปรับเปลี่ยนทำได้ไม่ยาก เช่น ผลิตภัณฑ์ถั่วและอาหารว่าง ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ผลไม้อบแห้ง อาหารแช่แข็ง หรือเครื่องปรุงรสซึ่งหลายบริษัทไทยก็ได้รับมาตรฐานฮาลาลอยู่แล้ว และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีการส่งออกไปอินเดียบ้างแล้วแต่ก็มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกอาหารของไทยทั้งหมด


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกในทศวรรษข้างหน้านี้ สองธุรกิจข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของธุรกิจที่เห็นประโยชน์ได้ชัดเจนที่สุดจากการปฏิรูปครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอื่นๆ ควรมองข้ามตลาดอินเดียไป ถึงเวลาแล้วที่นักลงทุนไทยควรหันมองและทำความเข้าใจอินเดียมากขึ้นก่อนที่จะพลาดช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ไป

 

  


 

1 จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี

2 Mitra S.  (2008), Logistics Industry: Global and Indian Perspectives.

3 จากข้อมูลของ India Brand Equity Foundation (IBEF)

4 จากข้อมูลของศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย-อินเดีย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี และประชาชาติธุรกิจ

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ