SHARE
IN FOCUS
31 พฤษภาคม 2017

ขนส่งปรับทัพรับเทคโนโลยีสุดล้ำ

เทคโนโลยี Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนครั้งสำคัญ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในการขนส่ง เช่น ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต อีไอซีคาดว่า ตลาดเทคโนโลยี Connected GPS ในไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และตลาด Logistics Cloud จะมีมูลค่าราว 5 พันล้านบาท จากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจากนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตราว 6% ต่อปี ตามจำนวนรถขนส่งสินค้าและการซื้ออุปกรณ์ใหม่จากการที่เทคโนโลยีเก่าเริ่มล้าหลัง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้บริการเทคโนโลยีในการขยายธุรกิจ

ผู้เขียน: ปัณณ์ บุญญาวานิชย์

 

banner_note_logistic.jpg

 

Highlight

  • เทคโนโลยี Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนครั้งสำคัญ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในการขนส่ง เช่น ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
  • อีไอซีคาดว่า ตลาดเทคโนโลยี Connected GPS ในไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และตลาด Logistics Cloud จะมีมูลค่าราว 5 พันล้านบาท จากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจากนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตราว 6% ต่อปี ตามจำนวนรถขนส่งสินค้าและการซื้ออุปกรณ์ใหม่จากการที่เทคโนโลยีเก่าเริ่มล้าหลัง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้บริการเทคโนโลยีในการขยายธุรกิจ

 

การพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การประมวลผลข้อมูล และฮาร์ดแวร์ เป็นเทคโนโลยี 3 ลักษณะที่กำลังถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนน ในทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นจาก 17% มาที่ 50% ในช่วงปี 2011 - 2016 ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะถูกนำไปใช้ในด้านการสื่อสารโดยตรงแล้ว ยังถูกนำไปพัฒนาปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย การขนส่งก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อลดข้อบกพร่องในการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในการรับ/ส่งสินค้า เป็นต้น


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของอุตสาหกรรมขนส่งสามารถแบ่งลักษณะของเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ได้ 3 รูปแบบ ดังนี้  1). เทคโนโลยีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (IoT) เช่น Low-Cost Sensor, Connected GPS 2). เทคโนโลยีข้อมูล (Data) ที่ช่วยในการจัดเก็บและประมวลข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงาน เช่น Logistics Cloud, Big Data analysis, Machine Learning, และ Augmented Reality  และ 3). เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ (Machine) ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น เช่น Robotics, Self-driving vehicle, Drone และ 3D Printing (รูปที่ 1)


ผู้ประกอบการขนส่งไทยมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยี Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data analysis มาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการขนส่ง โดยเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยผลักดัน 3 ประการ ได้แก่ ประโยชน์ ความซับซ้อนของเทคโนโลยี และการยอมรับจากผู้ใช้งาน พบว่า เทคโนโลยีทั้ง 3 ประเภท สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการไทยได้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน อีกทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ยังเสริมความสามารถซึ่งกันและกันอีกด้วย


ในระยะเริ่มต้น Connected GPS จะมีบทบาทช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว โดย Connected GPS เป็นนวัตกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากความเร็วในการส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจับตาดูรถขนส่งได้แบบ real-time ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สะสมมานานในอุตสาหกรรม เช่น การขับออกนอกเส้นทาง การใช้ความเร็วเกินกำหนด หรือแม้กระทั่งการเบิกค่าน้ำมันเกินอัตรา จากกรณีศึกษาของบริษัท DHL ประเทศไทย พบว่า การติดตั้ง Connected GPS ทำให้บริษัทสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้เกือบ 40% อีกทั้ง เทคโนโลยี Connected GPS นั้นมีความซับซ้อนไม่มากนัก มีเพียงอุปกรณ์ส่งสัญญาณและการแสดงผลเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการและคนขับสามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากประโยชน์ข้างต้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกกฎข้อบังคับให้รถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ Connected GPS ภายในปี 2019 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการเร่งใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย


ในระยะต่อมา Logistics Cloud และ Big Data จะถูกนำมาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยี Connected GPS เพื่อใช้วิเคราะห์การขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ข้อมูลต่างๆ จาก Connected GPS เช่น เส้นทางการขนส่งสินค้า ความเร็ว สภาวะการจราจร และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะถูกนำมาเก็บไว้ที่ Logistics Cloud ที่มีต้นทุนการเก็บข้อมูลต่ำกว่าเซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมแต่สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น และเป็นการสนับสนุนการนำเทคโนโลยี Big Data analysis เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บรวบรวมไว้เพื่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น วางแผนการขนส่ง คาดการณ์ปริมาณสินค้า ประเมินโอกาสในการขนส่งเส้นทางใหม่ๆ เป็นต้น ซึ่งในที่สุดจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนส่งอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Big Data analysis เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการข้อมูล ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญก่อนจึงจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้


อีไอซีคาดว่าภายในปี 2018 ตลาด Connected GPS และ Logistics Cloud จะมีขนาดราว 1.3 หมื่นล้านบาท และ 5 พันล้านบาท ตามลำดับ ตลาดของ Connected GPS และ Logistics Cloud จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการขนส่งทางบกที่มีจำนวนรถโดยสารและรถบรรทุกรวมกันกว่า 1.3 ล้านคันทั่วประเทศในปัจจุบันและมีแนวโน้มเติบโตสะสมราว 6% ต่อปี (รูปที่ 2)  ทั้งนี้ ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการ Connected GPS จะได้รับประโยชน์จากการซื้อเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ตามรอบการใช้งานที่จะหมดอายุลงทุกๆ 3-5 ปี ในขณะที่ผู้ให้บริการ Logistics Cloud จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งาน Connected GPS

 

 

Implication.png

Implication.gif

 

  • อีไอซีแนะผู้จัดจำหน่ายและให้บริการ Connected GPS และ Logistics Cloud ควรเตรียมรับมือกับการขยายตัวของตลาดในช่วงปี 2017-2019 โดยผลจาก
    กฎข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบกจะส่งผลให้ตลาดมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ผู้ให้บริการจึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านสินค้าคงคลัง สภาพคล่องทางการเงิน และบุคลากร ให้พร้อมรับมือกับปริมาณผู้ใช้งานที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการในการสร้างรายได้และขยายธุรกิจ


  • ผู้ประกอบการขนส่งที่ติดตั้งระบบ Connected GPS แล้ว ควรต่อยอดในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเทคโนโลยี Big Data จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้วางแผนการขนส่งให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่สามารถสร้าง application สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลได้ จะช่วยลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลจากภายนอก รวมถึงอาจสามารถต่อยอดในการขาย application ให้กับผู้ประกอบการขนส่งรายเล็กได้อีกด้วย

 

รูปที่ 1: เทคโนโลยีการขนส่งในแต่ละห่วงโซ่มูลค่า

 

note_truck01.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ DHL


รูปที่ 2: ปริมาณรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะจดทะเบียนปี 2012 - 2018
หน่วย: ล้านคัน

 

note_truck02.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ