ทวายเมกะโปรเจกต์: พลิกโฉมยุทธ์ศาสตร์การค้าโลก
- ทวายเมกะโปรเจกต์ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ของเอเชียแปซิฟิกในอนาคตเนื่องจากเป็นการพลิกโฉมทิศทางโลจิสติกส์หลักโดยมีไทยเป็นส่วนหนึ่งของสะพานเชื่อม (landbridge) ระหว่างสองฟากฝั่งและนับเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ - แม้ไทยมีข้อได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานแต่ความเร็วและความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยรวมถึงอุปสรรคต่างๆ ว่าด้วยเรื่องความตกลง กฎระเบียบ และ อุปสรรคทางการเงิน (soft Infrastructure) นับเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งจัดการอย่างเร่งด่วน - อีไอซีแนะว่ากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน กลุ่มธุรกิจขนส่งและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องควรเริ่มดำเนินการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับโอกาสทันที ในขณะที่ธุรกิจบริการอื่นๆ (service clusters) ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายธุรกิจนั้นๆ พร้อมพัฒนาความรู้ความสามารถ เช่น ภาษาอังกฤษเบื้องต้นเพื่อรับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ผู้เขียน: พิชญ์สินี ฐิติสมบูรณ์
Highlight
|
ตั้งแต่กลางปี 2014 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและเมียนมาได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อช่วยสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีให้กับทวายเมกะโปรเจกต์ อีไอซีมองว่าความตกลงโครงการครั้งนี้มีนัยยะสำคัญที่จะทำให้โครงการเดินหน้าและมีโอกาสสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่มีการยกระดับจากกลุ่มเอกชนขึ้นมาเป็นรัฐต่อรัฐในปีที่ผ่านมา และมีการดึงประเทศมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วยทำให้ทวายเมกะโปรเจกต์มีความพร้อมทั้งแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี และมีความสามารถที่จะผลักดันโครงการต่างๆ ให้เดินหน้าต่อได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยขณะนี้ได้มีการเริ่มงานก่อสร้างโครงการพัฒนาทวายในระยะแรกแล้ว (initial phase development) ซึ่งประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เน้นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น ท่าเรือขนาดเล็กจำนวน 2 ท่า โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก คลังเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเหลว (LNG station) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ระบบโทรคมนาคม ที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงาน และการก่อสร้างถนน 2 เลนมายังชายแดนไทย ในขณะเดียวกัน ในส่วนของไทยก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับโครงการทวายโดยการสร้างทางรถไฟสายกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว ซึ่งเป็นความตกลงร่วมระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2559 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคตะวันตกเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดทวาย ทั้งนี้ อีไอซีวิเคราะห์ความร่วมมือระหว่างประเทศทั้ง 3 ฝ่ายนี้ทำให้โครงการมีความคืบหน้าและมีโอกาสสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ แม้ว่าโครงการนี้ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 8 ปีแต่จะเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการพลิกโฉมเส้นทางการค้าการลงทุนเส้นทางใหม่ของโลก
ทวายจะพลิกโฉมเส้นทางขนส่งและการค้าการลงทุนโลก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยในเชิงภูมิศาสตร์ ไทยได้เปรียบที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเป็นทางผ่านหลักในการคมนาคมที่เชื่อมฝั่งทะเลจีนใต้สู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย การขนส่งจากจีนหรือเอเชียตะวันออกจะสามารถข้ามผ่านไทยเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกในทวาย ซึ่งลดระยะทางลงได้ประมาณ 2,000 กิโลเมตร และลดระยะเวลาลง 3-5 วัน แทนการอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงถึง 30% และเส้นทางดังกล่าวยังอำนวยความสะดวกให้สินค้าที่ผลิตในไทยสามารถขนส่งไปยังตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปได้สะดวกมากขึ้นด้วยระยะทางของทวายที่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 130 กิโลเมตร และ จากกรุงเทพฯ 300 กิโลเมตร นอกจากนี้ การเชื่อมต่อเส้นทางตรงไปในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) จะส่งผลดีต่อการขนส่งในการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศของไทยตามแนวพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์จะพลิกโฉมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการขนส่งที่สำคัญในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อีสเทิร์นซีบอร์ดของไทยก็สามารถใช้ประโยชน์เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังตลาดในเอเชียแปซิฟิกและทวีปอเมริกาได้อีกทาง
ในแง่เศรษฐกิจไทยจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค (regional supply chain) โดยอีไอซีมองการพลิกโฉมในแง่เศรษฐกิจที่ทำให้ไทยสามารถผลักดันการบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าได้ (value chain integration) เป็น 3 ประเด็น คือ 1) ทรัพยากร โดยไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเมียนมา ซึ่งเหมาะกับการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นและมีท่าเรือน้ำลึกไว้คอยอำนวยความสะดวกในการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ 2) ภาษี เนื่องจากเมียนมาได้รับสิทธิภาษีจีเอสพีซึ่งช่วยทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนสินค้า ทั้งนี้จึงเหมาะกับการขยายฐานการลงทุนที่ต้องส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ และ 3) เรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ซึ่งสามารถผลักดันการบูรณาการเพื่อไปเกื้อกูลกับอุตสาหกรรมในทวายได้ เช่น ตั้งอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นในทวาย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่ต้องใช้แรงงานฝีมืออยู่ฝั่งไทย และมีอุตสาหกรรมลูกผสมที่ต้องใช้ทั้งแรงงานเข้มข้นและใช้เครื่องจักรตั้งตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสามารถที่จะดึงแรงงานจากเมียนมาและยังคงใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานจากฝั่งไทยได้ ทั้งนี้ไม่ว่าห่วงโซ่คุณค่าแต่ละส่วนจะอยู่ในทวาย ในไทย หรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้วนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทวายเมกะโปรเจกต์ได้ทั้งสิ้น และเมื่อโครงการเปิดใช้งานได้จริงในปี 2566 หรือในอีก 8 ปีโดยประมาณ จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการติดต่อระหว่างกัน (connectivity) ที่สะดวกยิ่งขึ้นและไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจการค้าและการคมนาคมในภูมิภาคนี้
ทวายเมกะโปรเจกต์เป็นตัวผลักดันไทยให้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีอาเซียนแต่ประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญคือเรื่องของศักยภาพผู้ประกอบการและการพัฒนา soft infrastructure ของทุกประเทศในภูมิภาค ประเด็นท้าทายต่อผู้ประกอบการไทยคือความเร็วและความสามารถในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันว่าจะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลที่รัฐลงทุนไป โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากนานาชาติไม่ว่าจะเป็นจากสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ มาเลเซีย ซึ่งได้เปรียบไทยในเรื่องระบบการจัดการด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุน รวมถึงการแข่งขันของสินค้าในภูมิภาคนี้ที่จะเปิดเสรีมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันบนสินค้าพื้นฐานของผู้ประกอบการไทยลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยอาจพัฒนาจากพื้นฐานเดิม เช่น ในส่วนของภาคบริการ สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้กับระบบการขนส่ง วางระบบออนไลน์กับโกดังสินค้าให้เชื่อมต่อกันทั้งภูมิภาค ในส่วนของผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าจากสินค้าพื้นฐาน หรือเน้นสร้างภาพลักษณ์ให้ทันสมัย เช่น ปรับปรุงกล้วยตากพื้นบ้าน ให้เป็นกล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์รสชาติต่างๆ ในบรรจุภัณฑ์ดีไซน์สวยงาม
ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคจาก soft infrastructure ทั้งในเรื่องของ ความตกลง กฎระเบียบ ความซับซ้อนของการดำเนินการต่างๆ และ อุปสรรคทางการเงิน ซึ่งผู้ประกอบการไทยรวมถึงภาครัฐควรร่วมมือกันปิดช่องโหว่ของจุดอ่อนและสร้างจุดแข็ง โดยประเด็นเร่งด่วนที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่ 1) การผลักดันความตกลงกับประเทศต่างๆ ให้ลุล่วง เนื่องจากไทยยังไม่มีความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครอบคลุมประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ปัจจุบันมีเพียงบันทึกความเข้าใจ IICBTA (Initial Implementation of Cross-Border Transport Facilitation Agreement) กับสปป.ลาว กัมพูชา และอยู่ระหว่างดำเนินการสำหรับเมียนมา จึงทำให้ไทยไม่สามารถใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าข้ามแดนในเส้นทางที่มีศักยภาพ เช่น แม่สอด-เมียวดี ไทย-จีนตอนใต้ ไทย-เวียดนามได้ 2) อุปสรรคจากการดำเนินงานของด่านศุลกากรประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวลาเปิดด่านที่ช้ากว่าด่านไทย ทำให้รถบรรทุกต้องจ่อรอกันอยู่บริเวณฝั่งไทยและอาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายแอบแฝง 3) อุปสรรคเรื่องความแตกต่างของกฎหมายในแต่ละประเทศ อาทิ พิกัดขนาดรถบรรทุกของกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนามที่เล็กกว่าของไทย จึงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปมาทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 4) อุปสรรคจากสภาพโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การขนส่งบนเส้นทาง R9 ในสปป.ลาวบางตอนมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อและมีความคดเคี้ยวทำให้การขนส่งไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการพักรถและบำรุงรักษารถ และ 5) ภาครัฐต้องเร่งเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมแต่ยังขาดเงินทุนให้ได้มากที่สุดและผลักดันเพื่อคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
![]() |
|
|
รูปที่ 1: แผนที่โลกและทวาย
รูปที่ 2: เปรียบเทียบระยะทางจากทวายกับเมืองสำคัญในภูมิภาค
รูปที่ 3: แผนที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ (economic corridors)