SHARE
FLASH
06 ตุลาคม 2015

12 ประเทศบรรลุข้อตกลง TPP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก

หลังจากการเจรจาที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2008 ในที่สุดกลุ่ม 12 ประเทศ ซึ่งนำโดย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย TPP นับเป็นข้อตกลงที่จะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก

ผู้เขียน: วีรวรรณ ฉายานนท์ 

 

อัพเดทล่าสุด: 26 มกราคม 2017

 

TPP ถูกลดความน่าสนใจลงหลังสหรัฐฯ ดำเนินการถอนตัวจากการเจรจาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2017 นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ได้ลงนามออกคำสั่งถอดถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง TPP เนื่องจากมีความกังวลเรื่องการจ้างงานภายในประเทศ อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงบางประการที่รัฐบาลของนายบารัค โอบามาได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ จึงมีความแน่นอนค่อนข้างสูงว่า TPP จะมีจำนวนสมาชิกลดลงเป็น 11 ประเทศ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียงราว 14% ของโลก ส่งผลให้สมาชิกที่เหลือโดยเฉพาะญี่ปุ่น และแคนนาดา เริ่มแสดงความกังวลว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเจรจาน้อยลงจนขาดแรงจูงใจในการดำเนินการต่อ ขณะที่สมาชิกบางส่วน เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตั้งความหวังว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้าร่วมการเจรจาเพิ่มเติม และทำให้ TPP กลับมาเป็นข้อตกลงที่น่าสนใจอีกครั้ง 

 

ไทยยังคงต้องเดินหน้าแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการถูกกีดกันจากกรอบความร่วมมือต่างๆ ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันไทยจะได้รับการเลื่อนอันดับเป็น Tier 2 หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง แต่ไทยยังคงเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาการจัดอันดับในปีถัดไป ดังนั้น ไทยจึงควรมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างต่อเนื่องและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ รวมไปถึงในระดับสากล

 

 

tpp.jpg

 

 

Event.png

885_20100622103059.gif

  • หลังจากการเจรจาที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2008 ในที่สุดกลุ่ม 12 ประเทศ ซึ่งนำโดย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย TPP นับเป็นข้อตกลงที่จะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก

  • ปัจจุบันประเทศสมาชิกของ TPP ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
Analysis.png

884_20100622103051.gif

  • TPP เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกขยายตลาดส่งออก กระตุ้นการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย ที่เดิมไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และแคนาดา จึงคาดว่า TPP จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ TPP ยังมีกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติเพื่อไม่เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทในประเทศกับต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก จึงกล่าวได้ว่า TPP เป็นเครื่องมือกระตุ้นการค้าการลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงาน และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ รวมไปถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

  • อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขใน TPP มีความเข้มงวด และส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของหลายประเทศ เช่น สิทธิบัตรยา ซึ่งเดิมสหรัฐฯ เรียกร้องไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยาในกลุ่มชีวภาพตัวใหม่เป็นเวลา 12 ปี แต่หลังจากบรรลุข้อตกลงคาดว่าระยะเวลาจะลดลงเหลือ 8 ปี ซึ่งจะทำให้ราคายาในหลายๆ ประเทศที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวแพงขึ้น และการเข้าถึงยาสามัญเป็นไปได้ช้าลง นอกจากนี้ เวียดนาม เม็กซิโก และมาเลเซีย ยังถูกเรียกร้องให้ปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน โดยเฉพาะมาเลเซียที่ถูกเร่งให้แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในขณะที่แคนาดา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะลดการกีดกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศไม่น้อย


  • แม้ว่าประเทศสมาชิกจะเห็นชอบในเนื้อหาของข้อตกลง แต่ TPP ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนก่อนจะนำไปปฏิบัติจริง ขั้นตอนการอนุมัติข้อตกลง TPP ของทั้ง 12 ประเทศคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3-6 เดือน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องแจ้งให้สภาคองเกรสทราบก่อนการลงนามเป็นเวลา 90 วัน และหลังจากที่ลงนามแล้ว TPP จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อการรับรองและนำมาปฏิบัติต่อไป ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องผ่านการตรวจสอบจากทั้งรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร และถ้าต้องทบทวนกฎหมายใหม่ก็จะทำให้เกิดความล่าช้าออกไปอีก


  • AEC กำลังถูกท้าทายจาก TPP ในแง่ของการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่การผลิต รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ด้านการค้าการลงทุน นักลงทุนในปัจจุบันไม่เพียงแต่มองหาฐานการผลิตที่มีแหล่งวัตถุดิบและต้นทุนที่ต่ำ แต่ยังต้องสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและตลาดเป้าหมายในระดับภูมิภาคได้ด้วย ดังนั้น AEC ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถูกท้าทายจากข้อตกลง TPP ที่สามารถเชื่อมโยงตลาดและแหล่งวัตถุดิบระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอเมริกา ซึ่งน่าจะสร้างแรงกดดันให้อาเซียนเร่งเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีในระดับพหุภาคีและทวิภาคี เช่น RCEP (อาเซียน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ในขณะที่สมาชิกอาเซียนที่ได้เข้าร่วมเจรจา TPP ไปแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม แม้ว่าจะได้รับประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัวตามมาตรฐานต่างๆ ที่ระบุไว้ใน TPP ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • อีไอซีมองว่าไทยควรศึกษาเงื่อนไขของข้อตกลง TPP ให้รอบคอบก่อนเข้าร่วม ด้วยข้อกำหนดของ TPP ที่ไม่อนุญาตให้สมาชิกใหม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ ทำให้ไทยต้องประเมินผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP ให้รอบคอบ โดยในเบื้องต้นประเด็นที่ไทยจะเสียเปรียบ คือ สิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา แต่หากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ TPP เช่น ญี่ปุ่นที่จะทยอยเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ไทยในฐานะฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นมีความน่าสนใจน้อยลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังอาจมองว่าเวียดนามและมาเลเซียเป็นฐานการผลิตที่ได้เปรียบกว่าไทยในแง่ของการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ใน TPP

  • ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอุปสรรคใหญ่ของไทยในการเข้าร่วม TPP ประเด็นที่อาจทำให้ไทยไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้ง่ายนัก คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ล่าสุดไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 โดยกฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่อยู่ในอันดับดังกล่าว ซึ่งหากไทยต้องการเข้าร่วม TPP จะต้องแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในการทำประมง
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ