SHARE
SCB EIC BRIEF
16 มีนาคม 2023

Used car market makeover: มิติใหม่เต็นท์รถมือ 2 ในโลกหลังโควิด-19

การปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดและรักษาฐานลูกค้า ทั้งรูปแบบการตลาดที่ทันสมัย รวมถึงการมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอด

“The used car industry has always been a key player in the automotive industry, but in recent years it has undergone a significant transformation. The rise of online marketplaces and digital technologies has given consumers more access to information, creating new opportunities for dealers and private sellers alike.” Allied Analytics LLP 

ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถมือ 2 ทั่วโลกกลับมีความคึกคักสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยได้รับอานิสงส์จาก 1) ปัญหา Global supply disruption ที่ทำให้อุปทานของรถมือ 1 ขาดตลาด 2) ผู้บริโภคหันมาใช้รถส่วนตัวทดแทนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และ 3) กำลังซื้อที่ลดลงทำให้ความนิยมในรถมือ 2 มากขึ้น โดยแรงกระตุ้นจากฝั่งอุปสงค์ส่งผลให้ราคาขายรถมือ 2 ดีดตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ดัชนีราคาในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยถึง 26.4% และ 16.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วง Pre-Covid ในปี 2019

สำหรับในไทยตลาดรถมือ 2 มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 6.4% ของธุรกิจคาร์ดีลเลอร์ แต่มีผู้ประกอบการอยู่มากถึงกว่า 6.5 พันราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าธุรกิจขายรถมือ 1 ประมาณ 2.4 เท่าตัว1 ทั้งนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจรถมือ 2 ในไทยเช่นเดียวกับตลาดโลก สะท้อนจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มือ 2 ระหว่างปี 2020 – 2022 ที่ลดลงเพียง -11.2% โดยหดตัวน้อยกว่ายอดจดทะเบียนรถป้ายแดงที่ -20.6% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2019  นอกจากนี้ ดัชนีราคาขายรถมือ 2 ยังขยายตัวได้สูงกว่าระดับ Pre-Covid เฉลี่ยที่ 1.8% (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่อรถมือ 2 คาดว่าจะทยอยแผ่วลงหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายและปัญหา Global supply disruption มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมองหารูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในโลกหลังวิกฤตโควิด-19

Slide1_SCB-EIC_ตลาดรถมือ-2.JPG

ลมหวนในตลาดรถมือ 2 หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

ความคึกคักในตลาดรถมือ 2 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นชั่วคราวและคาดว่าจะส่งผลดีต่อตลาดเพียงระยะสั้น ๆ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า เราเริ่มเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EVs)  

กระแสความนิยมรถยนต์ EVs ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในไทย ส่งผลให้ตลาดรถมือ 2 ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความต้องการและราคาขายที่ลดลงอย่างรวดเร็ว2 โดยในปี 2022 ยอดจดทะเบียนรถ EVs ขยายตัวสูงถึง 98% และคาดว่าจะสามารถเติบโตสูงต่อเนื่องจากแรงหนุนของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการให้เงินอุดหนุน (Purchasing subsidies) ด้วยเหตุนี้ การดำเนินธุรกิจเต็นท์รถมือ 2 จึงมีแนวโน้มยากลำบากขึ้น เพราะรถเก่าจะตกรุ่นและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่ายรถยนต์ทยอยเปิดตัวรถ EVs รุ่นใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบการใช้งาน รูปลักษณ์ และระดับราคา ประกอบกับเทรนด์การซื้อ-ขายรถ EVs มือ 2 ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะตัวเลือกในตลาดที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ One2car ชี้ว่า รถ EVs ในตลาดมือ 2 ของไทย มีสัดส่วนเพียง 0.9%  (รูปที่ 2) อีกทั้ง ต้นทุนค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะจากราคาแบตเตอรี่ ทำให้ราคาขายถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรถ EVs มือ 1 ในรุ่นเดียวกัน

Slide2_SCB-EIC_ตลาดรถมือ-2.JPG

2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างเต็นท์และค่ายรถยนต์

นอกจากตลาดรถมือ 2 จะต้องแข่งขันกับเหล่ารถ EVs รุ่นใหม่ ๆ แล้ว ผู้ประกอบการเต็นท์รถยังต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ผันตัวมาเป็นนายหน้าขายรถมือ 2 มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งข้อได้เปรียบของฝั่งค่ายรถยนต์ คือ ความน่าเชื่อถือของคุณภาพรถที่ผ่านการคัดกรองและรับรองจากบริษัทผู้ผลิต รวมถึงความครอบคลุมของที่ตั้งและบริการที่ทั่วถึง อาทิ Honda มีบริการซื้อ-ขายรถมือ 2 ณ โชว์รูม 55 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ Nissan และ BMW Thailand ได้เปิดขายรถมือ 2 บนเว็บไซต์ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเต็นท์รถมีจุดแข็งคือ ราคาถูกและมีความหลากหลายของรถมากกว่า ดังนั้น การสร้างความน่าเชื่อถือและการให้บริการที่ครบวงจรจึงถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเต็นท์รถท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

3. การเพิ่มขึ้นของอุปทานรถมือ 2 ในตลาด

ตลาดรถมือ 2 กำลังเผชิญความเสี่ยงจาก ‘อุปทานส่วนเกิน (Oversupply)’ ที่เกิดขึ้นหลังการระบาดคลี่คลายโดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการลดลงของดัชนีราคารถมือ 2 นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นผลของความต้องการในตลาดที่ชะลอตัวลงแล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนรถมือ 2 ในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลบนเว็บไซต์ One2car พบว่า กว่า 44% ของรถที่ประกาศขายมีระยะเวลาจดทะเบียนน้อยกว่า 5 ปี โดยรถกระบะและ SUV มีสัดส่วนการเร่งขายก่อนครบรอบการเปลี่ยน (Car replacement cycle)3 สูงที่สุด (ภาพที่ 3) ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ปัญหาขาดสภาพคล่องของเจ้าของรถที่ถูกกระทบจากโควิด-19 และ 2) ผู้บริโภคหันไปใช้รถ EVs มากขึ้น ดังนั้น หากมองไปข้างหน้า ปัญหาอุปทานส่วนเกินนี้จะยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะถูกซ้ำเติมจากจำนวนรถยึดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวภายหลังมาตรการเยียวยาของภาครัฐ โดยเฉพาะการพักชำระหนี้ จะทยอยสิ้นสุดลงในช่วงกลางปีนี้4

Slide3_SCB-EIC_ตลาดรถมือ-2.JPG

3Ls มิติใหม่ของธุรกิจเต็นท์รถมือ 2

 

เมื่อความเสี่ยงและการแข่งขันในตลาดรถมือ 2 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการบางส่วนได้มีการทยอยปรับรูปแบบและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ถูกใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเต็นท์รถ

 

  • Live sale : ช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าและเพิ่มความน่าเชื่อถือ

การตลาดออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นในธุรกิจเต็นท์รถมือ 2 เพราะเป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกในการเข้าถึงฐานลูกค้า โดยผลสำรวจจาก Grand View Research ชี้ว่า ในปี 2021 ยอดขายรถมือ 2 บนช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนมากถึง 25% จากยอดขายรถทั่วโลก ซึ่งสื่อ Social media เป็นเครื่องมือหลักที่ผู้ประกอบการไทยเลือกใช้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook หรือ Tiktok รวมถึงการวางขายรถบน Marketplace ต่างๆ ทั้งนี้การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์นอกจากจะช่วยด้านโฆษณาแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือและลดความไม่เท่าเทียมของข้อมูล (Asymmetric information) เพราะผู้ซื้อ-ขายสามารถปฏิสัมพันธ์กันแบบ Real time ทั้งการขอดูรายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการต่อรองราคา ที่สามารถทำได้เสมือนช่องทางออฟไลน์

  • Launch services : เพิ่มเติมบริการที่ทันสมัย หลากหลาย และตอบโจทย์

บริการเสริมที่พ่วงมากับการซื้อ-ขายมีความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจเต็นท์รถมือ 2 เพราะช่วยสร้างความประทับใจและการการันตีความน่าเชื่อถือ เช่น บริการซ่อมบำรุง การทดลองขับ รับประกันหลังการขาย แจกของสมนาคุณ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขอสินเชื่อและป้ายทะเบียน เป็นต้น อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มนำมาใช้เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด อาทิ บริการจัดส่งรถฟรีถึงบ้านซึ่งเป็นประโยชน์กับเต็นท์รถที่กระจุกตัวในกรุงเทพให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดได้ รวมไปถึงบริการเช่าใช้รถ (Car subscription) ที่ช่วยเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย คล่องตัว และไม่มีข้อผูกมัด 

  • Lower stock : ลดสต็อกรถเก่า ตีตลาดรถใช้หาเงิน

รถรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ EVs ที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่องทำให้รถเก่าๆ ตกรุ่นและมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งการมีสต็อกรถมือ 2 ที่ไม่ได้รับความนิยม อาทิ รถนอกกระแสหรือรถที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก ถือเป็นภาระต้นทุนของธุรกิจจากค่าใช้จ่ายเพื่อจัดเก็บและค่าเสื่อม ที่ทำให้ผลกำไรลดลงและอาจนำมาซึ่งปัญหาขาดสภาพคล่อง ดังนั้น การคัดสรรสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยในปัจจุบันหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อุปสงค์รถมือ 2 ยังขยายตัวได้ คือ การซื้อรถเพื่อใช้หารายได้ เพราะการประกอบอาชีพขับรถอิสระบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการส่วนใหญ่กำหนดคุณสมบัติรถไว้ เช่น รถยนต์และกระบะต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี และ 5 ปี (นับจากปีผลิต) รวมถึงยี่ห้อและรุ่นรถที่สามารถเข้าร่วมได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเต็นท์รถมือ 2 ที่จะช่วยบริหารจัดการสต็อกให้สอดรับกับความนิยมของตลาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แม้ตลาดรถมือ 2 จะกำลังเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน แต่การปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดและรักษาฐานลูกค้า ทั้งรูปแบบการตลาดที่ทันสมัย รวมถึงการมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอด อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเต็นท์รถมือ 2  ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิมอีกด้วย

1ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลการสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ พ.ศ. 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
2ดัชนีราคารถมือ 2 ณ เดือน ธ.ค. 2022 อยู่ที่ 87.4 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 2019 ที่ 98.87 โดยรุ่นรถยอดนิยม เช่น Yaris และ Citi ที่อายุใช้งานประมาณ 1 – 1.5 ปี มีราคาขายลดลงจากราคาเปิดตัวประมาณ 18%
3วัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือนหรือประมาณ 6 ปี อ้างอิงข้อมูลจาก KKP Research
4ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงินประจำเดือนมีนาคม 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ