Uneven recovery เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ธุรกิจฟื้นไม่เท่ากัน
แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในภาพรวม แต่สำหรับภาคธุรกิจยังเห็นรายเล็กฟื้นช้ากว่ารายใหญ่และยังมีความเปราะบางอยู่มาก
“A nation will not survive morally or economically when so few have so much and so many have so little.”
Bernie Sanders
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ แรงส่งหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาคธุรกิจจะเห็นการฟื้นตัวเช่นเดียวกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น สามารถดูได้จากการฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่เปิดกิจการใหม่ ทั้งในมิติของกลุ่มธุรกิจและขนาดกิจการ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
1. รายได้ภาคธุรกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 แล้วตั้งแต่ปี 2022 แต่ส่วนใหญ่ฟื้นตัวจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
จากตารางที่ 1 สะท้อนว่า ดัชนีรายได้ภาคธุรกิจรวมฟื้นตัวอยู่ที่ 117.4 (เทียบกับรายได้ภาคธุรกิจ ณ ปี 2019 ที่ระดับดัชนีเท่ากับ 100) แต่ส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางที่ระดับดัชนี 120.8 และ 103.5 ตามลำดับ ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนจากระดับดัชนีฟื้นตัวมาอยู่ที่ 99.2 เท่านั้น
2. ธุรกิจไทยเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีการจดทะเบียนเปิดกิจการทั้งหมด 68,665 บริษัท หรือคิดเป็น 12.9%YOY หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ช่วงการระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 หดตัวมากถึง 36.8%) โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีจำนวนกิจการเปิดใหม่สูงถึง 48% หลังจากภาคอสังหาฯ กลับมาฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยส่วนมากจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของดำเนินการซื้อ ขาย และให้เช่าเพื่อเป็นที่พักอาศัยด้วยตนเองสูงถึง 60% รวมถึงธุรกิจตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดกิจการเพิ่มถึง 44% และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โรงแรม และร้านอาหาร (ธุรกิจ Hospitality) เป็นกลุ่มธุรกิจลำดับสองที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 41% จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทยหลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย รวมถึงปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
3. ธุรกิจไทยมีสัดส่วนบริษัทผีดิบ (Zombie firms)1 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจไทยที่เปิดดำเนินการอยู่นั้น พบว่ามีสัดส่วนบริษัทผีดิบ (Zombie firms) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย หากธุรกิจประสบปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานาน หรือมีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio : ICR) ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเข้านิยามเป็น “บริษัทผีดิบ” ที่นิยมใช้เป็นตัวสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ จากการศึกษาฐานข้อมูลธุรกิจไทยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2022 พบว่าสัดส่วนบริษัทผีดิบของธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยสูงสุดที่ 18.5% และ 7.7% ตามลำดับ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบไม่ถึง 5% (รูปที่ 3) สะท้อนว่าธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ค่อนข้างช้ากว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เห็นว่าธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้สูง และถ้าหากธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรลดลงเป็นเวลานานอาจทำให้กลายเป็นบริษัทผีดิบได้
หากประเทศมีสัดส่วนบริษัทผีดิบเยอะอาจส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจได้ ทั้งในแง่ของการต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมาตรการทางการเงินของภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักชำระหนี้ จึงจะอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจ กระทบประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรด้านต่าง ๆ ของประเทศที่ยังคงต้องจัดสรรให้บริษัทผีดิบดำเนินการต่อได้อยู่ ทั้งที่มีความสามารถในการแข่งขันไม่สูง ประเทศเสียโอกาสจัดสรรทรัพยากรใหม่ไปสู่บริษัทอื่นที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงกว่า
4. ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีสัดส่วนจำนวนน้อยกว่ามาก
สัดส่วนรายได้ของธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 81% ในปี 2020 เป็น 84.3% ของรายได้ธุรกิจทั้งหมดในปี 2022 ขณะที่สัดส่วนรายได้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 19% ในปี 2020 เหลือ 15.7% ในปี 2022 (รูปที่ 4) สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างธุรกิจรายใหญ่และรายเล็กในประเทศที่รุนแรงขึ้นหลัง COVID-19
แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในภาพรวม สำหรับภาคธุรกิจยังเห็นรายเล็กฟื้นช้ากว่ารายใหญ่และยังมีความเปราะบางอยู่มาก ในระยะต่อไปธุรกิจขนาดเล็กจะยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงจากผลกระทบที่เกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการฟื้นตัวของรายได้ที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ธุรกิจลดลงต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้นในอนาคต
ในภาพรวมแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศมาจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำลงในปีนี้และในระยะปานกลาง รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่รุนแรงขึ้นและอาจยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยได้ สำหรับปัจจัยภายในประเทศมาจากความเสี่ยงที่ธุรกิจอาจผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นได้ จากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 2.5% ต่อปี และการทยอยหมดอายุของมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในช่วง COVID-19
1 “บริษัทผีดิบ” ในบทความนี้ใช้นิยามของ Adalet McGowan et al. (2017) คือ บริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio : ICR) ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 รอบปีบัญชี และเป็นบริษัทที่มีอายุกิจการเกิน 10 ปี
________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงินประจำเดือนพฤศจิกายน 2023