Tailored policies for enhancing SMEs Competitiveness : SME ไทยยิ่งแข่งยิ่งแพ้…ต้องแก้อย่างไรให้ตรงจุด
SMEs มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีจำนวนมากถึง 98% ของกิจการทั้งหมด และจ้างงานกว่า 72% ของการจ้างงานทั้งหมด
“The sharper the competition, the better it serves its social function to improve economic production.”, Ludwig von Mises.
ตั้งแต่วิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มเกือบรั้งท้ายของโลก ส่งผลในวงกว้างต่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากจากปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือในกลุ่ม SMEs ที่ยังอยู่รอดได้ในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่รายได้ฟื้นช้ายังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการปรับตัวต่อความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วยังทำได้ช้ากว่ากิจการขนาดใหญ่ ประกอบกับมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในระยะข้างหน้าปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคธุรกิจไทยที่สะสมมาก่อนแล้ว และยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมตรงจุด เพื่อช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันกับกิจการขนาดใหญ่ให้ดีขึ้น
SMEs สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย
SMEs มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีจำนวนมากถึง 98% ของกิจการทั้งหมด และจ้างงานกว่า 72% ของการจ้างงานทั้งหมด1 แต่ SMEs กลับสร้างรายได้เพียง 18% ของรายได้ภาคธุรกิจทั้งประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มใน GDP ได้ราว 35% ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง2 สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างรายได้ของภาคธุรกิจไทยกว่า 80% ยังกระจุกอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ การแข่งขันในตลาดของธุรกิจไทยขนาดเล็กจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ยิ่งส่งผลต่อการอยู่รอดของกิจการในระยะยาว
การกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจ
ปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ภาคธุรกิจไทยแตกต่างกันไปตามลักษณะประเภทธุรกิจที่ต่างกัน SCB EIC วิเคราะห์การกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจแบ่งเป็น 4 ภาคธุรกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม การค้า การบริการ และการเกษตร ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2021 พบว่า การกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจแตกต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ (รูปที่ 1) เรียงลำดับได้ดังนี้
1. ธุรกิจอุตสาหกรรม
ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยมีการกระจุกตัวของรายได้อยู่ที่กิจการขนาดใหญ่มากที่สุดเทียบกับภาคธุรกิจอื่น โดยรายได้ของกิจการขนาดใหญ่ครอบคลุมเกือบ 90% ของรายได้ธุรกิจทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรม แต่จำนวนกิจการกลับมีสัดส่วนเพียง 5% ของจำนวนกิจการทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ SMEs ที่มีสัดส่วนจำนวนมากถึงราว 95% ของจำนวนธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมดกลับมีส่วนแบ่งรายได้เพียง 12%
เนื่องด้วยรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือมีการแข่งขันจากต่างประเทศที่มีความพร้อมด้านทุนและทรัพยากรสูงกว่า ประกอบกับรัฐบาลให้สัมปทานเอกชนขนาดใหญ่ในการดำเนินการในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคธุรกิจอื่น เช่น การผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล การผลิตและส่งไฟฟ้า ทำให้ SMEs สามารถแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมไทยได้ยาก
2. ธุรกิจการค้า
ภาคการค้ามีการกระจุกตัวของรายได้อยู่ที่กิจการขนาดใหญ่สูงเป็นอันดับสอง กินส่วนแบ่งรายได้เกือบ 80% แต่มีสัดส่วนจำนวนกิจการเพียง 3% ของจำนวนกิจการทั้งหมดในภาคการค้า ในขณะที่สัดส่วนรายได้ที่เหลือราว 20% เป็นของ SMEs ที่มีสัดส่วนจำนวนกิจการมากถึง 97%
ตัวอย่างประเภทธุรกิจ SMEs ในภาคการค้าที่ประสบปัญหาในการแข่งขันสร้างรายได้อย่างรุนแรง เช่น ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท พบว่ากิจการขนาดใหญ่ในไทยมีเพียง 11 ราย คิดเป็น 1% ของจำนวนธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งหมด แต่กลับมีส่วนแบ่งรายได้มากถึง 98% ของรายได้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งหมด ทั้งนี้เป็นผลจากการที่กิจการขนาดใหญ่มีเครือข่ายการขนส่งและจำหน่ายทั่วประเทศ มีศักยภาพในการซื้อสินค้าปริมาณมากทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด สามารถเจรจาต่อรองราคากับผู้ผลิตและตั้งราคาขายผู้บริโภคได้จูงใจกว่า ในขณะที่ SMEs ส่วนใหญ่มักจะเป็นรูปแบบกิจการภายในชุมชน ไม่ค่อยเน้นการขยายสาขา ครอบคลุมตลาดได้น้อยกว่า จึงไม่ได้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในปริมาณมากเท่า ทำให้อำนาจต่อรองราคาและความสามารถในการสร้างรายได้หรือบริหารต้นทุนต่ำกว่ากิจการขนาดใหญ่
3. ธุรกิจบริการ
ภาคบริการทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยคิดเป็นมูลค่าเพิ่มใน GDP ไทยมากกว่า 60% อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจบริการมีลักษณะคล้ายภาคการค้า โดยกิจการขนาดใหญ่มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 73% ของรายได้ธุรกิจบริการทั้งหมด แต่มาจากจำนวนกิจการขนาดใหญ่เพียง 1% ในทางกลับกัน SMEs ในภาคบริการที่มีสัดส่วนสูงถึง 99% ของกิจการทั้งหมดในภาคบริการ กลับมีส่วนแบ่งรายได้เพียง 27% เท่านั้น
ตัวอย่างธุรกิจบริการที่ SMEs ไทยประสบปัญหาการแข่งขันอย่างรุนแรงมีหลายประเภท เช่น การบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการประกันชีวิต เพราะธุรกิจดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องเจอกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการเข้าสู่ตลาดหลายประการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อผู้บริโภค กลายเป็นอุปสรรคทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ สำหรับธุรกิจบริการบางประเภทที่มีสัดส่วนการลงทุนต่ำกว่า เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการทั่วไป พบว่า SMEs ไทยยังมีความสามารถในการสร้างรายได้และการแข่งขันกับกิจการขนาดใหญ่ได้มากกว่า
4. ธุรกิจการเกษตร
ภาคการเกษตรเป็นภาคธุรกิจที่รายได้กระจายไปยัง SMEs คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น กิจการเกษตรขนาดใหญ่และ SMEs มีสัดส่วนรายได้ 54% และ 46% ของรายได้ธุรกิจการเกษตรทั้งหมด ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความสามารถในการสร้างรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กยังน่ากังวล เนื่องจากภาคเกษตรไทยมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนจำนวนกิจการรายย่อย (Micro) มากถึงเกือบ 70% ของกิจการเกษตรทั้งหมด แต่กลับมีความสามารถในการสร้างรายได้ต่ำมากเพียง 0.3% ของรายได้ธุรกิจการเกษตรทั้งหมด
สาเหตุสำคัญที่ธุรกิจ SMEs ในภาคการเกษตรไทยมีส่วนแบ่งรายได้ต่ำมากเช่นนี้ เนื่องจากมีช่องทางการตลาดและจัดจำหน่ายจำกัด ส่วนใหญ่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลางซึ่งมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า ในทางกลับกัน กิจการขนาดใหญ่ส่วนมากมีช่องทางการส่งต่อผลิตผลทางการเกษตรที่แน่นอน เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ได้ดีกว่า จึงสามารถสร้างรายได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม โครงสร้างธุรกิจภาคการเกษตรที่ไม่ได้กระจุกตัวในกิจการขนาดใหญ่มากเท่าภาคธุรกิจอื่น แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ SMEs ในภาคการเกษตรไทยจะสามารถเพิ่มการแข่งขันและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นได้
การยกระดับความสามารถของธุรกิจ SMEs
ในภาพรวมความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างขนาดธุรกิจยังเป็นปัญหาสำคัญ เป็นความเปราะบางและสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคธุรกิจไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถของธุรกิจ SMEs ให้แข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้มากขึ้นกว่าอดีต ผ่านการออกแบบนโยบายระยะสั้นและระยะยาวเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้ตรงกับระดับความรุนแรงของปัญหาการกระจุกตัวในภาคธุรกิจนั้น ๆ ดังนี้
(1) ภาคอุตสาหกรรม มีการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจขนาดใหญ่มากที่สุด ในระยะสั้นต้องเร่งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือสนับสนุนทางการเงินรูปแบบอื่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหรือลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงส่งเสริมการส่งออกและช่องทางการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ของ SMEs กระจายไปยังตลาดที่เหมาะสมขึ้น ในระยะยาวกฎเกณฑ์ภาครัฐต้องไม่เอื้อต่อการผูกขาดทั้งระบบไว้กับกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น ต้องเปิดทางให้ SMEs เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ผ่านการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เอื้อมากขึ้น เช่น เงื่อนไขคุณสมบัติการจัดซื้อจัดจ้าง
(2) ภาคการค้า ในระยะสั้นภาครัฐต้องเร่งออกนโยบายส่งเสริมช่องทางการขยายตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดดตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ SMEs เข้าถึงฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านการลงทุนไม่สูงนัก ประกอบกับนโยบายระยะยาวสร้างความรู้ E-Commerce การตลาดดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงอำนวยความสะดวกขั้นตอนของการทำธุรกิจออนไลน์แบบ One stop service
(3) ภาคบริการ ในระยะสั้นภาครัฐต้องเร่งพัฒนาความรู้และทักษะจำเป็นให้ผู้ประกอบการ เช่น ระบบจัดการต้นทุน การบริการลูกค้า และการตลาด ควบคู่กับการทบทวนกฎหมายการแข่งขัน เพื่อสร้างแต้มต่อให้ SMEs ปรับตัวสอดคล้องกับโมเดลธุรกิจบริการที่เปลี่ยนไปและเทรนด์ใหม่ในอนาคต
(4) ภาคเกษตร มีช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างขนาดธุรกิจต่ำกว่าภาคธุรกิจอื่น ในระยะสั้นภาครัฐควรหาแนวทางเร่งด่วนเพิ่มช่องทางการตลาดและจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง พร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ในระยะยาวภาครัฐต้องส่งเสริมการนำความรู้เทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจเกษตร เพื่อให้สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือคุณภาพดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรยั่งยืนขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากภาครัฐจะต้องช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ SMEs แล้ว ผู้ประกอบการก็มีส่วนสำคัญที่จะยกระดับการแข่งขันของกิจการตนเอง ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมหาความรู้การตลาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และคล่องตัวในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภาครัฐ สองแรงประสานเช่นนี้ไม่เพียงช่วยให้ SMEs ไทยอยู่รอด แต่จะเข้มแข็งขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
1 ข้อมูลปี 2021 โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
2 แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)
________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคารคอลัมน์เกร็ดการเงินประจำเดือนสิงหาคม 2024