SHARE

Smart Metering และ Energy Trading Platform ความหวังในการจัดการพลังงานหมุนเวียนไทย

การใช้ Smart metering และ Energy trading platform จะช่วยส่งเสริมให้การใช้ Solar rooftop แพร่หลายมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง

สถานการณ์ Solar rooftop ในภาคธุรกิจและครัวเรือนไทย

กระแสการติดตั้ง Solar rooftop ในภาคธุรกิจและครัวเรือนในไทยกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในรูปแบบของการติดตั้งเพื่อใช้งาน หรือ Self-consumption เป็นสำคัญ ขณะที่รูปแบบของ Prosumer (Production by consumer) ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองไปพร้อมกับขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือได้ด้วยยังมีข้อจำกัดอยู่มากในประเทศไทย และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การใช้ Solar rooftop ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ (Low adoption rate) แม้ในปัจจุบัน ภาครัฐจะมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar rooftop ภาคประชาชนในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคาขายปลีกที่การไฟฟ้าฯ ขายไฟฟ้าให้ประชาชน โดยเราเรียกกลไกการคิดค่าไฟฟ้าแบบนี้ว่า “Net billing” (เป็นหนึ่งใน Smart metering ที่การไฟฟ้าฯ จะหักลบมูลค่าไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฯ ออกจากค่าไฟฟ้าที่ใช้อัตโนมัติ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง) แต่การเข้าโครงการยังมีการจำกัดโควตา 

แนวทางส่งเสริมการใช้ Solar rooftop

การใช้ Smart metering

"Net metering" จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าจะช่วยส่งเสริมให้การใช้ Solar rooftop แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะภาคครัวเรือน เนื่องจากเป็นเครื่องมืออัจฉริยะ (Smart metering) ที่จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือนได้ค่อนข้างมากโดย จะเป็น การคิดปริมาณหน่วยไฟฟ้าสุทธิที่ได้หักลบหน่วยไฟฟ้าจากการซื้อ-ขายหน่วยไฟฟ้าในรอบบิล ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อรอบบิลนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีราคาซื้อ-ขายไฟฟ้าเป็นราคาเดียวกัน อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญที่ทั้งภาครัฐและนักวิชาการมีความกังวล คือ ผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีการติดตั้ง Solar rooftop ที่อาจมีภาระค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่สูงขึ้น เนื่องจากสูตรการคิดค่าไฟฟ้าจะนำต้นทุนพลังงาน รวมถึงต้นทุนค่าโครงข่าย (ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ของการไฟฟ้า) มาหารเฉลี่ยกับปริมาณความต้องการไฟฟ้าในโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ซึ่งหากปริมาณความต้องการไฟฟ้าใน Grid ลดลง จะส่งผลให้ต้นทุนค่าโครงข่ายต่อปริมาณความต้องการใช้ไฟจะสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีการติดตั้ง Solar rooftop โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย/ธุรกิจขนาดเล็กซึ่งยังมีข้อจำกัดเนื่องจากต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop ยังสูงเกินไปสำหรับกลุ่มเหล่านั้น

การใช้ Energy trading platform

นอกเหนือจากกลไกการคิดค่าไฟฟ้าที่กล่าวมา ยังมีอีกกลไกสำคัญที่เชื่อว่าหากดำเนินการได้จริงในเชิงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนให้การติดตั้ง Solar rooftop เป็นไปได้เร็วขึ้น ซึ่งก็คือ “Peer-to-Peer (P2P) Model” เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ (Energy trading platform) ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ Matching ทั้งปริมาณและราคาจากกระดานซื้อ-ขายในรูปแบบการประมูล (Bid-offer) เพื่อให้ Prosumer และ Consumer ในชุมชนสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ตามกลไกตลาด แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ Energy trading platform ยังไม่สามารถทำได้แพร่หลาย คือ โครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ที่สามารถกระจายไปยังจุดเชื่อมต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ชายไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันการไฟฟ้าฯ ยังไม่มีกลไกการกำหนดราคาค่าบริการโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Wheeling charge (ปัจจุบันมีเพียง Wheeling charge สำหรับรัฐต่อรัฐ (G-G) ในโครงการโครงข่ายไฟฟ้าลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์) ซึ่งหาก Wheeling charge สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงสร้างนวัตกรรมในการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่อย่าง P2P และหนุนนำให้ตลาด Solar rooftop ในฐานะ Prosumer เติบโตมากขึ้นและทำให้เกิดกลุ่มเครือข่ายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Green-energy community มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นภาคเอกชนได้เริ่มทำ P2P model แล้ว แต่ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ อาทิ โครงการ T77 ของแสนสิริ ที่ Prosumer อย่าง Serviced apartment และ Community mall ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้จาก Solar rooftop แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถขายไฟฟ้าให้โรงพยาบาล (Consumer) ที่อยู่ใกล้เคียงได้เช่นกัน หรือจะเป็นกลุ่มปตท. ที่ร่วมทุนกับ WHAUP ในนามบริษัทเมฆา วี จำกัด ในการทำ P2P Model ผ่านแอฟพลิเคชัน Energy trading platform ที่ชื่อ RENEX Platform ที่เน้นใช้งานในพื้นที่กลุ่มโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการประเภทโรงงานที่เป็น Prosumer และ Consumer บนแพลตฟอร์มแล้วถึง 54 ราย เป็นต้น

โดยสรุป การจัดการพลังงานหมุนเวียนจาก Solar สำหรับประชาชนและภาคเอกชนจาก Smart metering อย่าง Net metering และ Net billing หรือการจัดการโครงข่ายไฟฟ้าอย่าง Wheeling charge รวมถึง Energy trading platform ยังคงมีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งคงต้องติดตามความคืบหน้าทางนโยบาย ทั้งนี้ภาครัฐกำลังอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ผ่านโครงการ Sandbox ที่ได้เริ่มโครงการเมื่อเดือน ต.ค. 2021 และคาดว่าจะทราบผลการศึกษาราว ต.ค. 2023 ซึ่งหากผลการศึกษานำไปสู่การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะสอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 50% ที่จะประกาศฉบับใหม่ในปี 2023 (อยู่ในช่วงการจัดทำเพื่อนำเสนอ) ก็จะเป็นแนวทางในการผลักดันให้การติดตั้ง Solar rooftop ในภาคธุรกิจและประชาชนมีมากขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนไปจนถึงการเพิ่มโอกาสให้เกิดการพัฒนาพลังงานสะอาด และนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 4-6 กันยายน 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ