จับทิศทางตลาดโทรคมนาคมของไทย...หลังการควบรวมกิจการ
การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมในไทยทั้ง 2 ดีล ส่งผลต่อระดับการแข่งขันในตลาดลดลง และมีแนวโน้มส่งผลให้อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันของการเติบโตด้านรายได้
แรงกดดันของการเติบโตด้านรายได้ที่ชะลอตัวในธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลก ทำให้ผู้ให้บริการต้องปรับกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขตธุรกิจ และการควบรวมกิจการ ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันของการเติบโตด้านรายได้ที่มีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เข้าใกล้จุดอิ่มตัว และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ขณะที่ผู้ให้บริการยังต้องการเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการมองหาโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายขอบเขตธุรกิจให้ครอบคลุมบริการด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้จากบริการใหม่แล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้งานบริการหลักอย่างอินเทอร์เน็ตให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม (M&A) ซึ่งจะช่วยประหยัดเม็ดเงินลงทุนและเกิดการประหยัดเชิงขนาด (Economy of scale) อีกทั้ง ยังสามารถขยายตลาดการให้บริการได้กว้างขึ้น
การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของโลก
แม้การควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคมจะส่งผลต่อระดับการผูกขาดในตลาด แต่การกำหนดเงื่อนไขตามลักษณะตลาดแต่ละประเทศ จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2017-2022) การควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายองค์กรมีความกังวลต่อผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการควบรวม เนื่องจากจำนวนผู้ให้บริการที่ลดลง ส่งผลต่อระดับการผูกขาดในตลาด ทำให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาตลาดได้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณและความเร็วในการ Download ข้อมูลอีกด้วย โดยหน่วยงานกำกับในแต่ละประเทศได้กำหนดเงื่อนไขควบรวมที่สอดคล้องกับลักษณะของตลาดไว้ เพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมได้
ธุรกิจโทรคมนาคมของไทย
สำหรับไทย ธุรกิจโทรคมนาคมได้เผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ให้บริการของไทยพิจารณากลยุทธ์ในการควบรวมเช่นเดียวกับเทรนด์ของโลก มูลค่าตลาดโทรคมนาคมของไทยในช่วงปี 2020-2022 ได้หดตัวลงหลังจากการขยายตัวรุนแรงของความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะบริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่หดตัวราว -2.6%CAGR จากการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้น ขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่เติบโตเพียงเล็กน้อยจากการขยายพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ให้บริการของไทยต้องปรับกลยุทธ์ทั้งการเพิ่มรายได้จากบริการอื่น เช่น บริการด้านความบันเทิงแก่ผู้บริโภค และบริการด้าน Business solution แก่ลูกค้าองค์กร รวมไปถึงการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมเช่นกัน
การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของไทย
การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมในไทยทั้ง 2 ดีล ส่งผลต่อระดับการแข่งขันในตลาดลดลง และมีแนวโน้มส่งผลให้อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า โดยในปี 2023 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยได้ประกาศการควบรวมถึง 2 ดีลใหญ่ด้วยกัน แม้จะผ่านการพิจารณาของ กสทช. พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคแล้ว แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคยังคงกังวลถึงผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมหลังการควบรวมทั้ง 2 ดีลเสร็จสิ้น
1. การควบรวม True - Dtac ในธุรกิจบริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่งผลให้ค่าดัชนี Herfindahl-Herschman index (HHI) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการแข่งขันหรือการกระจุกตัวในแต่ละอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 37.8% สะท้อนถึงการเข้าใกล้ภาวะการแข่งขันที่เท่ากันของผู้ให้บริการ 2 ราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การแข่งขันด้านราคายังคงรุนแรง หรือมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มอำนาจการผูกขาด โดย SCB EIC ประเมินว่า ในระยะแรก รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขของบริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ขยายตัว ขณะที่ในระยะต่อไปมีโอกาสที่อัตราค่าบริการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกจากระดับการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้นน้อยลง เนื่องจากผู้ให้บริการมุ่งเน้นแข่งขันด้านคุณภาพ เช่น การขยายพื้นที่ให้บริการ และการพัฒนาความเร็วในการ Download/Upload
2. การเข้าซื้อกิจการ 3BB ของกลุ่ม AIS โดยเป็นการเข้าซื้อทั้งธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ 3BB และโครงสร้างพื้นฐาน Jasif ส่งผลให้ค่าดัชนี HHI เพิ่มขึ้น 45% สะท้อนถึงระดับการแข่งขันในตลาดที่มีโอกาสลดลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
โดย SCB EIC ประเมินว่า ในระยะแรกที่ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. ทำให้ AIS เน้นการขยายฐานลูกค้าไปยังผู้ใช้บริการ 3BB เดิมให้สามารถเข้าถึงบริการอื่นของ AIS ได้มากขึ้น เช่น AIS Play และบริการด้าน Business solution ขณะที่ในระยะต่อไปคาดว่าการแข่งขันด้านราคาจะมีความผ่อนคลาย จากการขยายพื้นที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตประจำที่ที่ไม่ทับซ้อนกันของผู้ให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าบริการเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตประจำที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการควบรวม
ทิศทางตลาดโทรคมนาคมไทย
ทั้งนี้การควบรวมทั้ง 2 ดีลมีโอกาสส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยเปลี่ยนแปลงไปในระยะข้างหน้า โดยการแข่งขันจะเป็นไปในรูปแบบแพ็กเกจพ่วงบริการที่มากขึ้น โดยภายหลังจากการควบรวมเสร็จสิ้น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยจะเหลืออยู่เพียง 2 ราย และให้บริการครอบคลุมทั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตประจำที่ และบริการด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ดังนั้น การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มเป็นไปในรูปแบบการนำเสนอแพ็กเกจพ่วงบริการที่หลากหลาย (Convergence package) ที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งจะมีโอกาสกระตุ้นให้ผู้ให้บริการเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ ออกมา โดยนวัตกรรมใหม่ต้องอาศัยโครงข่ายที่มีคุณภาพสูงมารองรับ ซึ่งท้ายสุดแล้วผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในรูปแบบนี้