Next station! EV ในการขนส่งสินค้าทางถนน
การเปลี่ยนผ่านการขนส่งสินค้าทางถนนไปสู่การใช้รถ EV จะเป็นตัวช่วยทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและก้าวสู่ Net zero จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่า ในปี 2019 ภาคขนส่งมีการปล่อยก๊าซ CO2 สูงเป็นอันดับ 3 รองจากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม และหากคิดเฉพาะการขนส่งสินค้าทางถนนจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ถึงราว 30% ของภาคขนส่ง ด้วยเหตุนี้ การขนส่งสินค้าทางถนนจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทั่วโลกต่างเร่งวางแผนลดการปล่อยก๊าซ CO2 โดยวิธีที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical vehicle : EV)
การใช้รถ EV ในภาคการขนส่งของไทย
ในปี 2022 ที่ผ่านมา การใช้รถ EV ในภาคการขนส่งของไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะรถขนส่งผู้โดยสารที่การใช้งานเร่งตัวขึ้นสะท้อนจากยอดจดทะเบียนสะสมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตกว่า 150% กับ 240% มาอยู่ที่ราว 1.65 หมื่นคันกับ 1.35 หมื่นคัน ตามลำดับ และการใช้รถเมล์/รถบัสไฟฟ้าตามแผนการจัดหารถเมล์ใหม่ของไทยสมายล์บัส อย่างไรก็ดี การใช้รถขนส่งสินค้ากลับเพิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงปลายปี โดยผู้ประกอบการขนส่งหลายรายได้เริ่มนำรถบรรทุกไฟฟ้าขนาด 4 ล้อ 6 ล้อ และรถหัวลากไฟฟ้ามาทดสอบขนส่งสินค้าแล้ว เช่น FedEx, DHL, SCGJWD และไปรษณีย์ไทย รวมถึงแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ก็สนับสนุนให้ผู้ขับขี่หันมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนส่งสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหลายรายได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV ให้มากกว่า 50% ของรถขนส่งทั้งหมดภายในปี 2030
SCB EIC มองว่าภาคขนส่งควรเริ่มวางแผนนำรถ EV มาใช้ขนส่งสินค้ามากขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จากแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสาขาคมนาคมขนส่งตามที่ไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส ประกอบกับกระแสรักษ์โลก และปัญหาฝุ่นมลพิษที่ผลักดันให้ภาคขนส่งเริ่มวางแผนลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยการใช้รถ EV ซึ่งนอกจากจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยตรงของผู้ประกอบการขนส่งในขอบเขตที่ 1 แล้ว ยังสามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีการขนส่งใน Value chain ภายใต้ขอบเขตที่ 3 ด้วย 2. นโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV จากภาครัฐ ภายใต้นโยบาย 30@30 (การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV สัดส่วน 30% จากทั้งหมดในปี 2030) ด้วยการออกมาตรการลดภาษีพร้อมให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะและมอเตอร์ไซค์ 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและความคุ้มทุน จากสมรรถนะรถ EV ขนส่งสินค้าที่พัฒนาขึ้น ราคาแบตเตอรี่ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ได้ส่งผลให้การใช้ EV มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์มากขึ้น 4. Product availability โดยตัวเลือกที่หลากหลายในตลาดมีส่วนสำคัญที่ทำให้รถ EV สำหรับขนส่งผู้โดยสารได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ขณะที่รถ EV สำหรับขนส่งสินค้ายังมีตัวเลือกน้อย แต่ก็มีค่ายรถหลายเจ้าทั้งค่ายรถต่างชาติจากจีน ญี่ปุ่น หรือไทยเองที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมออกขาย/กำลังจะขายรถ EV ขนส่งสินค้าอีกหลายรุ่นเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์, รถกระบะ, รถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุก 10 ล้อ และรถหัวลาก
โดยผู้ขนส่งสามารถเริ่มพิจารณานำรถ EV มาใช้ในเส้นทางขนส่งระยะทางสั้น-กลางก่อน เช่น การเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถบรรทุกขนาด 4 ล้อกับ 6 ล้อ ในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการขนส่งแบบ Last mile และแบบเดลิเวอรี่ที่มีลักษณะงานที่เหมาะกับสมรรถนะรถ EV ในปัจจุบัน เนื่องจากบรรทุกสินค้าน้ำหนักไม่มาก และมีระยะทางวิ่งเฉลี่ยต่อวันเหมาะสมกับความจุแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จ/ชาร์จเพียงรอบเดียวหรือใช้วิธีสลับแบตเตอรี่แทนได้ อีกทั้ง ยังสามารถติดตั้งสถานีชาร์จที่คลังสินค้าหรืออู่รถได้ ขณะที่เส้นทางขนส่งระยะยาว ซึ่งใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งเฉลี่ยวันละ 600 กิโลเมตร ผู้ขนส่งอาจเริ่มจากการทดสอบและเลือกใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้าในรูปแบบงานที่เหมาะกับข้อจำกัดด้านสมรรถนะของรถ EV ในปัจจุบัน เช่น ระยะทางวิ่งที่ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ความสามารถในการบรรทุกที่ลดลงจากการบรรทุกแบตเตอรี่ ระยะเวลาชาร์จที่ค่อนข้างนานตามความจุแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จที่ยังมีน้อยและไม่ครอบคลุม
ความท้าทายของการใช้รถ EV ในภาคการขนส่ง
ทั้งนี้การใช้รถ EV ขนส่งสินค้ายังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. การพัฒนาสถานีชาร์จสำหรับรถขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านจำนวนสถานี พื้นที่ครอบคลุม กำลังในการจ่ายและปริมาณสำรองไฟฟ้า 2. การเพิ่มความสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐในด้านการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนรถ EV สำหรับขนส่งสินค้าและจากเอกชนในการวางเป้าหมายการใช้รถ EV และ 3. การส่งเสริมการผลิตรถ EV สำหรับขนส่งสินค้าในไทย โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งความต้องการมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตทั้งจากไทยและทั่วโลก และไทยเป็นฐานการผลิตรถประเภทนี้ที่สำคัญและสามารถต่อยอดไปสู่รถ EV ได้
การเปลี่ยนผ่านการขนส่งสินค้าทางถนนไปสู่การใช้รถ EV นี้จะเป็นทั้งกำลังหลักในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นโอกาสต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 8 พฤษภาคม 2023