ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เร่งโลกแบ่งขั้ว ธุรกิจปรับตัวอย่างไร
กรณีการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รุนแรงมากจะมีส่วนทำให้อาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาค เป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยออกจาก Comfort zone
สงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในโลกรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปี 2022 และกลายเป็นตัวเร่งให้โลกเกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แม้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศคู่กรณีมาก่อนนานแล้วและยังยืดเยื้อไม่ได้ข้อสรุป เช่น กรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีน-บางประเทศอาเซียน กรณีพิพาทเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ กรณีสหรัฐ-อิหร่าน กรณีสหรัฐ-จีนในสงครามการค้าและเทคโนโลยี แต่สถานการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนถือว่าเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ระเบียบโลกเดิมเปลี่ยนไป
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตกตัดสินใจประกาศคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง เพื่อลงโทษการกระทำของรัสเซียที่ขัดกับหลักสหประชาชาติ รัสเซียเองก็ตอบโต้และพยายามหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการค้านอกกลุ่ม G7 มากขึ้น โดยหันไปพึ่งพาจีน อินเดีย ตุรกี และชาติอื่น ๆ ที่ไม่เลือกข้าง ทำให้เริ่มเห็นการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจตามมา ยิ่งสงครามยืดเยื้อออกไปก็จะยิ่งเห็นการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียและการกีดกันการค้ามากยิ่งขึ้น
บทความนี้ชวนมาวิเคราะห์ถึงภาพอนาคตโลกแบ่งขั้วที่อาจเกิดขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจอาเซียนและไทย รวมถึงโอกาสปรับตัวของธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนี้ที่จะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน
อนาคตโลกขัดแย้งกระทบเศรษฐกิจโลก
ถึงแม้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงได้ในที่สุด แต่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เร่งโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะยังมีผลต่อเนื่องอีกนาน โดย IMF ได้รวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกแตกย่อย (Geoeconomic fragmentation) ที่เกิดขึ้นสรุปได้ 2 กรณี (รูป 1) คือ
1. กรณีโลกแตกย่อยจำกัด (Limited trade fragmentation) การกีดกันทางการค้าระหว่างกลุ่มจะกระทบเศรษฐกิจโลกไม่มากประมาณ -0.2% เทียบกับกรณีที่โลกเติบโตได้กระแสโลกาภิวัตน์เหมือนเดิม ในกรณีแรกนี้แต่ละประเทศเจอกับต้นทุนการปรับตัวในสถานการณ์เช่นนี้ไม่มากนัก
2. กรณีโลกแตกย่อยรุนแรง (Severe trade fragmentation) จะกระทบเศรษฐกิจโลกสูงถึง -7% แต่ละประเทศจะเผชิญต้นทุนการปรับตัวสูง ยิ่งถ้าเกิดการแตกขั้วทางเทคโนโลยี (Technology decoupling) ซ้ำเติมการกีดกันทางการค้าด้วยแล้ว เศรษฐกิจบางประเทศอาจได้รับผลกระทบมากถึง -8 ถึง -12% โดยเฉพาะประเทศเล็กที่เคยได้ประโยชน์จากการลงทุนทางตรงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากชาติมหาอำนาจที่แยกขั้วกันชัดเจน
น่าสังเกตว่าการกีดกันการค้าในสินค้าเทคโนโลยีที่จะกระทบความมั่นคงหรือการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ประเทศเกิดขึ้นเป็นระยะระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act สนับสนุนการลงทุนภายในสหรัฐฯ แทนการลงทุนในต่างประเทศ กฎหมาย CHIPS and Science Act สนับสนุนการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ขั้นสูงในสหรัฐฯ มาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทสหรัฐฯ ไปยังจีน รวมถึงมาตรการห้ามคนสหรัฐฯ สนับสนุนการพัฒนาและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในโรงงานจีน รวมถึงเริ่มขอความร่วมมือกดดันชาติพันธมิตรให้ดำเนินการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงในลักษณะคล้ายกันต่อประเทศจีน ขณะที่รัฐบาลจีนออกนโยบาย Made in China 2025 เร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจีนในการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้มแข็ง
โอกาสที่จะเห็นโลกแบ่งขั้วทางการค้าและเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์ฉับพลันทันทีคงมีไม่มาก โดยทั่วไปแล้วคงไม่มีประเทศไหนอยากไปอยู่ในจุดที่ต่างฝ่ายต่างก็เสียประโยชน์ แต่ความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิมอาจใช้ไม่ค่อยได้ในยุคโลกทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) สิ่งที่เห็นคือหลายประเทศเลือกใช้กลยุทธ์ยอมเจ็บตัวให้คนอื่นเจ็บกว่า เช่น กรณีรัสเซียรุกรานยูเครน หรือกรณีสหรัฐฯ กีดกันจีนจากการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง ตรรกะใหม่ในยุคทวนกระแสโลกาภิวัตน์จะพาโลกไปสู่ดุลยภาพใหม่ที่แย่ลงกว่าโลกที่หมุนตามกระแสโลกาภิวัตน์แบบเดิม เพราะการเคลื่อนย้ายสินค้าและทรัพยากรระหว่างประเทศจะไม่เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดเช่นเดิมอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แรงงาน เงินทุน เทคโนโลยี หรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะลดลง
ท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ ธุรกิจทั่วโลกเตรียมปรับแผนย้ายห่วงโซ่อุปทานมาอยู่ใกล้ขึ้นเพื่อความมั่นคงในกระบวนการผลิต การศึกษาของ IMF พบว่า บริษัทต่าง ๆ ในโลกมองกลยุทธ์เตรียมย้ายฐานการผลิตการลงทุนมาอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น โดยใช้คำว่า “Reshoring, Near-shoring หรือ Onshoring” ในแผนกลยุทธ์บริษัทเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าในปี 2022 เทียบจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดปี 2019 เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานไม่ให้สะดุดลงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจมากระทบห่วงโซ่อุปทานโลกได้อีก
หากโลกแบ่งขั้วไม่รุนแรง ไทยและ ASEAN จะยังได้ประโยชน์
หากโลกไม่ได้แบ่งขั้วรุนแรง (limited decoupling) ผลสุทธิต่อไทยและอาเซียนอาจเป็นบวก การกีดกันการค้าและเทคโนโลยีเกิดขึ้นในบางกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงประเทศเป็นหลัก ทำให้การแบ่งขั้วเลือกข้างยังเหลือเยื่อใยให้ค้าขายลงทุนในสินค้าประเภทอื่นที่พึ่งพากันมากได้อยู่ หรือโลกแบ่งขั้วยังไม่ได้กดดันให้ประเทศที่เหลือต้องเลือกข้างตัดขาดความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลไทยและหลายประเทศในอาเซียนวางกลยุทธ์ผูกมิตรกับทุกประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้ทางเศรษฐกิจ สามารถวางท่าทีเป็นกลาง (Neutral) ได้ทั้งสองขั้วท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป (รูป 2)
การยังวางท่าทีเช่นนี้อยู่ได้จะเอื้อให้ไทยและประเทศในอาเซียนจะได้รับประโยชน์หลายช่องทาง เช่น ธุรกิจในประเทศขั้วขัดแย้งต้องการย้ายฐานการผลิตออกมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การสร้างพลังความร่วมมืออาเซียนยกระดับให้เป็นห่วงโซ่อุปทานของโลกในระดับภูมิภาคช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ โอกาสส่งออกสินค้าทดแทนไปตลาดขั้วขัดแย้งได้มากขึ้น โอกาสสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับตลาดใหม่ที่ไม่ได้เลือกขั้วไม่อยากขัดแย้งกับใครได้มากขึ้น เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดลาตินอเมริกา รวมถึงประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าบางอย่างได้ถูกลงเพราะสินค้านั้นขายในประเทศขั้วขัดแย้งได้ไม่มากเท่าเดิมแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยและประเทศในอาเซียนอาจเสียประโยชน์ได้บ้าง หากสินค้าผลิตในประเทศถูกสินค้าจีนที่ย้ายฐานมาตีตลาดแข่งด้วย สินค้าส่งออกไทยอาจถูกกีดกันในตลาดขั้วตรงข้ามกับจีนหากเป็นฐานการผลิตสินค้าของจีน หรือสินค้าส่งออกที่ใช้เป็นวัตถุดิบให้จีนผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดขั้วตรงข้ามมีความต้องการได้น้อยลงจากจีน
แต่โดยสุทธิแล้ว SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รุนแรงมากจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจอาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคมากขึ้น โดย GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียนในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 0.1% ต่อปีเทียบกรณีฐานที่ไม่มีความเสี่ยง Decoupling นี้ ขณะที่ GDP ของไทยในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 0.07% ต่อปีเทียบกรณีฐาน ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยประโยชน์ที่เศรษฐกิจอาเซียนจะได้รับ โดยเวียดนามจะได้ประโยชน์สูงกว่าถึง 3 เท่า แต่ในกรณีโลกแบ่งขั้วรุนแรงแยกกลุ่มกันอย่างชัดเจน GDP ของไทยในระยะยาวจะลดลง -0.16% ต่อปีเทียบกรณีฐาน สอดคล้องกับผลศึกษา IMF ว่า หากเกิดกรณี Full decoupling ขึ้นจริง โลกและทุกประเทศจะเสียประโยชน์กันถ้วนหน้า
จังหวะนี้เป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยออกจาก Comfort zone เร่งปรับตัวให้ทันกระแสโลกและวางกลยุทธ์ไปข้างหน้า คือ 1) บริหารความเสี่ยงกระบวนการผลิตเพิ่มความยืดหยุ่นให้ห่วงโซ่การผลิตของตนเอง 2) ใช้เทคโนโลยีเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลกที่เปลี่ยนเร็วเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ และแสวงหาโอกาสตลาดใหม่ที่ยังไม่มีขั้วเช่นกัน 3) ปรับโมเดลธุรกิจหรือหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุนมุ่งเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกที่กำลังแยกส่วน พร้อมผลิตภัณฑ์บริการที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลกได้ด้วย เช่น กระแสดิจิทัล รักษ์สิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย รวมถึง 4) เตรียมความพร้อมเพิ่มทักษะใหม่ให้แรงงานและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่เพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจไทยคว้าโอกาสเดินเกมรุกได้ในยามโลกกำลังเร่งแบ่งขั้วเช่นนี้
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
เอกสารอ้างอิง
Aiya, S. et al, Geo-Economic Fragmentation and the Future of Multilateralism, Staff Discussion Note SDN/2023/001, International Monetary Fund, Jan2023
ฐิติมา ชูเชิด “อนาคต...ทิศทางโลกขัดแย้ง” เอกสารนำเสนอในงานสัมมนา Geopolitics: The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม จัดโดย น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ, 23 มกราคม 2566
ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์, รชฏ เลียงจันทร์, ปัณณ์ พัฒนศิริ, และวิชาญ กุลาตี “เศรษฐกิจไทยในยามโลกแบ่งขั้ว (Decoupling),” In focus, Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์, 15 พฤศจิกายน 2565
________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023