Carbon accounting การบันทึกบัญชีขององค์กร ที่มีความสำคัญไม่แพ้ Financial accounting
Carbon accounting เป็นการบันทึกผลของกิจกรรมทางธุรกิจที่มีต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศของแต่ละองค์กร
“Carbon accounting is not yet today the same thing as ‘I plugged it in, and here’s your utility bill’. I do think it is critical to be as accurate as we can, and for customers to have the ability to compare and understand, with the appropriate caveats and disclosures. I think there’s going to be the huge educational opportunity”.
Mary de Wysocki, Chief Sustainability Officer, Cisco, (สิงหาคม 2022)
Carbon accounting คืออะไร? มีความเหมือนหรือต่างจาก Financial accounting อย่างไร?
Carbon accounting หรือ บัญชีก๊าซเรือนกระจก จะมีความคล้ายคลึงกับ Financial accounting ในเนื้อหาที่ช่วยบันทึกผลของกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร แต่ Carbon accounting จะไม่ได้บันทึกในรูปแบบของการเงิน แต่จะเป็นการบันทึกผลของกิจกรรมทางธุรกิจที่มีต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศของแต่ละองค์กร
Carbon accounting จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อจากนี้ เป็นเพราะเหตุใด?
หลังจากที่หลาย ๆ ประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ และได้ตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) การตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บันทึก และจัดทำแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญ และต้องการให้มีการรายงานตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อการวัดผล โดยบทบาทสำคัญของ Carbon accounting มีดังนี้
1. Climate change mitigation : ช่วยในการทำแผนสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศ
การบันทึกบัญชีก๊าซเรือนกระจก จะทำให้องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เข้าใจแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดการตั้งเป้าหมายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตรงจุด
2. Regulatory compliance :
ในหลาย ๆ ประเทศ ได้มีการเริ่มใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องมีการจัดทำรายงานให้ทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น บัญชีก๊าซเรือนกระจกจะช่วยทำให้องค์กรปฏิบัติตามกฎหมาย และป้องกันการถูกลงโทษหรือต้องจ่ายค่าปรับต่าง ๆ
3. Sustainability and corporate social responsibility :
ลูกค้า และนักลงทุน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะสามารถเห็นข้อมูลรายงาน ที่เกี่ยวกับ GHGs และสามารถติดตามผลได้
4. Risk management :
ช่วยให้การทำ Risk management มีหลักการ และสามารถทำให้การระบุ Risk exposure ถูกต้อง ครบถ้วนในหลาย ๆ มิติครอบคลุมด้านอื่น ๆ ที่จะมีผลกระทบกับบริษัทในอนาคตได้
5. Carbon offsetting and trading program :
การทำบันทึกบัญชีก๊าซเรือนกระจก จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมการชดเชยการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจได้ โดยองค์กรจะทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความสำเร็จของการลด GHGs ซึ่งจะมาต่อยอดสำหรับการบริหารจัดการการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตได้
6. International collaboration :
Carbon accounting ที่มีมาตรฐานจะช่วยให้การเปรียบเทียบระหว่าง Sector หรือเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ เช่น หากต้องมีการค้าระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอน อย่างมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือการเก็บภาษีคาร์บอนระหว่างประเทศ ก็จะทำให้สามารถเปรียบเทียบคาร์บอนกันได้
แม้ว่าปัจจุบันการบันทึกบัญชีก๊าซเรือนกระจก จะเป็นไปในลักษณะที่ยังไม่ได้มีข้อบังคับว่าองค์กรต่าง ๆ จะต้องจัดทำรายงานเหมือน Financial accounting แต่อย่างไรก็ตาม Carbon accounting ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นโดย ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2023 คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (International Standards Board : ISSB) ได้ออกมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนฉบับแรก—IFRS S1(International Financial Reporting Standards) ที่เป็นข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และ IFRS S2 ที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในมาตรฐาน IFRS S1 บริษัทจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง Carbon accounting จะมีส่วนในการให้ข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการรายงานทั้งสองมาตรฐานนี้ และจะถูกกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024
ขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ The International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และผู้นำ G20 และ G7 สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไนจีเรีย และญี่ปุ่น ได้มีแผนนำมาตรฐานทั้งสองนี้ไปใช้แล้ว
การบันทึกบัญชี Carbon accounting
ขั้นตอนในการบันทึกบัญชี Carbon accounting จะมีมาตรฐานการบันทึกบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับมาตรฐานบัญชีทั่วไป และจะช่วยบูรณาการไปถึงกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร ทั้งนี้กระบวนการบันทึกบัญชี Carbon accounting ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. กำหนด Scope ของการประเมินการปล่อย GHG
องค์กรจะกำหนดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบัญชีคาร์บอน ระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซและติดตามความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซ โดยจะมี 3 Scope สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังนี้
Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง จากการดำเนินงานของตนเองที่สามารถควบคุมได้ เช่น การเผาไหม้ในกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตปิโตรเคมี เป็นต้น
Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการซื้อ Utility ต่าง ๆ เช่น การซื้อไฟ, ไอน้ำ, ความร้อน หรือระบบทำความเย็น เป็นต้น
Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดขึ้นใน Value chain ของตนเอง ทั้งกิจกรรมเกี่ยวเนื่องในส่วนของต้นน้ำ และปลายน้ำ ที่องค์กรไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น การใช้น้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมโรงกลั่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตน้ำมันดิบ โรงกลั่นไม่สามารถควบคุมได้ แต่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตน้ำมันดิบ
2. กำหนดวิธีการคำนวณ การเก็บรวบรวมข้อมูล และวิธีการวัดคาร์บอน
สำหรับระเบียบวิธีในการวัดคาร์บอน (Carbon accounting calculation methodology) ที่องค์กรใช้อยู่ในปัจจุบัน มี 3 วิธี โดยแต่ละองค์กรจะเลือกโดยคำนึงถึงต้นทุนในการเก็บข้อมูล หรือเลือกจากประเภทของอุตสาหกรรม
1.1 Spend-based method เป็นวิธีการคำนวนการปล่อยคาร์บอนที่ยึดตามมูลค่าของสินค้าและบริการที่ซื้อเป็นหลัก วิธีการนี้จะเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วและง่าย แต่ความถูกต้องน้อยกว่าวิธีการคำนวณแบบอื่น ๆ
1.2 Activity-based approach เป็นวิธีการคำนวนการปล่อยคาร์บอนโดยพิจารณาในแต่ละกิจกรรม เช่น จำนวนระยะทางที่ใช้ยานพาหนะ เป็นต้น ข้อดีของการคำนวณการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีนี้คือมีความแม่นยำสูง เหมาะกับอุตสาหกรรมการขนส่ง
1.3 Hybrid method เป็นการผสมผสานทั้งการใช้ Spend-based method และ Activity-based method เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นวิธีที่รวมเอาข้อดีของทั้งสองวิธีไว้ด้วยกันคือ ความสะดวกรวดเร็ว และความถูกต้อง
3. คำนวณหาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อทำรายงานสรุปผล
ทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการคูณตัว Emission factor ซึ่งเป็นค่าสัมประสิทธิ์ที่อธิบายถึงอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) สู่ชั้นบรรยากาศของกิจกรรมหนึ่ง ๆ ตัวอย่างเช่น การปล่อย GHG สำหรับการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล มีค่า Emission factor อยู่ที่ 2.71685 kg CO2e ต่อลิตร ดังนั้น หากการใช้ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าด้วยการใช้น้ำมัน 20 ลิตร จะมีการปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ ที่ 20 x 2.71685 = 54.3378 Kg Co2e
4. กำหนดกลยุทธ์ขององค์กร
เมื่อได้ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาขององค์กรแล้ว ก็จะสามารถวางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้อง และวางแผนปฏิบัติการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกจุด ตลอดจนตัวชี้วัด หรือ KPI สำหรับการประเมินและติดตามผลการปฏิบัติการ
ความท้าทายของการทำ Carbon accounting
ในการทำ Carbon accounting ในปัจจุบัน องค์กรจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะต้องยกระดับให้มีความถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่แพ้ Financial accounting
Financial accounting ซึ่งมีพัฒนาการยาวนาน แต่ Financial accounting ก็ยังมีประเด็นปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น การปรับปรุงมาตรฐานบัญชีสำหรับ IFRS 9 สำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน ที่ต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น เป็นต้น เช่นเดียวกันกับ Carbon accounting ที่เพิ่งมีการจัดทำมาตรฐาน The Greenhouse Gas Protocol สู่สาธารณะ เมื่อปี 2001 ซึ่งจัดว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเทียบกับ Financial accounting ดังนั้น Carbon accounting จึงยังมีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงและแก้ไข ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
· ขาดความพร้อมในด้านมาตรฐานในการบันทึกคาร์บอน (Lack of standard) เนื่องจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมาตรฐานการบันทึกบัญชียังเป็นเรื่องใหม่และท้าทายเป็นอย่างมาก อีกทั้ง มาตรฐานการบันทึกบัญชียังต้องใช้เวลาในการปรับปรุง
· การกำหนดขอบเขตในการวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง GHG Emission Scope 3 มีความซับซ้อน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับ Stakeholders หลายฝ่าย อีกทั้ง ข้อมูลยังมีความซับซ้อนอยู่มาก
· ความแม่นยำ และความถูกต้องในการวัด ข้อมูลที่ถูกต้องและการวัดปริมาณการปล่อยมลพิษจากแหล่งต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและประเทศกำลังพัฒนาที่อาจขาดทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตรวจสอบและชี้วัดอย่างละเอียด
· ความสอดคล้องระหว่างประเทศในการเปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอน ซึ่งประเทศและองค์กรต่าง ๆ อาจใช้วิธีการทางบัญชีในการบันทึก และปีฐานในการเปรียบเทียบคาร์บอนไม่เหมือนกัน เป็นต้น
· กระบวนการในการชดเชยคาร์บอน (Offset mechanism) การรับรองความน่าเชื่อถือ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีหลายมาตรฐานในการยอมรับ เนื่องจากบางประเทศอนุญาตให้โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ แต่บางประเทศอาจไม่อนุญาตสำหรับบางโครงการ
อนาคตของ Carbon accounting : โอกาสและการเปลี่ยนแปลง
SCB EIC มองว่า เทรนด์สำคัญของภาคธุรกิจในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำ Carbon accounting คือ 1) ความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูล เช่นเดียวกับ Financial accounting ที่มีการตรวจสอบเพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูล Carbon accounting จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเช่นเดียวกันเมื่อโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีแรงกดดันมากขึ้นที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องเปิดเผยการปล่อยGHGs 2) การเติบโตของ Climate tech และธุรกิจที่เข้ามาช่วยในการทำ Carbon accounting สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐานจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดย Software ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล อย่าง SAP มีบทบาทช่วยในการจัดทำ Financial accounting เช่นเดียวกันกับ Carbon accounting software ในระดับสากล เช่น Salesforce ร่วมมือกับ Accenture เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยให้การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกมีระบบที่ถูกต้องแม่นยำ สำหรับบริษัทในไทย เช่น บริษัท บีไอจี จำกัด ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก ในการใช้ Carbon accounting platform เพื่อวางแผนการผลิตเพื่อช่วยลดการปล่อย GHGs ในรูปแบบ Digital platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น
ดังนั้น การบันทึกบัญชีคาร์บอนจึงเป็นเครื่องมือที่มีค่าสำหรับองค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งองค์กรต่าง ๆ ควรเริ่มให้ความสำคัญ และเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานการบันทึกบัญชีในระดับสากลไม่ต่างกับ Financial accounting เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตสอดรับกับกระแสความยั่งยืนในระยะต่อไป
________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงินประจำเดือนกันยายน 2023