SHARE
SCB EIC BRIEF
19 ธันวาคม 2022

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับความท้าทายต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน อาทิ การพัฒนาแรงงาน, การวิจัยและพัฒนา และการลงทุน เป็นต้น

การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตอย่างมีนัยสำคัญ และกลายเป็นความท้าทายสำหรับไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก ว่าจะปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและเติบโตต่ออย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ คือเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใบใหม่ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมยานยนต์ในเกือบทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต ที่สำคัญได้แก่ 1) การนำ AI มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตยานยนต์ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลภาพและระบบการมองเห็น (Computer vision), การประมวลผลด้านภาษาและการสื่อสารโต้ตอบกับผู้ขับขี่ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น 2) การบริหารจัดการห่วงโซอุปทาน เช่น การวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ความต้องการชิ้นส่วนในอนาคต การติดตามตำแหน่งของชิ้นส่วนแบบ Real time เป็นต้น 3) การพัฒนาระบบยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous car) เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีคนควบคุม 4) การพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driver assistance) ที่ช่วยแจ้งเตือนผู้ขับขี่ ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพการจราจร สภาพอากาศ และการนำเสนอเส้นทางที่มีประสิทธิภาพ และ 5) การบริหารจัดการข้อมูล (AI Cloud services) อาทิ การวิเคราะห์และเชื่อมต่อข้อมูลของรถยนต์เพื่อคาดการณ์การบำรุงรักษา การตรวจสอบความผิดปกติและการควบคุมความปลอดภัยของรถยนต์ เป็นต้น

เทคโนโลยี AI กับอุตสาหกรรมยานยนต์

ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่มากขึ้น โดย Tesla เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในระบบ Autopilot ตั้งแต่ปี 2014 โดยคาดว่าในอนาคตเทคโนโลยี AI จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของ Goldman sachs ที่คาดการณ์ว่า แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยานยนต์จะเพิ่มขึ้นถึง 24% ต่อปีในช่วงปี 2023-2030 มาอยู่ที่ราวหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Advanced driver assistance systems) อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังคงมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมถึงผู้ประกอบการเองยังจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดรับกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้อีกด้วย

ไทยกับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

สำหรับไทย รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ EEC (First s-curve) โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI ในการผลิตยานยนต์ อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน อาทิ 1) การพัฒนาแรงงาน ทั้งการ Upskill และ Reskill เพื่อสร้างแรงงานทักษะใหม่โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อการประยุกต์ใช้ AI อย่างเหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค 3) การลงทุนในอุตสาหกรรม Hardware & Software เพื่อสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ(Autonomous car) ระบบการเชื่อมต่อ (Connectivity) และ 4) การสร้างความร่วมมือกันทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน ซึ่งการปรับกรอบแนวคิด (Mindset) และเอาชนะความท้าทายเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตได้อย่างราบรื่น

________________

 

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 16 ธันวาคม 2022

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ