ALICE not in Wonderland; การดิ้นรนของ ALICE ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงด้วยรายได้จำกัด
ALICE ในสหรัฐฯ คือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าความยากจนที่กำหนด ทำให้ไม่มีสิทธิรับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ก็ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
To succeed in America, it’s better to be born rich than smart…People with talent often don’t succeed. What we found in this study is that people with talent that come from disadvantaged households don’t do as well as people with very little talent from advantaged households.
Anthony P. Carnevale, director of the Georgetown Center on Education and its workforce and lead author of the “Born to win, schooled to lose.”
การแก้ปัญหาความยากจนสามารถวัดจากตัวเลขจำนวนครัวเรือนยากจนที่ลดลงได้จริงหรือ เพราะสิ่งนี้อาจไม่ได้การันตีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมเสมอไป หลายครัวเรือนมีรายได้เกินเส้นความยากจนและเกินเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รายได้กลับไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ALICE โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากกลับมาพิจารณาในบริบทของครัวเรือนไทย ก็น่าสนใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่มากน้อยแค่ไหน และมีพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าเป็นอย่างไรในบทความนี้จะนำทุกท่านไปรู้จักกับ ALICE ให้มากขึ้น
กลุ่ม ALICE คือใคร และแนวโน้มเป็นอย่างไร
ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed เป็นศัพท์ที่นิยามโดย United Way จากองค์กร United for ALICE Program ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานด้านนวัตกรรม งานวิจัย และการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้
กลุ่ม ALICE ในสหรัฐอเมริกา หมายถึง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าความยากจนที่ภาครัฐกำหนด (Federal Poverty Line) โดยครัวเรือนที่มีสมาชิก 1 คน จะมีรายได้อยู่ที่ 15,060 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน หรือครัวเรือนที่มีสมาชิก 4 คน จะมีรายได้อยู่ที่ 31,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน ซึ่งตัวเลขจะเปลี่ยนไปตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยคนอเมริกันกลุ่มนี้ แม้จะมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจน ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น Food stamp เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) ที่จำเป็นต้องใช้เงิน อาจต้องเบียดเบียนเงินสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น
จำนวนครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่ม ALICE ในสหรัฐฯ มีเกือบ 40 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 29% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยรายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหมดไปกับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค การปรับขึ้นของราคาสินค้าจะทำให้กำลังซื้อของคนในกลุ่มนี้เปราะบางมากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักปรับตัวได้ไม่ดีนัก เนื่องจากค่าแรงอาจโตไม่ทันค่าใช้จ่าย ในขณะที่มีการออมและการลงทุนน้อย ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจไม่มีทางเลือกให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายได้มากนัก เมื่อค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ในการประคองชีวิตต่อไป กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงก่อหนี้เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่าย ทำให้ครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาพึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้น และหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐฯ พุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ยอดการออมส่วนบุคคลลดลง ในปี 2023 ที่มาผ่านมา อัตราการผิดนัดชะหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี
กลุ่ม ALICE ในสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร?
หากเทียบกลุ่ม ALICE ในเศรษฐกิจไทยแล้ว เทียบเคียงได้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เมื่อรวมภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนแล้ว มีสัดส่วนมากกว่ารายได้ของครัวเรือน โดยการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) แสดงให้เห็นว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 50,000 บาท มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายและค่าใช้จ่ายรวมกันมากกว่ารายได้ของครัวเรือน (ค่าใช้จ่ายรวมกับหนี้สินเกิน 100% ของรายได้ครัวเรือน) ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ของครัวเรือนต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาท เมื่อรวมภาระหนี้และค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้ว ยังมีส่วนที่เหลือในการออม (รูปที่ 1)
จากข้อมูลของ SCB EIC และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่ม ALICE มีสัดส่วนประมาณ 72.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด หรือประมาณ 17.4 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนยากจนมีรายได้ในครัวเรือนต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 14.7% หรือราว 3.5 ล้านครัวเรือน ในปัจจุบันการช่วยเหลือภาครัฐที่มอบให้กับกลุ่มคนจนจะอยู่ในรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนจนที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน โดยผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรประชารัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือ อาทิ วงเงินซื้อสินค้า 300 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่ม ALICE ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการเหล่านี้
พฤติกรรมและแนวโน้มในการซื้อสินค้าของกลุ่ม ALICE ในไทย
จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey เดือน พ.ย. – ธ.ค. 2023 จำนวน 568 ตัวอย่างที่ไม่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างอย่างราว 36% มีสมาชิกในครอบครัวมากกว่า 3 คน และ 43% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่ามีเพียงสมาชิกคนเดียวในครอบครัวที่มีรายได้ แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเหล่านี้มีอัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency ratio) ค่อนข้างสูง และเมื่อสอบถามถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งตอบว่า รายได้ลดลง/ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และถึงแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ผู้บริโภคเหล่านี้คาดว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมให้สอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างออก
จากผลสำรวจพบว่าร้านค้าที่กลุ่ม ALICE เลือกซื้อสินค้าส่วนใหญ่ จะเป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือเน้นไปที่ช่องทางที่ขายสินค้าราคาย่อมเยา โดยกลุ่มตัวอย่างจะเลือกซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน อันดับ 1 จากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านเหล่านี้ เข้าถึงได้ง่าย และสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้าขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสินค้าขนาดเล็กจะมีราคาถูกกว่า แต่เมื่อเทียบราคาต่อปริมาณแล้ว มักจะมีราคาที่สูงกว่าขนาดปกติ หรือขนาดใหญ่ อันดับที่ 2 คือ ตลาดสด ซึ่งมีสินค้าที่หลากหลายและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าราคาย่อมเยาได้มากกว่ากว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต อันดับที่ 3 คือ Hypermarket ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของ Hypermarket ที่มีกลุ่มลูกค้าคือผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
สำหรับสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างเช่นสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม ALICE ซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนที่สูง ไม่ว่าจะเป็น Online marketplace หรือร้านค้าใน Social platform ซึ่งร้านค้าออนไลน์เหล่านี้ เป็นแหล่งที่สามารถหาซื้อสินค้าได้หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาจากร้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่ราคาดีที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อ อีกทั้ง ร้านค้าออนไลน์มีการจัดโปรโมชั่นบ่อย ๆ ทำให้ดึงดูดลูกค้ากลุ่ม ALICE ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา (Price sensitive) ให้ใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ ในด้านการปรับตัวของกลุ่ม ALICE เมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของการซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันน่าจะลดลงไม่มากนัก ขณะที่สินค้าที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือยอย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาจมียอดขายที่ได้จากกลุ่ม ALICE ลดลงมาก รองลงมา กลุ่ม ALICE ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะมองหาส่วนลดในการซื้อสินค้า ทำให้ร้านค้าที่จัดโปรโมชั่นลดราคาบ่อย ๆ จะเป็นร้านค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้เลือกจับจ่ายใช้สอยเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น อันดับที่ 3 คือการมองหาสินค้าที่ราคาถูกลง ในที่นี้อาจสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่ราคาถูกว่า เช่น สินค้า House brand หรือกลุ่ม ALICE อาจเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลง เพราะราคาต่อชิ้นถูกกว่า
หากกล่าวโดยสรุปแล้ว กลุ่ม ALICE คือกลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงเกินที่จะรับสวัสดิการจากภาครัฐ แต่ขณะเดียวกัน รายได้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี บางครั้งคนกลุ่มนี้ต้องละทิ้งการใช้จ่ายในบางอย่าง เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างมาก พฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของกลุ่มเหล่านี้จึงมักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นหลัก โดยมักเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีสินค้าหลากหลายและมีราคาย่อมเยากว่าร้านค้าอื่น ๆ ดังนั้น นัยสำคัญต่อผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีกลุ่ม ALICE เป็นลูกค้าหลัก จึงควรระมัดระวังในการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจะกดดันกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงการนำเสนอทางเลือกสินค้าที่หลากหลาย ทั้งแบรนด์ ราคา และโปรโมชั่น ตลอดจนการวางจำหน่ายสินค้า House brand ที่มีราคาถูกกว่า รวมถึงเพิ่มสัดส่วนสินค้าขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่าขนาดปกติ เพื่อกระตุ้นการซื้อจากกลุ่ม ALICE ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเพิ่มร้านค้ารูปแบบอื่นๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่รายได้สูงกว่ากลุ่ม ALICE เพื่อลดความเสี่ยงจากยอดขายที่ลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่งด้วย
อ้างอิง
Dickler, J. (2024, April 29). 29% of households have jobs but struggle to cover basic needs: They are “one emergency from poverty,” one expert says. CNBC. https://www.cnbc.com/2024/04/29/29percent-of-us-households-have-jobs-but-struggle-to-cover-basic-needs.html#:~:text=Personal%20Finance-
Kaplan, N. S., Juliana. (2024, April 18). More and more Americans are becoming “ALICEs.” They can’t afford rent and groceries but are falling through the cracks in the country’s safety net. Business Insider. https://www.businessinsider.com/middle-class-americans-earning-above-poverty-live-paycheck-to-paycheck-2024-4
Kaplan, N. S., Juliana. (2024, April 24). Meet the typical ALICE: Americans struggling to afford basic necessities but making too much to get help. Business Insider. https://www.businessinsider.com/meet-the-typical-alice-middle-class-poverty-housing-food-benefits-2024-4
K, Pitchaya. (2024, April 22). รู้จัก ALICE คนที่มีรายได้เกินกว่ารัฐจะช่วย แต่ยังอยู่ลำบาก. https://brandinside.asia/what-is-alice/
________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคารประจำเดือนมิถุนายน 2024