SHARE
SCB EIC BRIEF
09 สิงหาคม 2023

จับกระแสตลาด AI Server ท่ามกลางเทรนด์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ความต้องการ AI Server ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย

ปฎิเสธไม่ได้ว่ากระแสความนิยมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทในโลกยุคดิจิทัลและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในตลาดเซิร์ฟเวอร์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “AI Server” ซึ่งจะเป็นการนำ AI เข้ามาช่วยในการคำนวณหรือการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนของการทำงานในแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น ระบบยานยนต์ไร้คนขับ การประมวลผลระหว่างภาษาคอมพิวเตอร์กับภาษามนุษย์ (Natural language processing) ไปจนถึงการประมวลผลเชิงลึกที่จำลองรูปแบบจากสมองมนุษย์ (Deep learning) เป็นต้น 

ประเภทของ AI Server

ปัจจุบัน AI Server แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) AI Training server ที่ใช้สำหรับการฝึกอบรมโมเดล AI โดยการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ประเภทนี้ จำเป็นต้องใช้ชิป GPU ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการจดจำข้อมูลเชิงลึกเพื่อประกอบการคาดการณ์ต่าง ๆ และ 2) AI Inference server คือการนำโมเดล AI ที่ถูกฝึกอบรมแล้วมาใช้ในโปรแกรมการคาดการณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ AI Server จะมีความแตกต่างจากเซิร์ฟเวอร์แบบทั่วไป ซึ่งจะเน้นการให้บริการพื้นที่สำหรับการจัดเก็บข้อมูลทั่วไปเป็นหลัก เช่น เว็บโฮสติ้ง การจัดการฐานข้อมูล และการแชร์ไฟล์ภายในองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่ AI Server จะถูกออกแบบมาให้สามารถประมวลผลสำหรับชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์และทำนายข้อมูลในเชิงลึกกว่าเซิร์ฟเวอร์แบบทั่วไปได้ โดยแม้ว่าปัจจุบันตลาด AI Server จะยังมีสัดส่วนแค่ราว 10% ของตลาดเซิร์ฟเวอร์โลก แต่จากแนวโน้มความต้องการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราเชื่อได้ว่าตลาด AI Server ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมากและน่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ตลาดเซิร์ฟเวอร์โลกขยายตัวชะลอลง สวนทางความต้องการ AI Server

จากข้อมูลของ Digitimes พบว่าในปีที่ผ่านมา ตลาดเซิร์ฟเวอร์โลกขยายตัวชะลอลงจากความต้องการเซิร์ฟเวอร์แบบทั่วไปที่ลดลง อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ สอดคล้องกับผลการสำรวจของ TrendForce ที่มองว่า ในปี 2023 ตลาดเซิร์ฟเวอร์โลกในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มหดตัวอยู่ที่ -2.9%YOY จากอุปสงค์โลกที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในจีน แต่ในทางกลับกัน ความต้องการ AI Server กลับมีแนวโน้มเติบโตสวนทางกับภาพรวมของทั้งตลาด โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสความนิยมของ Generative AI ในโปรแกรมแชทบอทต่าง ๆ เช่น ChatGPT ที่ช่วยกระตุ้นให้ความต้องการในกลุ่ม Data center รวมถึงการลงทุนในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI Server ของผู้ให้บริการ Cloud service ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และอาจส่งผลให้ยอดจัดส่ง AI Server ของโลกในปี 2023 เติบโตขึ้น 38.4%YOY หรืออยู่ที่ราว 1.2 ล้านเครื่อง ขณะที่คาดว่ายอดจัดส่ง AI Server ในตลาดโลกโดยรวมจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 26% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2023-2026

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า ความต้องการ AI Server ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย อาทิ กลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มธุรกิจ Data center เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การนำ AI Server มาใช้ยังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายอยู่มาก เนื่องจาก 1) ผู้ออกแบบและผลิตชิป GPU ขั้นสูงยังคงมีผู้เล่นอยู่น้อยราย ส่งผลให้กำลังการผลิตชิป GPU มีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจุบันบริษัท Nvidia ของสหรัฐฯ เป็นผู้ครองตลาดชิป GPU รายใหญ่ของโลก เช่น ชิป GPU A100 2) AI Server มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างสูงกว่าการลงทุนในเซิร์ฟเวอร์แบบทั่วไป เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ คือชิป GPU ที่มีประสิทธิภาพสูง และ 3) ผลกระทบจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้จำกัดการส่งออกชิป GPU ไปยังตลาดจีน ซึ่งได้สร้างแรงกดดันให้ราคาชิป GPU ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า ทั้งนี้หากความต้องการ AI Server ในตลาดโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชิป GPU ไม่สามารถผลิตหรือส่งมอบได้ตามความต้องการของตลาด ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอุปทานคอขวดจากขาดแคลนชิป GPU ในระยะต่อไปได้ 

โอกาสทางธุรกิจของไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิป GPU รายหลักของโลก เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในการผลิตชิปขั้นสูง แต่อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า ความต้องอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI Server ในตลาดโลก และการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Data center และ Cloud service ในไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2022 จะส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ Data center ให้เติบโตตามไปด้วย เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูงเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานยุคดิจิทัลได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในการลงทุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยต้องตกขบวนในอนาคต


________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 10-13 สิงหาคม 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ