ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย ในยุคฟื้นฟูความเชื่อมั่นการแก้ปัญหาโลกร้อน
ภาครัฐและเอกชนไทยควรปรับแนวทางให้สอดคล้องกับจังหวะก้าวของโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและช่วยส่งต่อโลกที่ดีขึ้นให้คนรุ่นต่อไป
ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนกำลังถูกสั่นคลอน
ความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาโลกร้อนมีมาก แต่ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อการแก้ปัญหากำลังถูกสั่นคลอน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ วิกฤติโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบปัญหากับการแก้ปัญหา กลับพบว่า โลกยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสในปี 2015 ซึ่งเมื่อ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ กับ ‘สิ่งที่สัญญา’ ยังมีความแตกต่างกันมาก ความเชื่อมั่น (Trust) ที่มีต่อการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนจึงลดลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อการออกนโยบายที่เหมาะสม เพียงพอและตอบโจทย์ของภาครัฐ ต่อความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพความสำเร็จตามความตกลงปารีส
‘สามแนวทาง’ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน
การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากโลกต้องการเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากความเชื่อมั่นเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้สัมฤทธิ์ผล โดยจากการวิเคราะห์ผลการประชุม COP28 และการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 SCB EIC พบว่า ประชาคมโลกตัดสินใจใช้ 3 แนวทางเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน ได้แก่ 1) ‘Move faster’ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วและแรงขึ้น เช่น การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนโลกขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 หรือภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี 2) ‘More inclusive’ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การผลักดันการลงทุนไปยังประเทศ ภูมิภาคหรือชุมชน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด และ 3) ‘Beyond net zero’ ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เช่น การเร่งผลักดันการเกษตรรูปแบบใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ภายในปี 2030
อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ
แนวทางแก้โลกร้อนในยุคฟื้นฟูความเชื่อมั่น จะทำให้มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น
แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนจะกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC แบ่งอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นและกลุ่มที่จะต้องเร่งปรับตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นมี 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า 4. กลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย 5. กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุฐานชีวภาพ และ 6. กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่มากขึ้นและคว้าโอกาสทางธุรกิจมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น น้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง อาทิ เกษตร เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
ผู้ประกอบการควรหันมาลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อน
SCB EIC มองว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจ กำลังกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากในระยะต่อไป บริษัทและประเทศต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) จะนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ มาใช้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบและบริการมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถดำเนินการผ่าน 5 ขั้นตอน คือ 1) ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร 2) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3) ค้นหาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 5) ติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ โดยนอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจากการที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ Net zero ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของ 6 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น หรือการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green finance) เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการฟื้นฟูธรรมชาติ
การสนับสนุนจากภาครัฐ คือ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การปรับตัวของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ
การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 20 ปี โดยภาคเอกชนเพียงลำพังจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดย SCB EIC มองว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชนได้อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ปรับเป้าหมาย Net zero ของประเทศให้เร็วขึ้น จากปี 2065 เป็น 2050 ให้สอดคล้องกับแนวทางโลก โดยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนไทยจะบรรลุ Net zero ช้ากว่า 123 ประเทศถึง 15 ปี และจะทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากวงจรการค้าโลกในอนาคต เนื่องจากประเทศและบริษัทต่าง ๆ ที่มีเป้า Net zero เร็วกว่าในปี 2050 มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการเฉพาะจากประเทศและบริษัทที่มีเป้าหมาย Net zero ไม่ช้าไปกว่าเป้าหมายที่ประเทศหรือบริษัทของตนเองกำหนดไว้ 2) เร่งออกมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรแต่ขาดแรงจูงใจในการปรับตัว เช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีการมอบเครดิตภาษีให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ขาดทรัพยากรในการปรับตัว เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที