SHARE
FLASH
11 กรกฏาคม 2025

การเจรจาสหรัฐฯ ที่ยังไม่ลุล่วงกับเส้นตาย 1 ส.ค. : นัยต่อไทย

ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ทยอยส่งหนังสือแจ้งเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้อัตราล่าสุดให้ 23 ประเทศคู่ค้า และเลื่อนวันเริ่มบังคับใช้เป็น 1 ส.ค. สำหรับทุกประเทศ

SCB EIC มองภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ
เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ

1. สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้คู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งหลักของไทยเกือบทั้งหมดถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่า (ณ อัตราล่าสุด) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งสำคัญในอาเซียน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้า และอาจเผชิญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น

2. หากไทยเจรจายอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่ที่สุด) อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร, ไก่เนื้อ และข้าวโพด นับว่ามีความอ่อนไหวสูง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก (แม้จะรวมค่าขนส่งมาไทยแล้ว) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก และผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ ผู้บริโภคในประเทศอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตในประเทศอาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า

3. อุปสงค์ในประเทศจะยิ่งแผ่วลงในครึ่งหลังของปี อาจเห็นการลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการบริโภคจะชะลอตัวแรงขึ้นโดยเฉพาะไตรมาส 4 แผนการลงทุนอาจชะลอออกไป ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เก็บไทยที่อาจสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะหากคู่แข่งสำคัญถูกตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต่ำกว่า การลงทุนจากต่างประเทศอาจถูกดึงดูดไปประเทศคู่แข่งแทนได้ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ-จีนมีข้อตกลงเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำลงมากจากที่เคยสูงกว่า 100% ในช่วง 1-2 เดือนก่อน อาจทำให้ปัจจัยดึงดูดให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาส่งออกจากไทยไม่มากเช่นเดิม นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และจะชะลอลงแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เต็มที่ อาจทำให้การจ้างงานลดลงตามมา ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ก่อนแล้ว

4. โอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจาสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น อาจมีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้

5. ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน การเจรจาขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากอัตราภาษีตอบโต้ที่ลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น การหาตลาดใหม่ และการเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ