แนวโน้มค่าเงินบาท และการดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน: วิชชุดา ชุ่มมี
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบกรับภาระราคา LPG จริงหรือ
"... แบงค์ชาติเข้าแทรกแซง "บาท" อย่างหนัก แต่เอาไม่อยู่ ดันบาทแข็งแตะ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ นักค้าเงินชี้ แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ (19 สิงหาคม 2553) |
เงินบาท ... แข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี
หนึ่งในประเด็นร้อนที่คงจะอยู่ในความสนใจของท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อย คือ "การแข็งค่าของเงินบาทและแนวโน้มในระยะต่อไป" โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปแล้วประมาณ 5% ซึ่งนับเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 28 เดือนอีกด้วย การแข็งค่าขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อาทิ แรงเทขายเงินดอลลาร์จากนักลงทุนและผู้ส่งออก กระแสเงินทุนจากต่างประเทศที่ยังคงไหลเข้าไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สรอ.จากความกังวลใจเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีส่วนช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ก็ยังนับว่าโชคดีที่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งช่วยให้ผู้ส่งออกไทยยังคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้
แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย มีการบริหารจัดการเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างไรบ้าง ?
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ การรักษาเสถียรภาพ
ของระดับอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลให้ความผันผวน (volatility) อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยปกติแล้ว วิธีการแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือ การเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สรอ. ในตลาด ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทเข้าไปสู่ระบบ หรืออธิบายง่ายๆ คือ "ดูดดอลลาร์ ปล่อยบาท" ซึ่งหลักฐานของการแทรกแซงดังกล่าว จะสะท้อนออกมาในรูปของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
... มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วแบงก์ชาติจะเอาเงินบาทจากที่ไหนไปซื้อดอลลาร์คืนจากระบบ? คำตอบก็คือ การให้โรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. พิมพ์ธนบัตรออกมาซื้อดอลลาร์นั่นเอง ซึ่งกลไกดังกล่าวจะเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว ธปท. จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินกลับออกจากระบบ เพื่อปรับสภาพคล่องในระบบการเงินให้มีความสมดุล ซึ่งการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า การทำ "currency sterilization"
เครื่องมือในการทำ Sterilization ของแบงก์ชาติมีกี่วิธี?
โดยปกติแล้ว แบงก์ชาติจะทำ sterilization ผ่านการดำเนินการในตลาดการเงิน (Open Market Operations: OMOs) ผ่านเครื่องมือหลัก 5 ช่องทาง ได้แก่
(1) การทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (bilateral RP) เป็นการปรับสภาพคล่องในระบบแบบชั่วคราว โดย ธปท. จะขายตราสารหนี้ในประเทศให้กับ primary dealers (กลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ธปท. ให้
ทำหน้าที่เป็นคู่ค้าหรือตัวกลางในการทำธุรกรรมซื้อขายพันธบัตร) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำธุรกรรมระยะ 1 วัน โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งการที่ ธปท. ขายตราสารหนี้ให้กับกลุ่มสถาบันการเงินดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการดูดสภาพคล่องเงินบาทออกจากระบบเป็นเวลา 1 วันนั่นเอง
(2) การทำธุรกรรมซื้อขาดขายขาดหลักทรัพย์รัฐบาล (outright sale of securities) เป็นการปรับสภาพคล่องในระบบแบบถาวร โดย ธปท. จะซื้อขาดขายขาดหลักทรัพย์รัฐบาลกับ primary dealers ซึ่งโดยปกติแล้ว ธปท. จะปล่อยสภาพคล่องผ่านช่องทางนี้ด้วยการซื้อขาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ธปท. ก็สามารถใช้ช่องทางเดียวกันนี้ในการดูดซับสภาพคล่องด้วยการขายขาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงสุด
(3) การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT bond issuance) เป็นเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งในการปรับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งการที่สถาบันการเงินหรือประชาชนนำเงินมาซื้อพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เท่ากับเป็นการดูดสภาพคล่องออกจากระบบเช่นเดียวกัน
(4) การสวอปเงินตราต่างประเทศ (Sell-Buy FX swaps) เป็นการปรับสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ใช้เสริมกันได้ดีกับเครื่องมือ OMOs อื่นๆ ซึ่ง FX swaps จะมีลักษณะคล้ายกับธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร แต่ต่างกันตรงที่เงินบาทจะถูกแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์สรอ. แทนที่จะเป็นการแลกกับตราสารหนี้ในประเทศ ซึ่งธุรกรรม swaps มักจะเป็นระยะสั้นอายุ
ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า วิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่ช่วยสร้างสภาพคล่องเงินดอลลาร์สรอ. ในระบบเศรษฐกิจ และมีต้นทุนในการทำ sterilization ต่ำที่สุด
(5) หน้าต่างซื้อตราสารหนี้ ธปท. เป็นการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบที่ช่วยรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น โดยจะมีลักษณะเหมือนกับการรับฝากเงิน และแบงก์ชาติจะออกตั๋วเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-PN) ให้เป็นหลักฐาน ซึ่งสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกและต้องการทำธุรกรรมสามารถแจ้งคำเสนอซื้อตราสารหนี้โดยระบุวงเงินและอัตราผลตอบแทนใน
แต่ละประเภทอายุ และจะต้องชำระเงินผ่านการหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันภายในวันที่ตกลงทำธุรกรรม
แนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่ออีกหรือไม่ ?
เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สรอ. เทียบกับสกุลเงินต่างๆ รวมทั้งบาท จากปัญหาการขาดดุลการคลังที่ยังอยู่ในระดับสูงและแผนการกลับเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Quantitative Easing: QE) ของ Fed ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาด นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่า จากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตามการส่งออกที่ขยายตัวสูง และการไหลเข้าของเงินทุนมายังภูมิภาค ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคที่น่าจะปรับขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคงจะไม่สามารถหวังพึ่งแบงก์ชาติในการแทรกแซงค่าเงินบาทได้มากนัก เพราะแม้ ธปท. จะแทรกแซงค่าเงินบาทมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เงินบาทก็ยังคงแข็งค่าขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนมีนาคม 2550-มีนาคม 2551 แบงก์ชาติได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน จนทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สรอ. แต่ปรากฏว่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นกว่า 10% จาก 35 มาเป็น 31 บาทต่อดอลลาร์สรอ. ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว และประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรองรับความผันผวนของค่าเงินบาทในอนาคต รวมทั้งจะต้องมีการวางกลยุทธ์ด้านการค้าและเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า เพื่อให้การแข่งขันไม่ได้ถูกกำหนดจากอานิสงค์ของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความได้เปรียบแต่เพียงด้านเดียว