Labor Productivity
ผู้เขียน: เอกสิทธิ์ กาญจนาภิญโญกุล
ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2554
โดย เอกสิทธิ์ กาญจนาภิญโญกุล
...เศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวด้วยแนวโน้มอัตรา GDP ร้อยละ 4.5 ส่งผลให้ความต้องการแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานฝีมือ ในขณะเดียวกันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) ยังคงมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำเพียงแค่ร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มตลาดแรงงานไทยที่ยังคงมีโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของตนเอง... ที่มา : โพสต์ ทูเดย์ (18 กรกฎาคม 2554) |
1. ผลิตภาพแรงงานคืออะไร? และวัดได้อย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว "Productivity" หรือ "ผลิตภาพ" เป็นคำเฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการผลิตที่ได้มาจากการใช้ปัจจัยการผลิตในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น "ผลิตภาพแรงงาน" จึงหมายถึง ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของแรงงาน บางครั้งก็ถูกเรียกว่า Workforce productivity สามารถคำนวณได้จากอัตราส่วนจำนวนสินค้าที่ผลิตออกมาได้ต่อปริมาณของแรงงานที่ใช้ในการผลิต
หน่วยวัดปริมาณของแรงงานที่ใช้ในการผลิตที่ชัดเจนและถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ จำนวนชั่วโมงการทำงาน (Hours worked) ดังนั้นแล้วผลิตภาพแรงงานที่นิยมใช้กันสามารถคำนวณได้จาก "จำนวนสินค้าที่แรงงานใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในการผลิต" ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมการทำผลไม้กระป๋อง ในหนึ่งวันสามารถผลิตผลไม้กระป๋องได้ทั้งหมด 8,000 ชิ้น โดยใช้แรงงานทั้งหมด 100 คน ซึ่งทำงานคนละ 8 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นแล้วผลิตภาพแรงงานของอุตสาหกรรมทำผลไม้กระป๋องนี้สามาถคำนวณได้ดังนี้
2. ผลิตภาพแรงงานสำคัญอย่างไร?
คำว่า ผลิตภาพแรงงาน ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นคำทางวิชาการที่ใช้อยู่ตามตำราเท่านั้น แถมยังเข้าใจยากเสียอีก แต่แท้จริงแล้วผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก ตั้งแต่ระดับบริษัทขนาด SME, บริษัทเอกชนขนาดใหญ่, หน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ
การพิจารณาประเด็นของผลิตภาพ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือปัจจัยการผลิตประเภทใดๆ ก็ตาม มีความสำคัญต่อภาคเอกชนไม่น้อยในการวางกลยุทธ์หรือการพัฒนาองค์กร หลักง่ายๆ ของการใช้ผลิตภาพเป็นตัววิเคราะห์วัดผลการตอบแทนจากการลงทุนในแรงงานคือ ทำอย่างไรที่จะรักษาผลผลิตให้เท่าเดิม แต่ใช้แรงงาน (หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ) ให้น้อยลง เพื่อจะนำแรงงานส่วนที่เหลือไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ในบริษัทเพิ่มเติม
ในส่วนของภาพรวมทางเศรษฐกิจ วิธีการหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีศักยภาพ คือเพิ่มผลผลิตจากการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน เนื่องมาจากเป็นการยกระดับความสามารถของแรงงาน ซึ่งความสามารถนี้จะคงอยู่ตลอด ทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าตอบแทนแรงงานหรือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งประเทศดีขึ้นในที่สุด
ผลิตภาพแรงงานยิ่งสำคัญกับไทยมากเพราะมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนกำหนด เนื่องจากสถิติการเกิดของไทยลดลงมาโดยตลอด ส่งผลให้อัตราการเติบโตของผู้เข้าสู่กำลังแรงงานในอนาคต 10 ปีหลังจากนี้จะลดลงเหลือ 0.2% ต่อปี เทียบกับ 1.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ดี ไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกว่าเดิมในระยะยาว
แม้กระทั่งกรณีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตในระดับแนวหน้าของโลก แต่กลับเกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย จนทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นแล้ว หากไทยไม่มีการพัฒนาผลิตภาพแรงงานให้ทันก่อนจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราอาจจะพบปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักยิ่งกว่าญี่ปุ่นก็เป็นได้
3. ผู้ประกอบการต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานในองค์กร?
สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการให้ผลิตสินค้าให้มากขึ้นภายใต้จำนวนพนักงานที่เท่าเดิม ซึ่งนำไปสู่ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในการทำงานอีกหลายประการที่ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานของลูกจ้างในองค์กรเช่นกัน จากการศึกษาขององค์กรอิสระ Industrial Systems Research พบอีกหลายปัจจัยที่จะช่วยพัฒนาผลิตภาพแรงงานได้ เช่น ระบบการจัดการและวัฒนธรรมองค์กร, ความยืดหยุ่นของกฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ , การให้รางวัลหรือการให้ผลตอบแทนเป็นรายบุคคล และอิทธิพลจากบุคคลต่างชาติที่เข้ามาทำงานในองค์กร เป็นต้น
ตัวอย่างในทางปฏิบัติของการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในองค์กร เช่น หลัก Kaizen Suggestion System ซึ่งเป็นระบบข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรโดยให้แรงงานทุกคนต่างมีสิทธิ์ในการเสนอความเห็นของตน หรือ การกำหนด Key Performance Indicator เพื่อให้แรงงานทุกคนทราบผลการดำเนินงานและสามารถประเมินผลการดำเนินงานได้เพื่อเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานขององค์กร เป็นต้น
4. ผลิตภาพแรงงานกับปัญหาในตลาดแรงงานไทย
แท้จริงแล้ว ไทยเรามีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าประเทศใกล้เคียงเกือบทั้งหมด จากรูปที่ 1 ในช่วงปี 2000-2007 ผลิตภาพแรงงานไทยมีอัตราเติบโตเพียง 3.0% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย เช่น จีน (9.2%) อินเดีย (5.1%) และเกาหลีใต้ (4.4%) หรือหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้ว ก็ยังต่ำกว่าเวียดนาม (5.3%) สิงคโปร์ (3.4%) และอินโดนีเซีย (3.3%) ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในตลาดแรงงานไทยอย่างชัดเจน
ปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น การจ้างลูกจ้างรายวัน รวมไปถึงมีแรงงานนอกระบบหรือแรงงานต่างด้าวอยู่ในกำลังการผลิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาทักษะแรงงานให้มีฝีมือ รวมถึงมีการลงทุนในเครื่องจักรกับการวิจัยและการพัฒนา (Research and development) ไม่สูงนัก จนนำไปสู่การขาดการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในที่สุด
5. ผลิตภาพแรงงานและนัยยะต่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลใหม่ก็คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากับ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วทั้งประเทศ ผลได้ของนโยบายนี้คือ กลุ่มแรงงานค่าแรงขั้นต่ำจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นราวๆ 30-50% ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะมีกำลังซื้อมากขึ้นและมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันแทบไม่พอเพียงต่อการดำรงชีวิตประจำวันเลย
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาค่าแรงนั้นจำเป็นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งค่าแรงที่ต่ำในปัจจุบันเป็นผลสะท้อนจากการมีผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ การขึ้นค่าแรงไม่ได้หมายความว่าผลิตภาพแรงงานจะต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากไม่แก้ปัญหาให้ตรงจุด ผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นคือ โรงงานหรือผู้ประกอบการจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มได้ จนต้องหาทางออกต่างๆ เช่น ย้ายฐานการผลิต, ไล่แรงงานออก, ลดระยะเวลาการจ้างงาน หรือหันไปจ้างแรงงานนอกระบบแทน เป็นต้น
แต่ทางออกต่างๆ เหล่านี้ก็อาจจะทำให้ปัญหาของแรงงานไทยให้แย่ลงจากเดิมอีก เช่น ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หรือมีแรงงานนอกระบบและการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลตอกย้ำปัญหาแรงงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดในปัจจุบันอีก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดก็พบว่ามีถึง 39 จังหวัดในประเทศไทยที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ บ่งบอกถึงปัญหาผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับค่าแรงขั้นต่ำ
6. ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ?
จากผลลัพธ์ของต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหาขั้นแรกอาจจะทำได้โดยลดจำนวนลูกจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วอาจจะส่งผลให้ผลผลิตของธุรกิจลดลงได้ ดังนั้นแล้ว ผู้ประกอบการน่าจะแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยหาวิธีเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากกว่า โดยวิธีการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถทำได้โดยเพิ่มการลงทุนในหลายด้านด้วยกัน
- การลงทุนในเครื่องจักรรวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปรับปรุงกระบวนการในการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับแรงงานที่อาจขาดแคลนในอนาคต โดยพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม รวมไปถึงแยกส่วนกระบวนการผลิตและจ้างแรงงาน Outsource ที่มีความชำนาญเฉพาะทางที่มีต้นทุนไม่สูงนักได้
- ผลิตของที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value added) สูงให้มากขึ้น นอกจากจะสร้างอัตราการทำกำไรให้สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีฝีมือเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรตามมา
พัฒนาทักษะและการศึกษาในตัวแรงงานหรือบุคลากรในบริษัทให้เหมาะสมกับความต้องการทางธุรกิจ และเน้นการบริหารพนักงานที่มีศักยภาพสูงให้อยู่ในองค์กรต่อเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต