SHARE

เด็กเกิดน้อย สูงวัยเพิ่ม แรงงานหดตัว : คุณภาพประชากรเป็นคำตอบใหม่ของไทย

ภายใต้ความท้าทายของสถานการณ์ประชากรทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพ ไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการกำหนดทิศทางนโยบายแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นวาระสำคัญระดับโลก หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของจำนวนประชากร โดยเฉพาะวัยแรงงาน ขณะที่ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้น สร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจในหลายมิติ สำหรับไทยนับว่าเริ่มเปลี่ยนผ่านด้านประชากรเร็วกว่าหลายประเทศในระดับรายได้เดียวกัน การลดลงของจำนวนประชากรเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการลดลงของศักยภาพเศรษฐกิจไทย

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ประเมินว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหนึ่งในปัจจัยฉุดรั้งศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2050 สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ณ ปัจจุบันไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

ประชากรไทยกำลังลดลง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านประชากรอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2012-2022 พบว่าประชากรวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-59 ปีมีแนวโน้มลดลง 4 แสนคน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น 4 ล้านคนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปี 2022 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรไทยเริ่มลดลง 0.06% จากปีก่อน โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าเด็กเกิดใหม่ราว 60,000 คน ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2024 โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 คน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลดลงของกำลังแรงงานที่จะมากขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับประมาณการของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ที่ระบุว่าค่ามัธยฐานอายุของคนไทยในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ปี จาก 40 ปีในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยเป็นผลโดยตรงจากอัตราการเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2024 ไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ระดับ 1.2 ต่ำกว่าอัตราการทดแทนที่ 2.1 (ระดับที่ทำให้จำนวนประชากรคงที่) จากการที่คนไทยต้องการมีลูกน้อยลง โดยผลสำรวจจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในปี 2023 ระบุว่า 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 1,310 คนไม่ต้องการมีบุตรจากความกังวลด้านค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู สภาพสังคม และค่านิยมการใช้ชีวิตอิสระ ปัจจัยเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการมีลูกไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เป็น “ทางเลือก”

หากพิจารณาข้อมูลด้านประชากรประเทศกลุ่ม ASEAN 5 พบว่า สถานการณ์จำนวนประชากรไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาคนี้ โดย UN ESCAP คาดการณ์ว่าประชากรในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงปี 2050 และในอีก 30 ปีข้างหน้ากลุ่มประเทศดังกล่าวจะมีค่าเฉลี่ยมัธยฐานอายุประชากรเพียง 39 ปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 29 ปี จึงพอจะอนุมานได้ว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงและมีอายุประชากรสูงกว่าประเทศในภูมิภาค จนอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานในอนาคตเหมือนในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญปัญหาประชากรลดลงในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยจำนวนประชากรวัยทำงานอายุ 15-64 ปีของญี่ปุ่นในปี 2024 เทียบกับปี 2000 ลดลงราว 15% ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น การพยาบาล, ร้านอาหาร, ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวต่ำเฉลี่ยเพียง 0.7% ต่อปีในช่วงกว่าสองทศวรรษ

การเปรียบเทียบสถานการณ์ประชากรไทยกับประเทศอื่น ๆ ช่วยให้เข้าใจถึงความสามารถในการแข่งขันของตลาดแรงงานในเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และช่วยฉายภาพแนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับไทยในอนาคต อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลงมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องอาศัยเวลา การให้ความสำคัญกับคุณภาพของประชากรจึงอาจเป็นหนทางรอดในยุคที่วิกฤตประชากรเริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศไทย 

คุณภาพแรงงาน : กุญแจสำคัญในยุคประชากรหดตัว

ในช่วงที่จำนวนประชากรไทยเข้าสู่ขาลง การยกระดับรายได้ต่อหัวจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต แต่จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานในปี 2023 พบว่า 60% ของกำลังแรงงานไทยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Industry) ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตค่อนข้างน้อย เช่น ภาคการเกษตร การก่อสร้าง กิจการโรงแรมและบริการด้านอาหาร ขณะที่ในปี 2025 ผลิตภาพแรงงานไทยรั้งอันดับที่ 104 จาก 186 ประเทศทั่วโลกจากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้าง ดังนั้นหากจะยกระดับผลิตภาพแรงงานของประเทศ ควรเร่งพัฒนาทักษะของแรงงาน เพื่อเปิดทางในการเปลี่ยนผ่านของแรงงาน ให้มีทักษะเพียงพอในการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิตได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านทักษะแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยในปี 2023 ดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (GTCI) ได้มีการจัดอันดับทักษะดิจิทัล ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 72 จาก 81 ประเทศทั่วโลก ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น บรูไนดารุสราม (อันดับ 1), มาเลเซีย (8), สิงคโปร์ (21) และอินโดนีเซีย (55) นอกจากนี้ มีเพียง 14% ของแรงงานไทยที่อยู่ในอาชีพทักษะสูง ซึ่งสามารถใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียนที่ 20%

อีกทั้ง ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ยังชี้ให้เห็นว่าไทยมีคะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 ไทยมีคะแนนเฉลี่ย 394 คะแนน เป็นอันดับที่ 63 จากทั้งหมด 81 ประเทศ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ขณะที่ค่าเฉลี่ยจำนวนปีในระบบการศึกษาของเด็กไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ใกล้เคียงกับประเทศที่มีคะแนน PISA ระดับสูง อย่างสิงคโปร์, เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น สะท้อนปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยคือ “ใช้เวลาเรียนมาก แต่ให้ประสิทธิภาพน้อย” 

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางปัญหาวิกฤตจำนวนประชากรไทย ด้านคุณภาพประชากรไทยก็นับว่าเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข หากไทยต้องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานและเพิ่มทักษะทางเทคโนโลยีของประชากร เพราะหากไม่มีการยกระดับศักยภาพแรงงานอย่างเพียงพอ ไทยอาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างถาวร

โครงสร้างประชากรเปลี่ยน แล้วเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนอกจากจะเป็นปัจจัยกดดันให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยลดลงแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้านอื่น ๆ เช่น

1) กำลังแรงงานและผลิตภาพแรงงานลดลง การหดตัวของจำนวนประชากรในวัย 15-59 ปี จะทำให้กำลังแรงงานลดลง ประกอบกับอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (ดัชนีที่แสดงภาระที่คนวัยทำงานต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงวัย) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบในปี 2014 คนไทยวัยทำงาน 100 คนรับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุราว 22 คน ในปี 2024 คนวัยทำงาน 100 คนเท่าเดิมต้องรับภาระดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 31 คน ซึ่งอาจทำให้แรงงานบางส่วนยอมลดชั่วโมงการทำงาน เลือกทำงานที่มีความยืดหยุ่น หรือเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เพื่อให้มีเวลาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้อาจส่งผลให้แรงงานเผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้และทำงานที่มีผลิตภาพต่ำลง

2) ค่าใช้จ่ายการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อและการออมที่ลดลง ประชากรสูงอายุมักมีรายได้จากการทำงานน้อยกว่าค่าใช้จ่าย ผู้สูงอายุต้องอาศัยรายได้จากบุตรหลาน เบี้ยผู้สูงอายุ เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และจำเป็นต้องนำเงินออมที่สะสมไว้มาใช้จ่าย ทำให้สถานการณ์การออมของประเทศอาจลดลง นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีเพียง 14.4% จาก 23 ล้านครัวเรือนที่มีการวางแผนการเก็บออมไว้สำหรับเกษียณอายุ และสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ สะท้อนความเสี่ยงที่คนไทยอาจมีเงินออมไม่เพียงพอที่จะเข้าสู่วัยเกษียณ สำหรับด้านการบริโภค กำลังซื้อภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายภายในบ้านและการบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาคธุรกิจที่จะต้องปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

3) รัฐเก็บรายได้ภาษีน้อยลง แต่รายจ่ายบำนาญและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขและระบบประกันสังคม นำมาซึ่งรายจ่ายเพื่อสวัสดิการผู้สูงอายุและสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลดลงของจำนวนประชากรวัยทำงานจะทำให้ฐานภาษีของประเทศแคบลง ส่งผลให้จัดเก็บภาษีเงินได้ลดลงตามไปด้วย ความไม่สมดุลกันของรายได้และรายจ่ายภาครัฐนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังหนี้สาธารณะที่กำลังเพิ่มขึ้นเข้าใกล้เพดานที่ 70% ของ GDP ในอนาคตอันใกล้ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องเผชิญภายใต้ปัญหาโครงสร้างประชากร

บทสรุป

แต่หากผู้กำหนดนโยบายหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ไทยอาจพลิกกลับมามีข้อได้เปรียบจากทักษะของแรงงาน ซึ่งจะพร้อมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แนวทางต่อไปนี้จึงอาจสร้างความพร้อมให้แรงงานไทยสามารถเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ  ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณได้ในเวลาเดียวกัน

มิติเชิงคุณภาพ

(1) เน้นพัฒนาคุณภาพของประชากร ผ่านการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการนำความรู้ไปใช้จริง มากกว่าแค่เนื้อหาวิชาการ พร้อมกับส่งเสริมการบูรณาการความรู้จากรายวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) (2) สร้างองค์ความรู้ พัฒนาและเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทย เช่น การจัดอบรมระยะสั้นให้ปรับเปลี่ยนงานได้เร็ว พร้อมสร้างแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานเห็นคุณค่าของการ Reskill และ Upskill โดยเฉพาะในทักษะยุคดิจิทัล

มิติเชิงปริมาณ

(1) ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในตลาดแรงงานนานขึ้น เช่น การปรับเพิ่มอายุเกษียณ การส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อการทำงานและจ้างงานผู้สูงอายุ (2) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานจำนวนมากในกระบวนการผลิตเดิม ตลอดจนพิจารณานำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในประเทศ แต่ต้องวางแผนการพิจารณาคัดเลือกแรงงานที่ดี (3) ส่งเสริมนโยบายการมีลูกผ่านแรงจูงใจทางภาษี การเพิ่มสวัสดิการทางสังคมเพื่อเด็กและครอบครัว เช่น การพัฒนาคุณภาพศูนย์รับเลี้ยงเด็ก การยกระดับสวัสดิการลาคลอด หรือเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน

ทั้งนี้การแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรต้องอาศัยเวลา และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาชน เพื่อให้ไทยสามารถหลุดจากวิกฤตประชากร และเพิ่มศักยภาพปัจจัยทุนมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย
 

________
เผยแพร่ใน Thairath money วันที่ 5 กรกฎาคม 2025

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ