Consumer Biotechnology : เทคโนโลยีชีวภาพที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการยกระดับคุณภาพชีวิตประจำวัน
Consumer Biotechnology กำลังมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งด้านสุขภาพ ความงาม ไลฟ์สไตล์ และความยั่งยืน เป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่
ทำความรู้จัก Consumer Biotechnology (เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับผู้บริโภค)
เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญแก่โลก โดยปัจจุบัน Biotechnology ถูกประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์สำหรับการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA และการรักษาแบบแม่นยำ (Precision medicine), การเกษตรสำหรับการใช้พันธุวิศวกรรม (DNA) ในการปรับปรุงพืชให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อม, พลังงานสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชหรือจุลินทรีย์ และอีกด้านที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับผู้บริโภค หรือ Consumer Biotechnology ซึ่งเป็นการนำความก้าวหน้าด้าน Biotechnology มาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล และส่งเสริมความยั่งยืน
Consumer Biotechnology ครอบคลุมในหลายมิติ ได้แก่ 1. อาหาร เช่น โปรตีนทางเลือกที่ใช้แทนเนื้อสัตว์, การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiome) เพื่อแนะนำโพรไบโอติกหรืออาหารเสริมที่เหมาะกับ DNA ของแต่ละคน 2. การออกกำลังกาย เช่น โปรแกรมฟิตเนสที่ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายตามข้อมูล DNA 3. ความงาม เช่น สกินแคร์ที่เหมาะกับลักษณะผิวและไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ในร่างกาย) รวมถึงการใช้ยีนบำบัดเพื่อแก้ปัญหาผมร่วง 4. สุขภาพการนอน เช่น การใช้แหวนอัจฉริยะในการติดตามคุณภาพการนอนหลับ และ 5. เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เช่น การใช้วัสดุชีวภาพจากเห็ดรา (Mycelium), ใบสับปะรด หรือสาหร่าย เพื่อผลิตสินค้าแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจ Consumer Biotechnology ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และถูกจับตามองว่าจะกลายเป็น 1 ใน 11 สมรภูมิการแข่งขันทางการค้าแห่งใหม่ที่สำคัญของโลกในอนาคตร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างระบบอัตโนมัติ, หุ่นยนต์ และโดรนโดยสาร โดย McKinsey Global Institute ประเมินว่ามูลค่าตลาดดังกล่าวในปี 2022 อยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4%-12%CAGR จนในปี 2040 มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 1.7-6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 เซกเมนต์หลัก ได้แก่ 1. ตลาดโปรตีนทางเลือก (Alternative proteins) เช่น เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cell-based meat) และเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat) ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 7%-25%CAGR ตัวอย่างเช่น UPSIDE Foods บริษัทผู้พัฒนาเนื้อไก่แบบ Cell-based meat ที่ผ่านการอนุมัติจาก FDA และ USDA เพื่อวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกอย่าง Nestlé ก็ได้เข้าสู่ตลาดอาหาร Plant-based ผ่านแบรนด์ Sweet Earth รวมถึงบริษัท DANONE และ KraftHeinz ด้วยเช่นกัน 2. ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ (Consumer product & Services) เช่น ชุดตรวจ DNA กับสกินแคร์เฉพาะบุคคล โดยมีมูลค่าตลาดราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4-9% CAGR ตัวอย่างเช่น ZOE แพลตฟอร์มด้าน Personalized health ของอังกฤษที่ให้บริการวิเคราะห์สุขภาพเชิงลึกผ่านการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ ทั้งระดับไขมันในเลือด, Gut microbiome และระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการให้คำแนะนำด้านโภชนาการด้วยการวิเคราะห์อาหารจากภาพถ่ายร่วมกับข้อมูลสุขภาพเฉพาะบุคคลผ่านระบบ AI ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 3.2 ล้านครั้งต่อเดือน และ 3. ตลาดวัสดุและสารเคมีชีวภาพ (Biomaterials & Biochemicals) เช่น เส้นใยจาก Mycelium หรือสาหร่าย ที่มีมูลค่าตลาดราว 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยที่ 3-5%CAGR ตัวอย่างเช่น Hermès แบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกได้ร่วมมือกับ MycoWorks ผู้พัฒนาหนังชีวภาพจาก Mycelium ในการผลิตกระเป๋ารุ่น Victoria ที่วางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปลายปี 2021 ส่วน Adidas ใช้หนังจาก Mycelium และโฟม EVA จากข้าวโพดในการผลิตรองเท้ารุ่น Stan Smith Mylo
การเติบโตของ Consumer biotechnology ในประเทศไทย
ในประเทศไทย ตลาด Consumer biotechnology ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีโอกาสเติบโต โดย SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าตลาดในปี 2023 อยู่ที่ราว 650 ล้านบาท1 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโปรตีนทางเลือกกับบริการตรวจ DNA โดยตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. พฤติกรรมผู้บริโภคที่มุ่งเน้นการมีสุขภาพดีในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับการยืดช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี (Healthspan) ให้เข้ากับอายุขัย (Lifespan) สะท้อนจากข้อมูลของกรมอนามัยร่วมกับ LINE MAN พบว่า ในปี 2024 คนไทยบริโภคน้ำตาลน้อยลงจากการสั่งเมนูไม่หวานเพิ่มขึ้น 160%YoY ซึ่งการบริโภคน้ำตาลน้อยลงจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปีที่ผ่านมาของไทย จะช่วยส่งเสริมความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพและเวลเนสเพิ่มขึ้น 2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น AI และ Biotechnology จะช่วยเร่งให้การวิจัยและพัฒนารวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดต้นทุนในการถอดรหัส DNA มนุษย์ โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NHGRI) พบว่าต้นทุนการถอดรหัส DNA มนุษย์ลดลงจาก 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2003 เหลือต่ำกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชีวภาพได้ง่ายขึ้น 3. การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น รัฐบาลไทยประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการทำวัสดุชีวภาพสำหรับเสื้อผ้า เช่น ใบสับปะรด ยางพารา มันสำปะหลังและสาหร่าย 4. กระแสความต้องการสินค้ายั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลสำรวจของ SCB EIC เกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืนของชาวไทยในช่วง ไตรมาส 2/2024 จำนวน 1,103 ราย พบว่า ชาวไทยเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 12% เพื่อสนับสนุนสินค้าและบริการที่ยั่งยืน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคทั่วโลกจากผลสำรวจโดย PWC ที่ 10%
อย่างไรก็ดี ความท้าทาย 3 ด้านหลักที่ธุรกิจ Consumer Biotechnology จำเป็นต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ 1. การพัฒนาโมเดลธุรกิจที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและสามารถสร้างรายได้ระยะยาว เช่น การตรวจ DNA ในราคาที่จับต้องได้หรือร่วมจัดแพ็กเกจกับประกันสุขภาพและบริษัทเอกชน, การบริการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมหรือ Gut microbiome ควรต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สกินแคร์ และการเสนอโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผลตรวจของแต่ละบุคคล 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้กับสินค้าทั่วไป ทั้งในแง่คุณภาพและราคาที่เหมาะสม ทั้งกรณีการผลิต Cell-based meat ให้มีความหลากหลายและการพัฒนาสินค้าจากวัสดุชีวภาพที่มีดิไซน์ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความยั่งยืน 3. การบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากข้อมูลที่ใช้มีความอ่อนไหวสูง เช่น ข้อมูลสุขภาพกับ DNA จึงต้องมีระบบการจัดการข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
Consumer Biotechnology กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งในด้านสุขภาพ ความงาม ไลฟ์สไตล์ และความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเปิดตลาดใหม่ๆ
1 มูลค่าตลาดประเมินครอบคลุมทั้งในกลุ่ม Alternative proteins, Consumer product & Services และ Biomaterials
________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2025