SHARE
SCB EIC ARTICLE
10 มิถุนายน 2012

Sovereign Wealth Fund

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

ผู้เขียน:  ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

 156279982.jpg

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund)
 

ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2555
โดย ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

"นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวอย่างมั่นใจว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปได้ พร้อมยืนยันว่าไม่มีนโยบายนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ไปจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (17 พฤษภาคม 2555)

 
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ
(Sovereign Wealth Funds) คืออะไร?

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ คือ กองทุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อนำสภาพคล่องส่วนเกินของประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ อย่างเช่น หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ทองคำ หรือบางประเทศอาจนำเงินกองทุนนี้ไปลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลงทุนระยะยาว มีสภาพคล่องต่ำ ยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนโยบายการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำเงินส่วนนี้เข้ารักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนได้ทันท่วงที

สภาพคล่องส่วนเกินของประเทศที่สามารถนำมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาจากที่ใดบ้าง?

ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากการเกินดุลการค้าและบริการของประเทศ หรือมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดหุ้น หรือตราสารการเงินอื่นๆ โดยเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามานั้นจะต้องถูกนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆแข็งค่าขึ้น ดังนั้นพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าเร็วเกินไปจนอาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน โดยการเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาด้วยสกุลเงินของประเทศ จึงเป็นเหตุให้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศในธนาคารกลางเพิ่มสูงขึ้น (สภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นในระบบก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน) ฉะนั้นสำหรับประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าเป็นจำนวนมาก มักจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากและอาจมากเกินความจำเป็น จึงมีแนวคิดในการแบ่งส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

กองทุนความมั่งคั่งของต่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง?

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามจุดกำเนิด (Origin) หรือแหล่งที่มาของเงินทุนที่นำมาจัดตั้งกองทุน นั่นคือ

  1. กองทุนความมั่งคั่งที่มีแหล่งที่มาของเงินทุนจากรายได้การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)  มักเป็นกองทุนที่จัดตั้งโดยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในแถบตะวันออกกลางที่ได้ดุลการค้าจากการส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ โดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งแรกของโลกคือ Kuwait Investment Authority ของประเทศคูเวต จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1953 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือ Abu Dhabi Investment Authority ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากการส่งออกน้ำมันเช่นเดียวกัน ตัวอย่างสินทรัพย์ที่ทั้ง 2 กองทุนนี้ไปลงทุนคือ ลงทุนซื้อหุ้นของสถาบันการเงินชื่อดังในสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Citigroup เป็นต้น โดยผลประกอบการของทั้ง 2 กองทุนนี้ค่อนข้างน่าพอใจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ต่อปี

    นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่จัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ ซาอุดีอาระเบีย บรูไน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น
  2. กองทุนความมั่งคั่งที่ไม่ได้มีแหล่งเงินทุนจากรายได้สินค้าโภคภัณฑ์ (Non-commodity) ประเทศที่จัดตั้งกองทุนประเภทนี้มักเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าจากการส่งออกสินค้าอื่นๆ (ไม่ใช่น้ำมัน) ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนจัดตั้งกองทุน China Investment Corporation (CIC) โดยนำเงินทุนสำรองของประเทศไปลงทุนในหุ้นของสถาบันการเงินชื่อดังในสหรัฐ อย่างเช่น Morgan Stanley, Blackstone Group และ Visa เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกองทุนความมั่งคั่งที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีนั่นคือ กองทุน Temasek Holding ของประเทศสิงคโปร์ ที่เข้ามาซื้อหุ้น ชินคอร์ป ในประเทศไทย ซึ่งแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการจัดตั้งนั้นมาจากการเกินดุลงบประมาณของรัฐบาล (Fiscal surplus)

ประเทศไทยควรจะพิจารณาปัจจัยใดบ้างหากต้องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ?

ต้องพิจารณาว่าแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศของไทยที่สำคัญนั้นมาจากแหล่งใดบ้าง ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 77% ของ GDP ในปี 2011 และบางปีมียอดการเกินดุลการค้าสูงถึงราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในปี 2010) อย่างไรก็ดีรายได้จากการส่งออกของไทยมักขึ้นลงไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างในปี 2008 ที่ดุลการค้าติดลบถึงราว  1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ทำให้ประเทศไทยมีความไม่แน่นอนในแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศมากกว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน รวมถึงประเทศจีนและสิงคโปร์ (รูปที่ 1)

3081_20120625171804.jpg


นอกจากนี้การที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมฐานะสุทธิ Forward) โดยส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วจนเกินไปอันเนื่องมาจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างมากตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น เห็นได้จากการที่ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศเร่งขึ้นเร็วกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสะสม1  โดยเฉพาะหลังจากปี 2009 เป็นต้นมา (รูปที่ 2) โดยสาเหตุหนึ่งที่มีเงินไหลเข้าประเทศมากเพราะธนาคารกลางของประเทศหลักดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกาที่อัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ (QE) ซึ่งเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศไทยนี้ ก็เปรียบเสมือนหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศที่ไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะต้องชำระคืนเมื่อไร ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่สามารถกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทยได้ตลอดเวลา และหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง การมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่ในปริมาณมากก็จะเป็นเกราะป้องกันที่สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดวิกฤติการณ์ค่าเงินได้

3082_20120625172033.jpg

หากประเทศไทยต้องการที่จะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติโดยนำแหล่งที่มาของเงินทุนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่หลายฝ่ายมองว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว ควรจะต้องพิจารณาและศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนในการแบ่งส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศไปจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนในยามที่เกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกนอกประเทศฉับพลัน หรือเกิดวิกฤติการเงินโลก ในขณะเดียวกันควรจะต้องมีการกำหนดความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ และสามารถรองรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน มิฉะนั้นแล้วการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดีต่อประเทศชาติก็เป็นได้


1 แสดงถึงรายได้เงินตราต่างประเทศสะสมที่ได้รับจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ