SHARE
FLASH
30 เมษายน 2025

กนง. ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องตามคาด SCB EIC มองดอกเบี้ยนโยบายจะลดอีก 2 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้

SCB EIC มองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก

กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25%

กนง. มีมติ 5:2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% โดยมีกรรมการฯ 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% การลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้มีที่มาจากการประเมินของ กนง. ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ขณะที่ภาวะการเงินยังคงตึงตัว มองไปข้างหน้า กนง. เห็นว่าสถานการณ์สงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อและทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและการผลิตโลก ซึ่งทำให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงมาก

ครั้งนี้ กนง. ไม่ได้ให้ประมาณการ Baseline ของเศรษฐกิจไทย แต่มองเป็นฉากทัศน์จากความไม่แน่นอนที่ยังสูงมาก

  • กนง. มองว่าความตึงเครียดทางการค้าโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 เป็นระยะเริ่มต้นของ “Storm” ที่กำลังจะเข้ามามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ภาพจุดจบของ Storm ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกยังไม่ชัดเจน
  • สำหรับมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. นำเสนอประมาณการใน 2 ฉากทัศน์ โดยไม่ได้ระบุชัดว่ามองกรณีใดเป็นกรณีฐาน (รูปที่ 1) ได้แก่

    1) Reference Scenario มีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะคงระดับภาษีสินค้านำเข้าเท่ากับอัตราที่มีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าไทยจะถูกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% (ยกเว้นสินค้าบางหมวดที่มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติม) โดยสถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ จะทอดยาวถึงสิ้นปี 2026 ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 จะขยายตัวได้ที่ 2.0%YOY และ 1.8%YOY ตามลำดับขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.5% และ 0.8% ตามลำดับ

    2) Alternative Scenario มีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษี Reciprocal tariff ครึ่งหนึ่งของที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ Technical recession ภายในปีนี้ ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 จะขยายตัวได้ที่ 1.3%YOY และ 1.0%YOY ตามลำดับขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ
  • กนง. มองว่าไม่ว่าสถานการณ์การค้าโลกจะออกมาในกรณีใด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัย และมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นมาก

กนง. สื่อสารชัดว่านโยบายการเงินจำเป็นต้อง “ผ่อนคลาย”

ในการสื่อสารครั้งนี้ กนง. มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อสถานการณ์การค้าโลกที่มีความตึงเครียดและผันผวน โดยไม่ได้ให้คำนิยามว่าเป็น Easing cycle แต่อย่างใด เนื่องจาก Shock ที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไม่ได้มีลักษณะที่เป็น Shock ครั้งเดียวและรุนแรงดังเช่นในวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) แต่พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารในครั้งก่อน ๆ ที่พยายามเน้นย้ำว่านโยบายการเงินยังควรมีสถานะเป็นกลาง (Neutral) ต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือไม่ได้เร่งหรือฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ

Button-01-(1).jpg

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ