SHARE

ค่าใช้จ่ายโตไวกว่าเงินเฟ้อ เรื่องจริงหรือคิดไปเอง?

อัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของปริมาณต่อหน่วยบริโภคจริงที่ลดลง แม้ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เท่ากับว่าเรายังต้องจ่ายเงินมากขึ้น

อัตราเงินเฟ้อตัวชี้วัดสำคัญของนโยบายการเงิน

“อัตราเงินเฟ้อ” หรืออัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index : CPI) เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยทั่วไป สิ่งที่เราได้ยินอยู่ตลอดคือเงินเฟ้อไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วยังอยู่ในระดับต่ำ ย่อมหมายความว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำ เรื่องนี้เรารู้สึกไปเองหรือมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกันแน่?

รูปที่ 1 : อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) และอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย

Inflation-050325_01.png

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเติบโตสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยมักจะเติบโตสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งสองตัวนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ เช่นในปีที่อัตราเงินเฟ้อเป็นบวก ค่าใช้จ่ายก็มักจะโตขึ้นเช่นกัน โดยค่าใช้จ่ายครัวเรือนโตเฉลี่ยถึง 3.1% แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง 1.8%

ตัวเลขล่าสุดปี 2566 พบว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 23,695 บาท เทียบกับปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 22,372 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.9% (แท่งสีม่วง) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% (แท่งสีส้ม)

หรือเช่นในปี 2557 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 1.89% เนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศลดลงอย่างมากส่งผลกดดันอัตราเงินเฟ้อไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับสูงขึ้นจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเริ่มกลับมา ก็มีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงขึ้นมากถึง 9.6%  โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบสูงขึ้นกว่า 8% และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูงขึ้นกว่า 9%

ทั้งนี้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนก็อาจสวนทางกันได้ เช่น ในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อติดลบ เป็นผลจากวิกฤตการเงินโลก และการปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมัน ในขณะที่ราคาสินค้าอื่น ๆ ไม่ได้ปรับตัวลดลงตาม สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายยังคงเติบโตอยู่ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ สูงขึ้นกว่า 1.5% และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูงขึ้นเกือบ 1%

หรือในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อติดลบ เป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายยังคงโต เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเวชภัณฑ์และการตรวจรักษาพยาบาล ที่มีความจำเป็นมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงล็อกดาวน์ นอกจากนั้นยังมีมาตรการเยียวยาพร้อมเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ สูงขึ้นกว่า 8% และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ และการตรวจรักษาพยาบาลสูงขึ้นกว่า 20% อย่างไรก็ดี แม้ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนดูจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ตัวชี้วัดทั้งสองตัวยังมีความแตกต่างกันอยู่

ความแตกต่างดังกล่าวมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยปัจจัยแรกเกี่ยวข้องกับนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งได้แบ่งหมวดหมู่ไว้ 3 หมวดใหญ่ ดังนี้ (1) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และการศึกษา ฯลฯ (2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เช่น อาหารสด อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงยาสูบ ฯลฯ และ (3) ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น ภาษี ค่าบริการทางการเงิน ค่าประกันชีวิต เงินบริจาค ค่าปรับทางกฎหมาย และดอกเบี้ยจ่าย ฯลฯ ซึ่งหากนำสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อมาจัดตามหมวดหมู่เหล่านี้ จะพบว่า ตะกร้าเงินเฟ้อไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในหมวดหมู่สุดท้ายที่มีน้ำหนักกว่า 10% ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีภาระหนี้ย่อมสูงขึ้นตาม ซึ่งจะไม่ถูกรวมอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ราคาและความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ลองมาดูตัวอย่างนี้ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและความต้องการสินค้า กับค่าใช้จ่าย

เมื่อปีที่แล้วสินค้า A ราคา 10 บาท แต่ปีนี้ราคา 15 บาท ถ้าเราจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นจำนวน 1 ชิ้น เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเราสูงขึ้น 5 บาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคานั้น มีตัวชี้วัดคือ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่เราคุ้นหู แม้ว่าค่าใช้จ่ายและอัตราเงินเฟ้อจะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ทั้งสองก็มีความแตกต่างกันอยู่ โดยที่ค่าใช้จ่ายมุ่งเน้นไปที่การวัดระดับค่าใช้จ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาต่อหน่วยและปริมาณที่ใช้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการเท่านั้น ดังนั้น อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายได้อย่างครบถ้วน สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ราคาสินค้าและบริการในตะกร้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อของประเทศอาจแตกต่างจากราคาจริงที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับรสนิยม ความชอบ และพื้นที่ที่อาศัยอยู่ แม้จะเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแต่ราคาสินค้าก็สามารถแตกต่างกันได้

นอกจากนี้ แม้ว่าราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น จาก 1 ชิ้นเป็น 2 ชิ้น ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้เราต้องใช้สินค้าหรือบริการในปริมาณที่มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือระดับรายได้ที่เปลี่ยนแปลง หรือความจำเป็นต่าง ๆ เช่น มีสมาชิกในครัวเรือนมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเงินเฟ้อไม่ได้สะท้อนในมุมนี้ นอกจากนั้น “Shrinkflation” หรือการที่ผู้บริโภคอย่างเรามักไม่ทันสังเกตว่ากำลังจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาต่อชิ้นเท่าเดิมแต่ได้รับสินค้าในปริมาณที่น้อยกว่าเดิม ก็เป็นสาเหตุด้วยเช่นเดียวกัน

ผลกระทบของ Shrinkflation เป็นอย่างไร ผู้อ่านหลายคนคงมีประสบการณ์ในการซื้อขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ แล้วดูเหมือนว่าจะทานหมดเร็วกว่าเดิม ทั้งที่หน้าตาแพ็กเกจยังคงเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเราทานเร็วขึ้น หรือปริมาณของข้างในลดลง เช่น จากเดิมเคยน้ำหนัก 50 กรัม อาจเหลือเพียง 45 กรัม แต่ยังขายราคาเดิม หรือเครื่องดื่มที่เคยมีขนาด 500 มล. แต่ปรับลดเหลือ 450 มล. หรือสบู่หรือแชมพูที่เคยใช้ได้นาน อาจมีปริมาณลดลงเล็กน้อย หรือกระดาษชำระที่ดูเหมือนม้วนเท่าเดิม แต่ความยาวของกระดาษในแต่ละม้วนลดลง โดยมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้าสำหรับสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร พบว่ามีสินค้าประมาณ 35% ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และ 80% ของการเปลี่ยนแปลงเป็นการลดขนาดหรือปริมาณสินค้าลง โดยในแต่ละเดือนสินค้าในหมวดอาหารมีการลดปริมาณลงสูงสุดถึง 2.67% และในบางผลิตภัณฑ์ เช่น ช็อกโกแลต มีการลดปริมาณลงสูงสุดถึง 62.69% ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงขายในราคาเท่าเดิมอยู่ ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเลย

ผู้อ่านคงพอได้เห็นภาพรวมแล้วว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของปริมาณต่อหน่วยบริโภคจริงที่ลดลง แม้ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เท่ากับว่าเราก็ยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าในปริมาณเท่าเดิม ดังนั้น การปรับปรุงการจัดเก็บเงินเฟ้อให้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของราคาและปริมาณ เพื่อให้สะท้อนค่าครองชีพของผู้บริโภคได้ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยมีบางประเทศเริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้และได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดเก็บเงินเฟ้อแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาที่มี Personal Consumption Expenditures (PCE) Price Index เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของผู้บริโภคได้แม่นยำกว่า CPI โดย PCE เก็บข้อมูลจากการสำรวจยอดขายของภาคธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการที่มีการบริโภคจริงทั้งหมด อีกทั้ง ยังมีการปรับเปลี่ยนตะกร้าสินค้าแบบไดนามิก ทำให้สะท้อนผลของการหันไปใช้สินค้าทดแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ดีกว่าการกำหนดตะกร้าสินค้าของ CPI แบบคงที่ ดังนั้น การจัดเก็บเงินเฟ้อแบบ PCE จึงสามารถสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคได้ดีกว่า

แม้อัตราเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ก็สะท้อนมุมมองที่แตกต่างกัน การดูค่าเฉลี่ยราคาระดับประเทศอาจไม่สะท้อนราคาสินค้าเฉลี่ยของแต่ละบุคคล และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการซื้อสินค้าได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การจดบันทึกรายรับรายจ่ายของตัวเองจะช่วยให้เราเข้าใจการใช้จ่ายของตัวเองได้ดีขึ้น และสะท้อนต้นทุนค่าครองชีพของตัวเราได้ดีกว่าการติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อระดับประเทศเพียงอย่างเดียว

________
เผยแพร่ใน Thairath money วันที่ 2 มีนาคม 2025

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ