SHARE
SCB EIC BRIEF
04 กุมภาพันธ์ 2025

Hydrogen Drive : ขุมพลังขับเคลื่อนยนตรกรรมแห่งอนาคต

ผู้ผลิตรถยนต์ต่างหันมาเร่งพัฒนายนตรกรรมไร้มลพิษ (ZEV) โดยหนึ่งในแหล่งพลังงานที่น่าจับตา คือ "ยานยนต์ขุมพลังไฮโดรเจน (FCEV)"

ยานยนต์ขุมพลังไฮโดรเจน (FCEV)

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างหันมาเร่งพัฒนายนตรกรรมไร้มลพิษ (ZEV) โดยหนึ่งในแหล่งพลังงานที่น่าจับตา คือ "ยานยนต์ขุมพลังไฮโดรเจน (FCEV)" ซึ่งเจ้าตลาดเดิมในกลุ่มรถยนต์สันดาป (ICE) ถือเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา อาทิ TOYOTA และ HYUNDAI ต่างมีโมเดลรถยนต์นั่ง FCEV วางขายแล้ว แบรนด์ละ 1 รุ่น ขณะที่ HONDA BMW และ VOLKSWAGEN กำลังอยู่ในช่วงศึกษาและทดลองใช้งาน ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์เชิงพาณิชย์อีกหลายรายก็กำลังตื่นตัวกับการต่อยอดพัฒนาเครื่องยนต์ไฮโดรเจนสู่การใช้งานในตลาดรถบรรทุกเช่นกัน1 โดยความเป็นไปได้ที่ยานยนต์ FCEV จะกลายเป็นยนตรกรรมแห่งอนาคตมาจากจุดแข็ง 3 ด้าน คือ  1) ระยะขับขี่เหมาะสมกับการเดินทางและขนส่งระยะไกล เพราะสามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) ถึง 250 เท่า 2) ระยะเวลาการเติมเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับรถ ICE และ 3) น้ำหนักตัวรถ FCEV เบากว่า BEVทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่า2

แม้ว่ารถ FCEV จะมีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่ายานยนต์ประเภทอื่น ๆ ในหลายด้าน แต่การที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงตั้งไข่ (Early stage) ทำให้ระดับความสนใจและการเปิดรับจากฝั่งผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ โดยยอดขายรถ FCEV ทั่วโลกในปี 2024 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 2 หมื่นคัน3 หรือคิดเป็นเพียง 0.02% ของยอดขายรถทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาด FCEV ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับอุตสาหกรรม BEV ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง จากตัวเลือกในตลาดที่หลากหลาย ทั้งระดับราคา รูปลักษณ์ และค่ายผู้ผลิต กอปรกับโครงสร้างพื้นฐาน EV ที่มีความพร้อมและครอบคลุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ SCB EIC จึงประเมินว่า อุตสาหกรรม FCEV จะยังไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในตลาดรถยนต์โลกภายใน 5-10 ปีนี้ เนื่องจากผู้ผลิตยังต้องมุ่งพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ควบคู่กับการกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนหันมาสนใจลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับกระบวนการผลิต ขนส่ง และการกักเก็บไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง

การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮโดรเจนของไทย

สำหรับประเทศไทย พัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮโดรเจนยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเช่นเดียวกับตลาดโลกซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการศึกษา วิจัย และการเสริมสร้างระบบนิเวศ FCEV โดย EEC ได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นระหว่างปี 2024 - 2026 ในการดึงดูดเงินลงทุนกว่า 400,000 ล้านบาท ให้เกิดขึ้นภายใต้อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green Industry) และคาดว่าพันธมิตรหลักจะมาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความล้ำสมัยในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ธุรกิจในประเทศไทยก็ได้ใช้พื้นที่ EEC เป็นศูนย์กลางสำหรับการทดลองเทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคขนส่ง อาทิ โตโยต้า มอเตอร์ ได้นำรถบรรทุกและรถบัส FCEV มาทดลองใช้งานจริงเพื่อศึกษาแนวทางลดต้นทุนโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน ปตท. ก็ได้ริเริ่มจัดตั้งต้นแบบปั๊มไฮโดรเจน เพื่อพัฒนาการออกแบบสถานีบริการเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพและครบวงจร ทั้งนี้การผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ FCEV ของไทยเติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จำเป็นต้องมีการเพิ่มความเข้มข้นของแนวนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นไปที่พลังงานไฮโดรเจนอย่างเจาะจง อาทิ 1) กำหนดเป้าหมายและวงเงินอุดหนุนการผลิตและใช้งาน FCEV ในประเทศภายใต้แผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 2) บูรณาการไฮโดรเจนเข้ากับแผนพลังงานของประเทศ (PDP) และ 3) สร้างความร่วมมือกับประเทศในกลุ่ม ASEAN ในการริเริ่มตลาดไฮโดรเจนระดับภูมิภาคและร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศ FCEV อนึ่ง การปรับเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความชัดเจนในการสนับสนุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานและเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและประชาชนเกิดความตื่นตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยคงบทบาทในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกไว้ได้ต่อไป ท่ามกลางนวัตกรรมยานยนต์ในอนาคตซึ่งจะมีความก้าวหน้าและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบสันดาป ไฮบริด ไฟฟ้าล้วน หรือพลังงานไฮโดรเจน


1 ผู้ผลิตยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่เริ่มพัฒนา FCEV ในกลุ่มรถบรรทุก อาทิ TOYOTA, HYUNDAI, Daimler Trucks และ General Motors เป็นต้น
2 อ้างอิงขอมูลจาก EV and FCEV market analyses (BNEF) และ FCEV development and hydrogen costs (IEA)
3 อ้างอิงข้อมูลประมาณการจาก SNE Research และ S&P Global ณ ม.ค. 2025


________
เผยแพร่ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ