SHARE

เศรษฐกิจไทยไร้ “พระเอก”

"ระบบเศรษฐกิจที่ไร้พระเอก" ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนใดตัวหนึ่งเป็นหลัก แต่เป็นระบบเน้นสร้างความสมดุลและการเติบโตเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและทั่วถึ

ปี 2567 ที่ผ่านไป ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาทางเศรษฐกิจหลายเวที สิ่งหนึ่งที่มักจะได้ยินเกือบทุกครั้งในช่วงท้ายของงานที่เปิดให้มีการถาม-ตอบ คือคำถามว่า “ความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคืออะไร” แม้ผู้บรรยายจะมาจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่คำตอบส่วนใหญ่กลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเน้นอธิบายถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและจบลงด้วยประโยคที่ว่า ไทยยังอาจมีหวัง “ถ้า” หากมีการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ มากกว่าจะให้คำตอบว่า แท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่พอจะเป็นความหวังหลักของเศรษฐกิจได้ต่อจากนี้ สะท้อนว่าความหวังของเศรษฐกิจบางทีอาจเริ่มดูริบหรี่ลง จากคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้งจึงกลายเป็นความสงสัยที่อยากชวนติดตามว่า เศรษฐกิจไทยในปีใหม่นี้และปีต่อไป ยังมีแรงส่งอะไรพอเหลืออยู่ หรือ “พระเอก” ที่จะพาเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ความท้าทายจากภายนอกประเทศมีมากขึ้นท่ามกลางความอ่อนแอของครัวเรือนในประเทศที่ยังเปราะบางจะเป็นใคร

"พระเอก" เดิมเริ่มจะหมดแรง

หลังวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่องหลายปีและเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2% ในช่วง 3 ปีหลัง ปัจจัยที่อาจเรียกได้ว่า เป็นพระเอกขี่ม้าขาวในยามที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวต่ำไป คือการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่ดูจะโดดเด่นกว่าองค์ประกอบอื่น อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า แรงส่งจากปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มแผ่วลงมาก และเราคงจะหวังพึ่งได้น้อยลงจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

1. การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและอาจขยายตัวได้ถึง 5% ในปี 2567 จะแผ่วลงมากในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินการบริโภคภาคเอกชนของไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.1% ในปี 2568 จากปัจจัยภายในที่กดดันรอบด้าน ทั้งรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัวตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลงท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวด สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่น่าจะคลี่คลายได้ช้า แม้จะมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุดที่เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ แต่ผลสำเร็จของมาตรการฯ อาจจะยังต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก ส่งผลกดดันการบริโภค ทำให้อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลงในระยะข้างหน้า

2. การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยที่เร่งขึ้นในช่วงท้ายปี 2567 และดูจะเป็นความหวังให้เศรษฐกิจไทย อาจต้องเผชิญปัจจัยภายนอกที่ผันผวนมากขึ้น ตามสงครามการค้ารอบใหม่และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์จากชุดนโยบาย Trump 2.0 โดยเฉพาะครึ่งหลังปี 2568 ที่นโยบายจะเริ่มมีผลบังคับใช้เป็นวงกว้างในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน นอกจากนี้ ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลกดดันให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2% ชะลอลงจากปี 2567 ที่ราว 4%

"พระรอง" ชั่วคราว

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พระเอกคนเดิมเริ่มหมดแรง ความหวังในปี 2567 จึงถูกส่งต่อไปหา “พระรอง” ที่อาจเข้ามาแทนและช่วยพยุงเศรษฐกิจเฉพาะหน้าไปได้ ดูเหมือนว่าความหวังคงต้องตกไปอยู่กับภาครัฐที่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งใช้จ่ายงบประมาณตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาเพิ่มเติม ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงโดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลจากปัจจัยฐานปีก่อนหน้าในช่วงเกิดสุญญากาศทางการเมืองหลายเดือนจนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ไม่สามารถเป็นไปได้เป็นปกติ

อย่างไรก็ดี แรงส่งจากภาครัฐคงช่วยเศรษฐกิจได้เพียงชั่วคราว โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมอีก ในระยะข้างหน้าจะยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นจากภาระการคลังสูง อีกทั้ง ผลบวกของแรงกระตุ้นทางการคลังต่อเศรษฐกิจอาจมีจำกัด โดย SCB EIC ประเมินว่าโครงการแจกเงิน 10,000 บาทที่ได้เริ่มไปแล้วในกลุ่มเประบาง และจะทยอยขยายมาตรการไปกลุ่มอื่นอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ชั่วคราวและไม่เต็มที่ ส่วนหนึ่งจากการที่ผู้รับสิทธิส่วนใหญ่มีแนวโน้มนำเงินนี้ไปเก็บออม คืนหนี้ หรือลดรายจ่ายส่วนตัว

นอกจากนั้น การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวและพอช่วยเศรษฐกิจได้บ้างได้ในปี 2568 ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก แต่จะยังเติบโตได้ไม่มากนักจากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำและการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว รวมถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซาดังที่กล่าวไป 

ระบบเศรษฐกิจที่ไร้ “พระเอก” 

กล่าวมาถึงตรงนี้คงพอมองเห็นคำตอบว่า ความหวังในการมองหาพระเอกของเศรษฐกิจไทยดูเหมือนยิ่งยากขึ้นไปทุกที เมื่อพระเอกเดิมอ่อนแรงและพระรองเล่นแทนได้ชั่วคราว ทำให้บางทีอาจถึงเวลาที่ควรต้องหันกลับมามองหาแนวทางในการสร้าง "ระบบเศรษฐกิจที่ไร้พระเอก" ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนใดตัวหนึ่งเป็นหลัก แต่เป็นระบบเน้นสร้างความสมดุลและการเติบโตเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพทั่วถึงในทุกภาคส่วน ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ร่วมกันสร้างระบบที่มีคุณภาพ ผ่านกระจายผลประโยชน์ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นที่จะทำให้ทุกคนมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐในการวางแผนการพัฒนาและปรับตัวให้ทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป ให้เป็นระบบที่ล้มยากและลุกเร็ว ด้วยการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาการค้าและการลงทุน ตลอดจนการสร้างรากฐานที่มั่นคงโดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย เพื่อรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและเป็นการเปิดโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน

ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจไทยในวันนี้อาจดูไร้ความหวัง แต่หากผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจและถอดบทเรียนเพื่อทำทุกคนมีส่วนร่วมและมีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง ละครเรื่อง เศรษฐกิจไทย ก็อาจจะจบแบบ Happy Ending ได้แบบที่ไม่ต้องมีพระเอก


________
เผยแพร่ใน Thairath money วันที่ 2 มกราคม 2025

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ