SHARE

Unlocking Thailand's Potential: ปลดล็อกศักยภาพไทย ก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

SCB EIC คาดการณ์ว่าไทยมีศักยภาพที่จะใช้ประโยชน์จากเมกะเทรนด์ระดับโลกในการพัฒนาและสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

“The power of medical technology is not just in the devices, but in the hope they bring to patients and families worldwide”

Dr. Eric Topol, cardiologist, scientist, and founder of Scripps Research Translational Institute

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต โดยอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมย่อยภายใต้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical hub) ซึ่งประกอบด้วยหลายอุตสาหกรรมย่อยทั้งในฝั่งของผู้ผลิต เช่น ยาและสมุนไพร อาหารทางการแพทย์ และฝั่งของผู้ให้บริการทางการแพทย์และเวลเนสอย่างโรงพยาบาล และสปา ทั้งนี้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะครอบคลุมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโรค การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลป้องกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Disposable medical devices) เป็นวัสดุที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้ครั้งเดียวหรือใช้แล้วทิ้งเพื่อความสะอาดและลดการติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา, สายสวน, ถุงมือยาง

2. ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Durable medical equipment) เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความคงทน ใช้ซ้ำได้ เช่น เตียงคนไข้, รถเข็น, เครื่องมือผ่าตัด, และเครื่องวัดความดันโลหิต

3. น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (Diagnostic reagents and test kits) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคและติดตามโรค เช่น ชุดทดสอบ ATK, ชุดวัดระดับน้ำตาลในเลือด

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับโลก

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีโอกาสขยายการลงทุนมากขึ้น จากข้อมูลของ Fortune Business Insight พบว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ารวมกว่า 5.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีราว 6%CAGR จนถึงปี 2032 โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงเป็นตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัวมากที่สุด ซึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและมีแนวโน้มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่

1. นโยบายกระจายความเสี่ยงและนโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-sufficiency) จากปัญหาโควิด-19 ที่กระตุ้นให้หลายประเทศมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้าน Supply chain ทางการแพทย์ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นและพึ่งพาตนเองมากขึ้น ผ่านการกระจายฐานการผลิตหรือเปลี่ยนมาผลิตในประเทศแทน จึงทำให้เกิดการลงทุนในการผลิตเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น กลยุทธ์ China Plus One ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในจีนเพียงประเทศเดียวที่อาจได้รับผลกระทบจากการเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โรคระบาดหรือวิกฤตอื่น ๆ ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ต้องกระจายการลงทุนในประเทศอื่นเพิ่มขึ้น โดยอาเซียนถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่จะดึงดูดการลงทุนจากทั้งนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกและนักลงทุนจีนได้ โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทจากยุโรปและจีนย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนแล้ว 2. ความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการดูแลและป้องกันสุขภาพมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้บริโภคไทยกว่า 77% ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจเช็กและป้องกันสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง  3. การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super aged society) ของหลายประเทศทั่วโลกภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน แคนาดา และไทย จากการมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้ง แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ของประชากรทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ จึงทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาและดูแลป้องกันเพิ่มสูงขึ้นตาม 4. การพัฒนาของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้อุปกรณ์ทางการแพทย์มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Smartwatch สำหรับติดตามผลสุขภาพแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วยลง รวมถึงการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์วินิจฉัยโรคจากฟิล์ม X-ray หรือใช้ AI ในการพยากรณ์และประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและพันธุกรรมเพื่อหาแนวทางการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเมกะเทรนด์เหล่านี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของโลกมีศักยภาพในการเติบโตสูง พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยกำลังขยายตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในช่วงปี 2019 – 2021 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 29%CAGR จากความต้องการเครื่องมือแพทย์ในช่วงโควิด-19 ที่มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มถุงมือยางทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย ส่วนในปี 2024 มูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและคาดว่าจะเติบโตราว 6%YOY มาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โดยสินค้าส่งออกหลักคือ ถุงมือยางทางการแพทย์ เลนส์แว่นตา และวัสดุสิ้นเปลืองอื่น ๆ สำหรับด้านการลงทุน จากข้อมูลของสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2019 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2024 มูลค่าลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ได้รับการอนุมัติอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มถุงมือยางทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย



pic1-medical-device.jpg

อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์เป็นหลัก อีกทั้ง การทำวิจัยและพัฒนา และการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ยังจะต้องพัฒนาอีกค่อนข้างมาก โดยการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยในปี 2023 กว่า 90% ยังคงอยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ขณะที่การส่งออกครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% อีกทั้ง ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์กับน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคเป็นมูลค่าสูงถึง 3.15 หมื่นล้านบาท และ 1.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ (35% และ 20% ของการนำเข้าทั้งหมด) ซึ่งมูลค่าการนำเข้าที่สูงยังสะท้อนถึงการผลิตและการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าครุภัณฑ์ในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งนัก นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนด้านการแพทย์ในไทยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศยังค่อนข้างต่ำ โดยคิดเป็นเพียง 5% ของยอดอนุมัติทั้งหมดในช่วงเวลาระหว่างปี 2019 ถึงครึ่งปีแรก 2024

โอกาสและความท้าทายของไทยในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

SCB EIC ประเมินว่าไทยมีโอกาสคว้าโอกาสจากเมกะเทรนด์ระดับโลกในการสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จากปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้ 1. การเป็นพื้นที่เซฟโซนด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้าน Supply chain โดยเฉพาะในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นจุดหมายการย้ายฐานการผลิตและกระจายการลงทุนที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประตูสำคัญสู่ภูมิภาคอาเซียนและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 2. การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism hub) โดยไทยอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สูงสุด และมีทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์จำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีโอกาสต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการใช้งานกับผู้ป่วยจากหลากหลายชาติ และ 3. การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะกิจการที่มีการทำ R&D ร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปด้านสุขภาพในประเทศให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้ไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น Medical hub ระดับโลกได้

ทั้งนี้ 3 แนวทางหลักที่ควรเร่งพัฒนาในการสร้างการเติบโตระยะยาวแก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ได้แก่ แนวทางแรก การร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ โดยเฉพาะกับผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการไทยอาจเข้าถึงพันธมิตรต่างชาติได้ค่อนข้างยาก จึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐในการสร้างความสัมพันธ์ระดับรัฐและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ก่อน เพื่อสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าถึงพันธมิตรต่างชาติได้ง่ายขึ้น แนวทางถัดมาคือการพัฒนาบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะนักวิจัยหรือวิศวกรด้านเครื่องมือแพทย์ผ่านการเพิ่มจัดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากรเพื่อมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า อีกทั้ง ยังเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริม R&D ในประเทศเพื่อพัฒนาสู่เทคโนโลยีขั้นสูง โดยควรจะต้องจัดตั้งห้องแล็บเฉพาะสำหรับการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ควบคู่ไปด้วย แนวทางสุดท้ายคือการสร้างแบรนด์เครื่องมือแพทย์ไทยสู่เวทีระดับโลก ซึ่งอาจเริ่มจากการพัฒนาเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถอาศัยจุดแข็งของทรัพยากรภายในประเทศที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ ดังเช่น การผลิตถุงมือยาง ซึ่งไทยเป็นแหล่งปลูกยางพาราระดับโลก ทำให้นักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางแบบ Full value chain ในไทย (มี R&D ในประเทศ) อีกทั้ง อาจจะต้องสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยยอมรับและใช้สินค้าแบรนด์ไทยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะยิ่งช่วยให้เกิดการใช้งานเครื่องมือแพทย์ไทยกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลกยังช่วยให้สามารถวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้เหมาะกับผู้ป่วยจากหลากหลายชาติ พร้อมทั้งมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ

จากเมกะเทรนด์โลกที่ส่งผลให้เกิดความต้องการในการใช้เครื่องมือแพทย์ และการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแนวหน้าที่ไทยควรเร่งผลักดัน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว


________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคารคอลัมน์เกร็ดการเงินประจำเดือนธันวาคม 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ