แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2568 ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
ในปี 2568 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
1. แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2567-2568
SCB EIC ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 2.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 (YOY) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
สำหรับปี 2568 คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตอยู่ที่ 2.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 (YOY) การขยายตัวนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง (Power electronics) ในตลาดโลก รวมถึงการฟื้นตัวของสินค้าคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจผันผวน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม
2. กลุ่มสินค้าที่เติบโตได้ดีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ Power electronics และ Consumer electronics
2.1 กลุ่มไฟฟ้ากำลัง หรือ Power electronics
คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (YOY) โดยมีแนวโน้มที่ความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ สินค้าที่มีความต้องการสูงได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า แผงสวิตช์ และสายไฟ/สายเคเบิล
2.2 กลุ่ม Consumer electronics
คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YOY) ซึ่งสอดคล้องกับช่วงขาขึ้นของตลาดและความต้องการคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า
2.3 กลุ่มอื่น ๆ
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 3.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตนี้มาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่เริ่มกลับมามากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ : คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) สอดคล้องกับทิศทางตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า : คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ซึ่งจะเติบโตอยู่ที่ 1.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) ปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการเติบโตนี้มาจากการส่งออกสินค้า เช่น เครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
3. ความท้าทายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย
3.1 การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global value chain)
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่การแบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจและการย้ายฐานการผลิต ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในห่วงโซ่อุปทานโลก (Global value chain) นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากเทรนด์ใหญ่ ๆ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การขยายตัวของศูนย์ข้อมูล (Data center) และความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
3.2 แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย
แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยกำลังเติบโต ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
3.3 เทรนด์รักษ์โลกกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ
ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับกระบวนการผลิต การใช้วัสดุรีไซเคิล และการวางแผนการพัฒนาองค์กรที่เน้นความยั่งยืน
4. แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในมุมมอง SCB EIC
4.1 การเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
4.2 การส่งเสริมและพัฒนาแรงงานทักษะสูง
การพัฒนาทักษะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ได้รับการสนับสนุนผ่านการปรับปรุงหลักสูตรในสถาบันการศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หลักสูตรด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และนักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น
4.3 การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำ
การส่งเสริมการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาที่เน้นสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ขั้นแรก จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นที่มีมูลค่าสูงขึ้น