SHARE
SCB EIC BRIEF
18 กรกฏาคม 2024

Trump and Trade 2.0 : ไทยต้องปรับตัวอย่างไร ภายใต้นโยบายการค้าทรัมป์ 2.0

สิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจจะทำได้เพื่อรับโอกาสภายใต้แนวทางของทรัมป์ คือ จะต้องกระตือรือร้นในการเจรจาการค้า ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และในระดับภาคเอกชน

“MY STYLE of deal-making is quite simple and straightforward. I aim very high, and then I just keep pushing and pushing and pushing to get what I’m after.”

Donald Trump จากหนังสือ Trump: The Art of the Deal

 

สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

ปี 2024 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใน 60 ประเทศ โดยการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดและสร้างความไม่แน่นอนมากที่สุดให้แก่เศรษฐกิจโลกคือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่เกิดการ Rematch ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับอดีตประธานาธิบดีที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว โดยประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “น่ากังวล” เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของ Reuters/Ipsos พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวอเมริกันกังวลว่า จะเกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้งหากกลุ่มการเมืองสุดโต่งไม่พอใจผลการเลือกตั้ง แต่สำหรับไทยแล้ว เรื่องน่ากังวลที่ไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปหลังการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลต่อการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานในไทย

การเมืองในสหรัฐฯ กับนโยบายการค้ากับจีน

นโยบายการค้าระหว่างประเทศมีความเกี่ยวพันกันระหว่างการเมืองในสหรัฐฯ กับเศรษฐกิจโลกมากที่สุดโดยเฉพาะประเด็นนโยบายการค้ากับจีน ซึ่งเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่ทรัมป์จากพรรค Republican ชนะการเลือกตั้งอย่างผิดคาด ส่วนหนึ่งเพราะสามารถเอาชนะในรัฐที่เคยเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรค Democrat มาโดยตลอด โดยรัฐเหล่านี้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพึ่งพาอุตสาหกรรมที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน จึงทำให้แนวทางหาเสียงของทรัมป์ที่กล่าวหาว่าประเทศอื่นกำลังเอาเปรียบสหรัฐฯ และประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมมากขึ้นแบบที่ไม่เคยมีผู้สมัครคนใดทำมาก่อนชนะใจประชาชนในรัฐเหล่านี้ ตั้งแต่นั้นมาประเด็นนโยบายการค้ากับจีนจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเมืองสหรัฐฯ

เมื่อทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรกก็ได้เริ่มสงครามการค้ากับจีน ซึ่งมีลักษณะตอบโต้ไปมาหลายครั้ง เช่น หลังสหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มจากจีน จีนก็ตอบโต้กลับโดยการเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราภาษีและมูลค่าสินค้าที่ใกล้เคียงกัน สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงกันว่าจะมีโควตาการนำเข้าสินค้าของกันและกันเพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมขึ้น เช่น จีนจะต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ให้ถึงเป้าหมายเพื่อให้สหรัฐฯ ยอมให้มีการนำเข้าสินค้าจีนโดยไม่เก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม ต่อมาเมื่อไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2021 แม้ไบเดนจะไม่ได้หาเสียงในลักษณะแข็งกร้าวกับจีนดังเช่นทรัมป์ แต่ไบเดนก็ยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ทรัมป์ทำสงครามการค้าไว้ นอกจากนี้ ยังเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศผ่านการใช้เงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเร่งการลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าเทคโนโลยี และสินค้าสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นการตอบโต้นโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในจีน

Republican และ Democrat ต่างให้ความสำคัญกับการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

อดีตที่ผ่านมาไม่นานนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้ Republican และ Democrat จะมีความเห็นแตกต่างกันในเกือบทุกเรื่อง แต่ทั้งสองพรรคก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ดังนั้น ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปีนี้ ผู้สมัครทั้งสองคนจึงต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ใครสามารถรับมือกับการแข่งขันจากจีนได้ดีกว่ากัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไบเดนเริ่มใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนมากขึ้นในปีนี้ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม แต่มุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น Semiconductor แผงโซลาร์ และเหล็ก อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่ออุตสาหกรรมในสหรัฐฯ มากนักในระยะสั้น เพราะในปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่ได้พึ่งพาสินค้าเหล่านี้จากจีนอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรักษาคะแนนนิยมของไบเดน ในด้านทรัมป์ก็ประกาศจุดยืนที่แข็งกร้าวเช่นเคย โดยระบุว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากจีนอย่างน้อย 60% และจากประเทศอื่น ๆ อย่างน้อย 10% 

แนวโน้มการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

การเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คะแนนเสียงจะสูสีมาก โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักยังพบว่าทรัมป์มีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย แม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาในคดีปลอมแปลงเอกสารทางธุรกิจ และยังมีคดีอาญาหลายคดีที่ร้ายแรงกว่า เช่น คดีการพยายามแทรกแซงผลการเลือกตั้งในปี 2020 ที่รอการพิจารณาอยู่ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าผู้สมัครคนใดจะชนะการเลือกตั้ง นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ก็จะมีเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ซึ่งหากไบเดนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย วิธีการจะคล้ายเดิม คือมุ่งเป้าที่การปกป้องอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ในขณะที่พยายามทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศพันธมิตรมากขึ้น แต่หากว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง วิธีการก็จะแตกต่างไปจากวิธีการที่ไบเดนใช้ในปัจจุบัน 

นโยบายการค้าทรัมป์ 2.0

ทรัมป์ 2.0 มีความเป็นไปได้ว่าจะมีแนวทางสุดโต่งมากขึ้น เนื่องจากมีเครือข่ายทางการเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าในสมัยแรกมาก โอกาสที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี การถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงหลายคดี ทำให้สมัยที่สองนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยสิ่งที่คาดเดาได้ในตอนนี้มีเพียงว่า ทรัมป์จะต้องใช้เวลาในขณะดำรงตำแหน่งมาสู้คดี ซึ่งอาจมีผลให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำได้ช้าลง รวมถึงนโยบายการค้าที่ประกาศภาษีนำเข้าในอัตราสูงก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด นอกจากนี้ อดีตที่ผ่านมาได้แสดงว่า ทรัมป์ไม่ได้ดำเนินนโยบายอย่างสุดโต่งตามที่ได้หาเสียงไว้ เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงมากในทางปฏิบัติ เช่น ก่อนการเลือกตั้ง 2016 ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนทุกประเภทให้เป็นอย่างน้อย 45% แต่พอขึ้นดำรงตำแหน่ง ภาษีนำเข้าก็ไม่ได้ปรับขึ้นรุนแรงอย่างที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้

นโยบายการค้าที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความพยายามที่จะการกีดกันการค้าโดยสมบูรณ์ แต่เป็นการสร้างความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการค้า โดยใช้การขู่ขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง จึงทำให้แนวทางการดำเนินนโยบายมีลักษณะคล้ายการเจรจาการค้าเหมือนการเจรจาธุรกิจ โดยไม่ได้พยายามจะให้มีการรวมกลุ่มการค้าด้วยเหตุผลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แต่มองสหรัฐฯ เหมือนบริษัทหนึ่ง มีการได้เสียผลประโยชน์แบบธุรกิจ มีการใช้ความสัมพันธ์แบบนักธุรกิจ การตกลงการค้าจะพิจารณาว่าสหรัฐฯ จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไรในระยะสั้น ช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่ตนเองได้หรือไม่ แต่จะไม่ได้คำนึงถึงประเทศพันธมิตร ผลต่อโลกหรือผลในระยะยาวมากนัก เช่น การบังคับประเทศคู่ค้าให้ซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ให้ครบโควตา หรือการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมที่เป็นผู้จ้างแรงงานกลุ่มฐานเสียง เช่น เหล็ก และรถยนต์ เป็นต้น โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าประเทศที่ถูกกีดกันอยู่ฝ่ายใด ทำให้นโยบายการค้าที่จะเกิดขึ้นภายใต้ทรัมป์ 2.0 คาดเดาได้ยาก เพราะขึ้นกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และการเมืองภายในสหรัฐฯ มาก

นโยบายการค้าทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าทรัมป์ 2.0 นี้ จะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ของไทย ซึ่งจะไม่เกิดขึ้น หากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ยังเป็นแบบปัจจุบัน กล่าวคือรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะมองอาเซียนเป็นกลุ่ม การตกลงทางการค้าจึงทำเป็นแบบพหุภาคี ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า นอกจากนี้ ในทางการเมืองสหรัฐฯ ข้อตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าและอุตสาหกรรมจำนวนมากเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดังที่จะเห็นจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่ทรัมป์ยกเลิกทันทีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยแรก แต่ในทางตรงกันข้าม หากเป็นนโยบายทรัมป์ 2.0 ไทยจะมีโอกาสตกลงกับสหรัฐฯ โดยตรงแบบทวิภาคีได้มากกว่า และสามารถใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ และความสัมพันธ์ทางภาคธุรกิจเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ทางการค้า ภายใต้การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ข้อตกลงอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะข้อตกลงแบบทวิภาคีกับประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางจะกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมไม่มากนัก

สิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจจะทำได้เพื่อจะได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ภายใต้แนวทางของทรัมป์ คือ จะต้องกระตือรือร้นในการเจรจาการค้า ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ ผ่านความสัมพันธ์ของผู้นำ จะต้องวางแผนในรายละเอียดว่ามีสินค้าใดที่มีโอกาสทำตลาดในสหรัฐฯ แทนสินค้าจีนที่มีแนวโน้มถูกกีดกันมากขึ้น และสินค้าใดที่ไทยจะอนุญาตให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยไม่กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศมาก และในระดับภาคเอกชน ต้องมองหาพันธมิตรทางธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ หรือเป็นจุดหมายในการลงทุนสร้างฐานการผลิตจากแนวโน้มที่ธุรกิจสหรัฐฯ ต้องการกระจายความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทานในจีน รวมทั้งจะต้องศึกษาแนวโน้มความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น


________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคารประจำเดือนกรกฎาคม 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ