SHARE
SCB EIC BRIEF
04 มิถุนายน 2024

รู้จัก Utility Green Tariff (UGT) หนึ่งในเครื่องมือช่วยภาคธุรกิจเข้าสู่ Net zero

UGT หรือ Utility Green Tariff คือราคาของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (เช่น น้ำ แดด และลม) ที่มาพร้อมกับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate)

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นโยบายอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในไทย โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศราคาไฟฟ้าสีเขียวประเภทไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าสีเขียวได้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ UGT ถูกนำเสนอจากสำนักงาน กกพ. มาตั้งแต่ปลายปี 2021 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยปรับตัวสอดรับไปกับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกที่จะเข้มข้นมากขึ้น

UGT หรือ Utility Green Tariff คืออะไร

UGT คืออะไร อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ ราคาของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (เช่น น้ำ แดด และลม) ที่มาพร้อมกับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งผู้ซื้อไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิในการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นได้ ทั้งนี้ไฟฟ้าดังกล่าวจะถูกจำหน่ายโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต/ฝ่ายจำหน่าย โดยUGT มีอยู่ 2 ประเภท คือ UGT1 และ UGT2 ซึ่งมีความแตกต่างหลัก ได้แก่ 1. การเจาะจงแหล่งที่มาของพลังงาน : ไม่เจาะจง vs เจาะจง 2. ระยะเวลาสัญญาซื้อไฟ : 1 ปี vs 10 ปี 3. ระยะเวลาเริ่มขาย : เดือน เม.ย. 2024 vs ต้นปี 2025 4. การกำหนดราคา : ค่าไฟฟ้าปกติบวก Premium vs ค่าไฟที่ถูกคิดจากต้นทุนซื้อไฟฟ้าจากแหล่งไฟฟ้าที่ผู้ซื้อเลือก บวกด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่น ๆ และ 5. โอกาสการซื้อไฟฟ้าสีเขียวในราคาถูกกว่าไฟฟ้าปกติ : โอกาสเป็นศูนย์ เนื่องจากผู้ซื้อไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาบวก Premium หรือราคา REC จากค่าไฟฟ้าปกติ vs มีโอกาสซื้อถูกกว่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาก๊าซธรรมชาติเร่งตัวขึ้นมาก เช่น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ทั้งนี้ราคา UGT1 และ UGT2 ที่ กกพ. ประกาศราคาขายปลีกในช่วงแรกจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 4.24 และ 4.55-4.56 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ 

แนวโน้มการเติบโตของ Utility Green Tariff

ปริมาณไฟฟ้าสีเขียวในตลาด UGT มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% ในช่วง 6 ปีข้างหน้า ตามการนำปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้โรงไฟฟ้าที่เป็นสิทธิของการไฟฟ้าฯ เข้ามาในตลาด UGT โดยแบ่งเป็น 3 พอร์ตใหญ่ คือ 1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 7 แห่งของ EGAT ซึ่งจะมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ราวปีละ 1,300-3,500 ล้านหน่วย โดยเข้าตลาดตั้งแต่ปีนี้เพื่อขายให้ UGT1 2. โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ และลมสัญญา Feed in Tariff (FiT) โดยเริ่มเข้าตลาดตั้งแต่ปี 2025 ด้วยปริมาณไฟฟ้าสูงสุดที่ราวปีละ 4,300-4,400 ล้านหน่วย และ 3. โรงไฟฟ้าประเภทเดียวกันกับพอร์ตที่สอง แต่จะเริ่มเข้าตลาดตั้งแต่ปี 2028 ด้วยปริมาณไฟฟ้าสูงสุดที่ราวปีละ 4,600-4,700 ล้านหน่วย ทั้งนี้ 2 พอร์ตหลังจะเป็นแหล่งไฟฟ้าที่นำมาขายในตลาด UGT2

หากพิจารณาจากแหล่งไฟฟ้าสีเขียว 3 พอร์ตข้างต้น คาดว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าสีเขียวภายใต้ตลาด UGT ในปี 2030 จะอยู่ที่ราว 1.1 หมื่นล้านหน่วยไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจได้เพียง 10% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบการไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ (ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-51) ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจในไทยกลับมีแนวโน้มที่จะทยอยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้วยแรงผลักดันสำคัญจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย (ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2050) ซึ่งทำให้นำมาสู่ 1. มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยไม่ปรับลดการปล่อยคาร์บอน จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันให้ด้อยลง และในอนาคต ภาครัฐไทยมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับผู้ผลิต (ภาษีคาร์บอนของไทยอยู่ระหว่างการศึกษาและจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2024) และ 2. เอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต่างก็ตั้งเป้าการปรับลดการปล่อยคาร์บอนเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ESG ที่สำคัญ ทำให้ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะมีมากขึ้น (แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายพยายามพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยตนเอง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา/พื้นที่ส่วนตัวเพื่อผลิตไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากปริมาณไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นอกระบบการไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 82% ในช่วงปี 2018-2023 แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอและหลายบริษัทอาจมีข้อจำกัด เช่น พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ที่ไม่เพียงพอ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากต่อเนื่อง เป็นต้น) นอกจากนี้ หากไทยต้องการผลักดันเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ เช่น Data center ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการการใช้ไฟฟ้าสีเขียวค่อนข้างสูง ก็อาจยิ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวในประเทศยิ่งมีมากขึ้น

จากปริมาณไฟฟ้าสีเขียวในตลาด UGT ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตอบสนองปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจได้เพียง 10% ในปี 2030 ขณะที่ภาคธุรกิจกลับมีความเข้มข้นในการใช้ไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ตลาด UGT อาจเติบโตได้มากกว่าที่คาด โดยเฉพาะหลังจากที่แผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ใหม่ได้มีการประกาศออกมา ซึ่งมีโอกาสที่จะมีไฟฟ้าสีเขียวเข้าสู่ตลาด UGT มากขึ้น (จากเดิมที่ในปี 2030 อาจอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านหน่วยไฟฟ้า) สะท้อนจากกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมในแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากแผน PDP/2018Rev1 ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฯ และภาคธุรกิจที่มีโอกาสเข้าถึงไฟฟ้าสีเขียวได้มากขึ้น

1 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 และ 4 เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตามลำดับ โดยกิจการการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการของต่างชาติ และสถานที่ขององค์การระหว่างประเทศ ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 5 เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีกิจการเฉพาะอย่าง เพื่อประกอบกิจการโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย


________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอตวันที่ 3-5 มิถุนายน 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ