SHARE

ขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยนวัตกรรมเส้นใยโพลีเมอร์สังเคราะห์คาร์บอนต่ำ

เมื่อจำเป็นต้องลดคาร์บอนจากการผลิตเส้นใย การใช้เส้นใยแบบยั่งยืน หรือเส้นใยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

การผลิตเส้นใยแบบยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยปล่อยมากถึง 2-8%1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ทั้งนี้หากมองภาพการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานแล้ว จะพบว่าการผลิตขั้นต้นน้ำอย่างเส้นใย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 241 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 24% ของทั้งอุตสาหกรรม (ข้อมูลจาก World Resource Institute 2021) ดังนั้น การผลิตเส้นใยให้มีความยั่งยืนมากขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เส้นใยโพลีเมอร์สังเคราะห์จากปิโตรเลียมตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตเส้นใย

ตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตเส้นใยนั้นมาจากการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์สังเคราะห์ (Synthetic polymer fibers) จากปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเส้นใยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดถึง 69.4% ของความต้องการใช้เส้นใยทั้งหมด เนื่องจากมีคุณสมบัติบางประการที่เหนือกว่าเส้นใยประเภทอื่นเช่นความทนทาน ความยืดหยุ่น หรือคุณสมบัติในการกันน้ำ ทำให้เส้นใยชนิดนี้สามารถนำไปใช้งานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและเป็นที่นิยมมากกว่า 

pic-textile-industry.png

แต่เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องลดคาร์บอนจากการผลิตเส้นใย การใช้เส้นใยแบบยั่งยืน หรือเส้นใยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อเข้ามาทดแทน Synthetic polymer fibers ที่มีความต้องการใช้และปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก อย่างไรก็ดี BCG และ Textile Exchange ได้ประเมินว่าในปี 2030 หากทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้เส้นใยแบบยั่งยืนทั้งหมดจะส่งผลให้มีอุปสงค์เส้นใยส่วนเกินกว่า 133 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณการผลิตเส้นใยแบบยั่งยืนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถทดแทน Synthetic polymer fibers ได้ทั้งหมด นอกจากในเชิงปริมาณแล้ว การใช้เส้นใยธรรมชาติแบบยั่งยืนนั้นยังไม่สามารถทดแทนเส้นใยสังเคราะห์ประเภทนี้ในเชิงคุณภาพด้วย ส่วนการเพิ่มเส้นใยรีไซเคิลจากการรีไซเคิลวัสดุอื่น (เช่นจากขวด PET) เสี่ยงที่จะประสบปัญหาเรื่องคุณภาพเส้นใยที่ไม่คงที่ ขณะที่เส้นใยรีไซเคิลจากการรีไซเคิลเศษผ้ายังคงเผชิญขีดจำกัดจากการเฟ้นหาและคัดแยกวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ส่งผลให้ในการ Decarbonize อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางออกในการผลิตเส้นใยที่มีความยั่งยืนและมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับ Synthetic polymer fibers เพิ่มเติม 

การพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์สังเคราะห์คาร์บอนต่ำ

ในปัจจุบันภาคธุรกิจบางส่วนได้มีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์สังเคราะห์คาร์บอนต่ำ (Low-carbon synthetic polymer fibers) จากวัตถุดิบที่มีความยั่งยืนและมีคุณสมบัติที่เทียบเท่า (Drop-in quality) เส้นใยจากปิโตรเลียม โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Carbon mitigation) หรือต่อยอดกลยุทธ์ในการปรับตัวต่อ Energy transition ของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น 1) จากวัตถุดิบชีวมวล (Biobased/Biosynthetics) โดยล่าสุดบริษัทเคมีภัณฑ์อย่าง BASF ได้ร่วมมือกับ Qore ซึ่งเป็นหนึ่งใน Joint Venture ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรอย่าง Cargill ในการผลิตและจัดหาวัตถุดิบทดแทน Feedstock จากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง Renewable 1,4-butanebiol ที่ผลิตจากการหมักพืชประเภทแป้งและน้ำตาลเพื่อนำไปผลิตเส้นใย Spandex และ 2) จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อย ดักจับ และกักเก็บมาจากภาคอุตสาหกรรม (CO2-based) ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใย Polyester โดยบริษัทไบโอเทคอย่าง LanzaTech และบริษัทสตาร์ตอัปอย่าง Fairbrics

แม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการขยายกำลังการผลิตและมีอัตราการใช้การผลิตที่ต่ำเนื่องด้วยราคายังไม่สามารถแข่งขันกับ Synthetic polymer fibers จากปิโตรเลียมได้ ทว่าเมื่อมองไปข้างหน้า ความจำเป็นที่ต้อง Decarbonize อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นจะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ Low-carbon synthetic polymer fibers ร่วมกับตัวเลือกเส้นใยที่มีความยั่งยืนอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ส่วนธุรกิจที่มีความสามารถในการผลิตและเล็งเห็นโอกาสจากการผลิตเส้นใยทางเลือกเหล่านี้ นอกจากการพัฒนาการผลิตเส้นใยในเชิงพาณิชย์ให้มีคุณสมบัติ Drop-in และสามารถแข่งขันในด้านราคากับ Synthetic polymer fibers จากปิโตรเลียมให้ได้แล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างและรักษาอุปสงค์ในการขายไว้ได้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใยเหล่านี้ เพื่อให้เกิด Ecosystem ของการบูรณาการ Clean energy หรือแนวทางการปรับตัวของธุรกิจต่อ Energy transition ที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

1UNEP (2023)


________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิดวันที่ 7-10 มีนาคม 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ