SHARE

กระสุนเงิน หรือ สเต็มเซลล์ ? หน้าที่ภาคการเงินกับซอมบี้ธุรกิจไทย

ซอมบี้ธุรกิจเปรียบได้กับธุรกิจที่ยังเอาตัวรอดด้วยการก่อหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระคืน เหมือนผีดิบที่เดินได้แต่ไร้วิญญาณ

“The Social Responsibility of Business Is to Increase Its Profits” 1
Milton Friedman, นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 1976

ประโยคข้างต้นที่ถูกกล่าวขานกันว่าเป็น หลักของฟรีดแมน (A Friedman’s Doctrine) สะท้อนนัยของตลาดเสรีนิยมที่มุ่งให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองภาคธุรกิจเป็นศูนย์รวมของทรัพยากรทั้ง ที่ดิน ทุน และแรงงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อแสวงกำไร และที่สำคัญคือ ‘การใช้กำไร’ เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจ ส่งคืนผลตอบแทนสู่เจ้าของทรัพยากรที่ก็คือสังคมโดยรวม

เมื่อคิดตามหลักดังกล่าวแล้ว ภาคธุรกิจที่เผชิญข้อจำกัดและไม่สามารถทำกำไรได้อย่างเหมาะสม ย่อมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่มีต่อสังคมด้วยเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกาจึงให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวด และธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เคยอธิบายว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.08% ในเดือน ต.ค. 2564 มาสู่ 5.33% ในเดือน ต.ค. 2566 มีส่วนทำให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธการกู้เพิ่มของธุรกิจซอมบี้ (Zombie firm) จนทำให้มีสัดส่วนต่อจำนวนธุรกิจทั้งหมดลดลงตามลำดับ2

ธุรกิจซอมบี้ (Zombie firm) คืออะไร ?

ซอมบี้ธุรกิจเปรียบได้กับธุรกิจที่ยังเอาตัวรอดด้วยการก่อหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระคืน เหมือนผีดิบที่เดินได้แต่ไร้วิญญาณ กล่าวคือยังประกอบการต่อไปได้แต่ไม่ได้เป็นไปตามสภาพธุรกิจและแน่นอนว่าไม่สามารถทำกำไรสูงสุดได้ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) เคยมีผลการศึกษาว่า ในประเทศที่มีซอมบี้ธุรกิจอยู่มากจะยิ่งส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินของธุรกิจปกติลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเทศที่มีสถาบันการเงินเข้มแข็งและมีนโยบาย Macroprudential เข้มงวดมักจะมีจำนวนซอมบี้ธุรกิจน้อยและมีธุรกิจปกติที่มีศักยภาพทางการเงินสูง3

ซอมบี้ธุรกิจของไทย

สำหรับกรณีศึกษาของประเทศไทยเอง SCB EIC ได้ทำการเกาะติดวิเคราะห์ตัวเลขซอมบี้ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นิยามซอมบี้ธุรกิจว่า เป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio : ICR) ต่ำกว่า 1 เท่า กล่าวคือ มีค่าใช้จ่ายในการชำระคืนดอกเบี้ยสูงกว่ารายได้ก่อนชำระคืนดอกเบี้ยและภาษี ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี และมีอายุบริษัท 10 ปีขึ้นไป และพบว่า สัดส่วนของซอมบี้ธุรกิจไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษก่อนที่จะเกิดวิกฤต COVID-19 จาก 7.6% ในปี 2552 เป็น 9.1% ในปี 2562 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2550 ที่ 9.0%4 ซึ่งในปี 2565 สัดส่วนซอมบี้ธุรกิจของธุรกิจขนาดย่อยสูงถึง 18.5% ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่มีสัดส่วนซอมบี้ธุรกิจไม่ถึง 5% สอดคล้องกับดัชนีรายได้ภาคธุรกิจรวมฟื้นตัวอยู่ที่ 117.4 (เทียบกับรายได้ภาคธุรกิจ ณ ปี 2562 ที่ระดับดัชนีเท่ากับ 100) แต่ส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางที่ระดับดัชนี 120.8 และ 103.5 ตามลำดับ ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนจากระดับดัชนีฟื้นตัวมาอยู่ที่ 99.2 ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนว่าธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ค่อนข้างช้ากว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เห็นว่าธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้สูง และถ้าหากธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรลดลงเป็นเวลานานอาจทำให้กลายเป็นซอมบี้ธุรกิจได้5

ซอมบี้ธุรกิจไทยมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ น่าสังเกตว่าซอมบี้ธุรกิจไทยมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งข้อมูลข้างต้นอ้างอิงจากธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ จึงยังไม่นับรวมธุรกิจครัวเรือนหรือที่เรียกรวม ๆ ว่าธุรกิจนอกระบบอีกจำนวนมาก ซึ่งน่าจะพออนุมานได้ว่าอาจจะมีสัดส่วนซอมบี้ธุรกิจสูงกว่าธุรกิจในระบบ ดังนั้น ทางเลือกในการใช้กลไกการเงินการธนาคารเป็น “กระสุนเงิน” เพื่อชำระล้างซอมบี้ธุรกิจเช่นเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะไม่เหมาะสมนักกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย ที่ในระดับย่อยแล้ว คงจะไม่สามารถแยกส่วนองค์ประกอบของการประกอบการตามหลักของฟรีดแมนผ่านการปิดกิจการลงแล้วเอาทรัพยากรไปเปิดกิจกรรมใหม่เพื่อสร้างกำไรสูงสุดต่อไป เพราะเราคงไม่ได้สามารถปิดธุรกิจครอบครัว หรือแยกส่วนคนทำงานในครัวเรือน ทุน หรือรถรา ตึกรามบ้านช่องออกจากกันเพื่อไปตั้งต้นประกอบธุรกิจใหม่ได้ง่ายนัก

การรับมือกับซอมบี้ธุรกิจไทยของภาคการเงินการธนาคาร

บทบาทหน้าที่ของภาคการเงินการธนาคารในการรับมือกับซอมบี้ธุรกิจไทย จึงควรเป็นการสร้างเสริม “สเต็มเซลล์” ในการฟื้นฟูเยียวยาให้ซอมบี้ธุรกิจกลับมาเป็นปกติ โดยอาจใช้กระสุนเงินประกอบเฉพาะในส่วนที่เป็นเนื้อร้ายเพื่อป้องกันการลุกลาม แต่เสริมสร้างเซลล์ดีมาช่วยฟื้นสภาพภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวนี้ เงื่อนไขตั้งต้นสำคัญ คือ การที่ซอมบี้ธุรกิจต้องยอมรับแนวคิด ‘สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ปรับตัว เชื่อมต่อ’ ผ่านการมองหาพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม ซึ่งในที่นี้ก็คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจจริงและภาคการเงินนั่นเอง6

ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ภาคธุรกิจจริงจะแน่ใจได้อย่างไรว่าภาคการเงินกำลังร่วมกันสร้างสเต็มเซลล์ ไม่ได้กำลังบรรจุกระสุนเงินใส่หลอดฉีดยาเพื่อชำระล้างซอมบี้ธุรกิจด้วยการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อหลังจากรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงของซอมบี้ธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงของตนเอง สะท้อนปัญหาคุณภาพของการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่ไม่สามารถเป็นข้อต่อที่เชื่อมภาคการเงินเข้ากับภาคเศรษฐกิจจริงได้ จนไทยมีความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจจริงน้อยกว่าภาคการเงิน7

ดังนั้น การมีกลไกเชิงสถาบันสำหรับการปฏิรูปนโยบายสาธารณะผ่านองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่เป็นกลไกและแรงจูงใจให้ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะฟังเสียงของประชาชน 2. การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และตัดสินนโยบายสาธารณะร่วมกัน8 เป็นคำตอบภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างเสาหลักทางเศรษฐกิจทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นผู้วางแผนใหญ่ของประเทศ กระทรวงการคลังที่ขับเคลื่อนนโยบายการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลการให้บริการทางการเงิน ผ่านการเปิดโอกาสให้เกิดการรับรู้เพื่อเข้าถึงและเข้าใจผู้ใช้และผู้ให้บริการทางการเงิน อย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) เพื่อให้ซอมบี้ธุรกิจสามารถเปิดเผยตัวตนเข้ารับการฟื้นฟูตามแนวทางที่เหมาะสม สถาบันการเงินเองก็สามารถบริหารความเสี่ยงได้ภายใต้การทำงานร่วมกับผู้กำกับดูแล ขณะที่นโยบายการคลังและนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็สามารถเดินหน้าผลักดันให้ประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน


** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

1 Milton Friedman. (1970, September 13). “A Friedman doctrine‐- The Social Responsibility of Business Is to Increase Its Profit”. The New York Times.  https://www.nytimes.com/1970/09/13/archives/a-friedman-doctrine-the-social-responsibility-of-business-is-to.html

2 CNBC. (2023, October 31). " Zombie firms are filing for bankruptcy as the Fed commits to higher rates."
https://www.cnbc.com/2023/10/31/zombie-firm-bankruptcies-amid-fed-interest-rate-hikes.html

3 Albuquerque, Bruno, and Roshan Iyer. (2023, June). "The Rise of the Walking Dead: Zombie Firms Around the World."  International Monetary Fund. WP/23/125. https://www.imf.org/-/media/Files/Publications/WP/2023/English/wpiea2023125-print-pdf.ashx

4 กำพล อดิเรกสมบัติ, พนันดร อรุณีนิรมาน และ ปพน เกียรติสกุลเดชา (2020, December 16). "ผลกระทบ COVID-19 ต่อ Zombie Firm นัยต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย."  SCB EIC IN FOCUS. https://www.scbeic.com/th/detail/product/7272

5 ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์. (2023, November 17). " Uneven recovery เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ธุรกิจฟื้นไม่เท่ากัน."  SCB EIC BRIEF. https://www.scbeic.com/th/detail/product/thai-business-171123

6 สมประวิณ มันประเสริฐ. (2022, February 25). " ‘สร้างสรรค์ ปรับตัว เชื่อมต่อ’ ทำธุรกิจอย่างไรให้อายุยืนอย่างยิ่งใหญ่." The Standard Wealth. https://thestandard.co/create-adapt-connect-business/

7 สมประวิณ มันประเสริฐ. (2021, January 4). " ภาคการเงินไทยสุขภาพดีกว่าใคร เหตุใดจึงไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจจริง?." The Standard Wealth. https://thestandard.co/why-thai-financial-sector-better-than-other-but-not-reach-economic-section/

8 สมประวิณ มันประเสริฐ. (2024, February 18). " พลิกการปฏิรูปนโยบายสาธารณะให้ยั่งยืนด้วยกลไกการมีส่วนร่วม." Thai Publica. https://thaipublica.org/2024/02/redesign-economic-game-with-10-ideas-from-economists-10/
 


________
เผยแพร่ใน Thairath money วันที่ 9 มีนาคม 2024

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ