ส่องอุตสาหกรรมยา...โอกาสสู่การเป็น Medical hub ของเอเชีย
นอกจากการผลิตยาสามัญแล้ว ไทยยังสามารถต่อยอดสู่การวิจัยและพัฒนายาต้นแบบ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทหนุนให้ไทยผลิตยาที่มีมูลค่าสูงขึ้น
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ที่ไทยเร่งผลักดันเพื่อก้าวไปสู่การเป็น Medical hub ของเอเชีย ซึ่งนอกเหนือจากศักยภาพของไทยในด้านการรักษาพยาบาลแล้ว การผลักดันสนับสนุนอุตสาหกรรมยานับเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มให้ Value chain ของอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความครบวงจรมากขึ้น
อุตสาหกรรมยาของไทย
แม้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมยาของไทยยังมีการพัฒนาที่ค่อนข้างจำกัด จากการที่ไทยผลิตยาสามัญ (Generic drug) เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง ยังเป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศถึงกว่า 90% ของยาที่ผลิตในประเทศทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมยาในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าตลาดยาในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเร่งตัวขึ้น จาก 5% ต่อปีในช่วงปี 2019-2022 มาอยู่ที่ราว 6-7% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดในปี 2027 ที่ราว 3.2 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการบริการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว รวมถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทย นอกจากนี้ สัดส่วนของคนไทยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการยาสำหรับการรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะยาสามัญซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยาต้นแบบและมีราคาถูกกว่ายานำเข้าค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยาเพื่อรองรับตลาดในประเทศที่มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังสามารถผลักดันไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะตลาดอาเซียน
เทรนด์ Pharma tech ที่น่าจับตามอง
อย่างไรก็ดี นอกจากการผลิตยาสามัญแล้ว อุตสาหกรรมยาของไทยยังสามารถต่อยอดไปสู่การวิจัยและพัฒนายาต้นแบบ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนให้ไทยสามารถผลิตยาที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเทรนด์ที่เกี่ยวกับ Pharma tech ที่น่าจับตามอง ได้แก่ 1) Generative AI จะมาเป็นตัวเร่งในการพัฒนาสูตรยาให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และสามารถคาดการณ์ผลข้างเคียงจากการทดลองทางคลินิกได้มากขึ้น 2) Data driven drugs and personalized medicine เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการพัฒนายาที่ตอบโจทย์การรักษาที่เฉพาะเจาะจงรายบุคคลได้มากขึ้น อย่างเช่น การพัฒนายาโดยอาศัยยีนส์ (Gene) ของแต่ละบุคคลมาประกอบกับข้อมูลการรักษาและข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ มาช่วยรักษาโรคที่เกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม 3) Biotechnology จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนายาชีวภาพ อย่างเช่นการพัฒนา Monoclonal antibodies ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกพัฒนาเป็นชีววัตถุเพื่อนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น การรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการวิจัยยาจากสมุนไพรซึ่งไทยมีศักยภาพในการพัฒนา โดยเทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยในการตรวจจับฤทธิ์ของยาสมุนไพรให้มีความแม่นยำและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทย
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาของไทยมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการมีรายการยาที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมแห่งชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2023 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในกิจการผลิตยาถึง 12 โครงการ มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะมีการส่งเสริมการลงทุนและการวิจัยด้านยาเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องจับตามอง อาทิ นโยบายของภาครัฐที่ควรจะเอื้อต่อการพัฒนายาใหม่ ๆ โดยเฉพาะในด้านกฎระเบียบจะต้องเอื้อให้บริษัทยาสามารถทดลองทางคลินิกและให้การอนุมัติรับรองยาใหม่ ๆ ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบข้อมูลและเครือข่ายทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างนักวิจัย แพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทยา ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนายามีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับในส่วนของผู้ผลิตยา นอกจากการวิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแล้ว การติดตามแนวโน้มความต้องการยาทั้งของแพทย์ โรงพยาบาลและผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ในส่วนของการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยาของไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
________
เผยแพร่ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 5 มีนาคม 2024