พลิกระบบพัฒนาทักษะ เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยในยุคดิจิทัล
ตลาดแรงงานไทยยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านดิจิทัล หากปรับตัวทัน ความท้าทายนี้จะกลายเป็นโอกาส แต่หากเพิกเฉย อาจกลายเป็นภัยต่อแรงงาน
เริ่มต้นปีใหม่เป็นโอกาสให้ลองตรวจสุขภาพตลาดแรงงานไทย ซึ่งจะต้องผจญความท้าทายสำคัญจากการปฏิวัติดิจิทัล (Digital revolution) เหมือนที่ตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญและเร่งปรับตัว บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศและเสนอแนวทางให้แรงงาน ธุรกิจ และภาครัฐไทยพร้อมรับมือกระแสดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งทุกฝ่ายสามารถช่วยกันพลิกกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยได้
ตรวจสุขภาพตลาดแรงงานไทยในวันนี้
ภาพรวมตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤตโควิด สามารถรองรับการโยกย้ายแรงงานภายในสาขาการผลิตต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตได้ดี แรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องออกจากงานสามารถหางานใหม่ได้ อัตราการว่างงานของไทยช่วงโควิดจึงไม่ได้สูงมากและลดลงเร็ว โดยอัตราการว่างงานของไทยสูงขึ้นเกือบเท่าตัวช่วงโควิด มีค่าเฉลี่ยราว 1.9% ในปี 2021 ก่อนลดลงมาแตะระดับก่อนโควิดหรือ 1% ได้ตั้งแต่ต้นปี 2023 ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่อัตราการว่างงานสูงเกิน 10% ในช่วงโควิด หากดูอัตราการว่างงานแฝง1 ก็ปรับลดลงมาต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว เหลือเพียง 0.5% ในช่วงปี 2023 จากที่เคยสูงสุด 1.5% ในปี 2021 สำหรับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็เพิ่มขึ้นมาใกล้ระดับก่อนโควิดที่ 11.6 ล้านคน จากระดับต่ำสุด 11.1 ล้านคนในช่วงปี 2021
อย่างไรก็ตาม หากลอง X-ray ตลาดแรงงานไทยให้ลึกลงไป จะพบความอ่อนแอเชิงโครงสร้างซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทยที่มีอยู่เดิม แต่วิกฤตโควิดยังมาฝากแผลเป็นเพิ่มไว้อีก ทำให้ประสิทธิภาพการจัดสรรแรงงานไทยลดลง เห็นได้จากโครงสร้างการจ้างงาน คุณภาพแรงงาน และค่าจ้างแรงงานไทยที่ไม่ค่อยดีนัก ในอย่างน้อย 3 มิติ ดังนี้
1) โครงสร้างการจ้างแรงงานไทยมีสัดส่วนใหญ่ขึ้นในสาขาการผลิตที่มูลค่าเพิ่มไม่สูง แรงงานไทยอยู่นอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในช่วงโควิดแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบต้องออกจากงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โรงแรมและร้านอาหาร ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานภาคเกษตร (สัดส่วนเพิ่มจาก 31.4% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เป็น 31.9% ในปี 2021 และลดเหลือ 30% ในปี 2023 ตามเทรนด์ปกติที่สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรจะทยอยลดลง) น่าสังเกตว่าแม้โควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่สัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังลดลงต่อ (ลดจาก 16.3% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เหลือไม่ถึง 16% ในปี 2023) แรงงานไทยหันไปทำงานในธุรกิจบริการอื่น ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น ร้านอาหาร บริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ ขายส่งขายปลีก ขนส่ง ส่วนหนึ่งเป็นการทำงานนอกระบบไม่มีกลไกระบบประกันสังคมคุ้มครอง
2) ผลิตภาพแรงงานไทยฟื้นตัวช้า เมื่อวัดจากมูลค่าผลผลิตต่อหน่วยแรงงาน และยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง -4.8% โดยเฉพาะแรงงานนอกภาคเกษตร สะท้อนว่าคุณภาพแรงงานไทยยังไม่กลับไปเช่นเดิมและต้องใช้เวลา เพราะผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตแค่ราว 1% ในปี 2023 เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่โตเฉลี่ยปีละ 4% สาเหตุหลักเพราะแรงงานไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้มากเช่นเดิม วิกฤตโควิดได้สร้างแผลเป็นต่อค่าจ้างและผลิตภาพแรงงานที่ส่งผลระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานที่ย้ายสาขาการผลิตไม่สามารถปรับทักษะใหม่ให้กลับไปทำงานเดิมได้ หรือแรงงานบางส่วนได้งานใหม่แต่กลับใช้ทักษะต่ำลง
3) ค่าจ้างแรงงานไทยแย่ลง แม้คนไทยเรียนสูงขึ้น ดัชนีค่าจ้างแรงงานไทยมีทิศทางลดลงเฉลี่ย -1% ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนโควิด แล้วยิ่งลดลงแรงขึ้นเป็นเฉลี่ย -2.5% ต่อปีตั้งแต่เกิดโควิด สะท้อนว่าแรงงานไทยโดยรวมเรียนสูงขึ้นแต่ได้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อคนต่ำลง โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานในภาคบริการที่มีมูลค่าผลผลิตต่อคนไม่สูงนัก ขณะที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นในกลุ่มธุรกิจบริการที่มูลค่าผลผลิตต่อคนสูง เช่น การเงินและประกัน สาธารณูปโภค ศิลปะบันเทิงและนันทนาการ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานไม่มาก และเน้นทำงานกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์
โจทย์ท้าทายตลาดแรงงานไทย
ตลาดแรงงานไทยยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิทัล (Digital revolution) ที่มาแรงมาเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ Digital revolution จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานในโลกอนาคตไร้พรมแดน หากปรับตัวทัน ความท้าทายนี้จะกลายเป็นโอกาส แต่หากเพิกเฉย ความท้าทายนี้จะกลายเป็นภัยต่อแรงงาน ธุรกิจ และประเทศในที่สุด เพราะอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่รู้ตัว เกิดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (Digital divide) การเลื่อนระดับชั้นทางสังคมทำได้ยากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง
รายงาน Future of Job reports ปี 2023 ของ World economic forum ชี้ให้เห็นแผนการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของธุรกิจทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องปรับตัวผลิตแรงงานทักษะดิจิทัลตามให้ทัน โดย 3 ใน 4 ของธุรกิจมองว่า เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลสำคัญเหมือนการสำรวจครั้งก่อน แต่ที่ต่างไป คือ มุมมองการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่มาใช้เพื่อปรับรูปแบบการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาและพัฒนากำลังคน กลับมีสัดส่วนแซงขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ที่ 86% และ 80% นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีมุมมองต่อแผนการนำเทคโนโลยีป้องกันภัยไซเบอร์ และการบริหารจัดการปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมาใช้ ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่า 60%
รายงานนี้ยังระบุว่า ธุรกิจทั่วโลกประเมินตัวเองว่า กระบวนการทำงานปัจจุบันใช้ระบบอัตโนมัติ
(Automation) ร่วมกับแรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 แต่มองไปถึงปี 2027 สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 42% โดยเฉพาะงานด้านการประมวลผลข้อมูล สะท้อนว่า แม้เทคโนโลยีและอัลกอริทึมอาจเข้ามาทดแทนแรงงานบางส่วนในงานบางประเภทได้ แต่แรงงานในอนาคตที่ธุรกิจมองหา คือ ผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีและอัลกอริทึมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองและองค์กรได้
หากแรงงานเร่งปรับตัวเรียนรู้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่จะเป็นโอกาสเพิ่มผลิตภาพและค่าจ้างได้มาก แต่หากแรงงานปรับทักษะตามกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ไม่ทัน ทักษะติดตัวมานับวันจะยิ่งเก่าร้าง ไม่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ได้ และไม่อาจตอบสนองความต้องการจ้างงานของภาคธุรกิจที่ปรับตัวตามกระแสโลกได้ จึงมีโอกาสสูงมากที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี หรือด้วยแรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะดิจิทัล ต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำลงหรือใช้ความสามารถไม่เต็มศักยภาพ และยอมรับค่าจ้างที่ต่ำลง
สำหรับประเทศไทย ขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับกลาง ๆ ในโลก โดยสถาบัน International institute for Management Development (IMD) ออกรายงาน World digital competitiveness ranking ปี 2023 จัดประเทศไทยในอันดับ 35 จาก 64 ประเทศ (รูปประกอบ) ปรับดีขึ้นจากอันดับ 40 ในปี 2019 และดีขึ้นทั้งสามมิติ ได้แก่ มิติเทคโนโลยี (15 จาก 27) กำลังคน (41 จาก 43) และความพร้อมสำหรับอนาคต (42 จาก 50) ไทยยังไม่ค่อยพร้อมใน 2 มิติหลัง โดยในมิติกำลังคน ไทยยังรั้งท้ายตัวชี้ด้านการจ้างแรงงานสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (57) และการศึกษา/การจัดอบรม (52) สำหรับมิติความพร้อมรับมืออนาคต ไทยยังรั้งท้ายตัวชี้ขีดความสามารถของรัฐบาลในการป้องกันภัยไซเบอร์ (58) การมีแท็บเล็ตใช้งาน (57) และการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (56)
ผลสำรวจ Digital ranking ปี 2023 ของ IMD ข้างต้นชี้ชัดว่า ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และตลาดแรงงานไทยยังปรับตัวรับกระแส Digital revolution ได้ไม่ดีนัก ความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลของแรงงานไทยยังตามหลังชาติอื่นเยอะที่ภายใต้กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ กำลังจะเข้ามาและมีความสำคัญมากขึ้นอีกในระยะ 5 ปีข้างหน้า ไทยต้องเร่งสร้างความพร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลครอบคลุมทุกภาคส่วน จึงเป็นความเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันยกระดับความพร้อมทักษะดิจิทัลกำลังคน สิ่งนี้ต้องอาศัยเวลากว่าจะเห็นผล และความตั้งใจจริงในการร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ประเทศไทยจึงจะมีที่ยืนในโลกแข่งขันสูงมากเช่นนี้ได้
จะพลิกมูลค่าตลาดแรงงานไทยในยุคดิจิทัลได้อย่างไร
สิงคโปร์เป็นประเทศต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการปรับทักษะแรงงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมือง อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศเป็นที่ 1 ของโลกตั้งแต่ปี 2017 บนจุดแข็งเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการพัฒนากำลังคน แม้ในช่วงโควิดปี 2020 อันดับจะร่วงไปเป็นที่ 5 แต่ก็เร่งปรับตัวจนกลับมาเป็นอันดับ 3 ของโลกได้ในปี 2023 ความสำเร็จนี้เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมายประเทศชัด การสร้างกลไกผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริง และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญโดยได้นำเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในแผนกลยุทธ์ประเทศอย่างชัดเจนและมีแผนขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม อีกกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การจัดตั้งหน่วยงาน SkillsFuture Singapore ขึ้นในปี 2016 ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล ทำหน้าที่ตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และแรงงาน รวมถึงมีหน้าที่สร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับปรับทักษะการเรียนรู้ทุกช่วงวัย สำหรับทั้งกลุ่มแรงงานและนายจ้าง ให้เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย และพัฒนาหลักสูตรหลากหลายที่ปรับเปลี่ยนตามกระแสโลก รวมถึงมีหน้าที่สื่อสารแนวโน้มทักษะที่ธุรกิจแต่ละสาขาต้องการในอนาคต ตลอดจนบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านอาชีพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เงินอุดหนุนสร้างแรงจูงใจให้พลเมืองปรับทักษะ เรียกว่า SkillsFuture credits มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้ประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไปทุกคน พร้อมส่วนลดคอร์สเพิ่มเติม ที่สำคัญรัฐบาลสื่อสารชัดเจนว่า พลเมืองสิงคโปร์ทุกคนมีหน้าที่ต่อประเทศในการปรับทักษะของตนไม่ให้ล้าสมัย เพื่อให้ประเทศรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันได้
อันที่จริงแล้วรัฐบาลไทยได้วาง “แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ไว้ตั้งแต่ปี 2016 และกำหนด “ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6 ด้าน” หนึ่งในนั้นคือ “ยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” เน้นพัฒนากำลังคนดิจิทัล ครอบคลุมคนทำงานทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และประชาชนทั่วไป ยุทธศาสตร์นี้กำหนดเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1) บุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน หรือมีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล 2) เกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 20,000 งานภายในปี 2020 และ 3) บุคลากรทุกสาขามีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล
สำหรับการจัดบริการภาครัฐในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล ในปี 2023 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเว็บไซต์รับสมัครเข้าฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัล2 21 หลักสูตร แต่เป็นโครงการชั่วคราวจากงบประมาณปี พ.ศ. 2566 สำหรับในปี 2024 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ประกาศตั้งเป้าเร่งปรับการเรียนรู้ทักษะใหม่ให้แรงงานไทยกว่า 3.9 ล้านคนมีผลิตภาพสูงขึ้น3
จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนฯ ข้างต้นตั้งเป้าค่อนข้างกว้าง ขาดกลไกขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เป็นองค์รวม ขาดการสานต่อนโยบายและระบบติดตามความคืบหน้าภาพใหญ่ สำหรับช่องทางภาครัฐในการปรับทักษะดิจิทัลยังเป็นแบบชั่วคราวและจำกัด ผลสำรวจ Digital ranking ระดับโลกที่ชี้ว่า ความไม่พร้อมด้านทักษะดิจิทัลของกำลังคนและการเตรียมรับมืออนาคตยังเป็นจุดอ่อนของไทยเรื่อยมา ทั้งที่ประเทศมีแผนยุทธศาสตร์ฯ และช่องทางบริการของภาครัฐรองรับ สะท้อนว่าเป้าหมายและแนวทางยังมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ
ผู้เขียนขอเสนอแนวทางสร้างให้แรงงาน ธุรกิจ และภาครัฐไทยพร้อมรับกระแสดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตลาดแรงงานไทยอย่างเร่งด่วน “ผ่านการมีหน่วยงานกลาง มีบทบาทขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และสร้างแพลตฟอร์มปรับทักษะดิจิทัลระดับประเทศสำหรับแรงงานไทยทุกคน” โดยมีคอร์สปรับทักษะหลากหลายทันสมัยตอบโจทย์แรงงานไทยที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย และตอบโจทย์ความต้องการจ้างงานของธุรกิจสาขาต่าง ๆ รวมถึงการวางระบบแรงจูงใจให้คนไทยสนใจปรับพฤติกรรมให้คุณค่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต และอยากเข้าใช้งานแพลตฟอร์มกลางนี้ เช่น คูปองเงินอุดหนุน หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐ หน่วยงานนี้ต้องตั้งเป้าตัวชี้วัดเชื่อมโยงอันดับความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัลในมิติกำลังคนในระยะปานกลาง
แม้ในปัจจุบันการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อปรับทักษะแรงงานในลักษณะเช่นนี้มีอยู่บ้างในบางธุรกิจหรือองค์กรภาครัฐไทยที่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนและกำลังคน แต่ยังพัฒนาแบบต่างคนต่างทำ และเข้าถึงเฉพาะกลุ่มพนักงานขององค์กร ความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัลระหว่างแรงงานในระบบด้วยกันเอง รวมถึงระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบจะยิ่งกว้างขึ้น
หากภาครัฐเป็นเจ้าภาพลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านแพลตฟอร์มปรับทักษะดิจิทัลร่วมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ จะช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน สร้างบริการสาธารณะ เพิ่มโอกาสเข้าถึงทักษะดิจิทัลของคนไทย สร้างโอกาสให้แรงงานทุกระดับเพิ่มผลิตภาพ สามารถโยกย้ายสู่งานที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือโยกย้ายจากงานนอกระบบสู่การทำงานในระบบได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางสร้างแหล่งรายได้ของคนไทยและเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทยได้อย่างยั่งยืนค่ะ
1 เรียกอีกอย่างว่า อัตราการทำงานต่ำกว่าระดับ นิยามคือ จำนวนคนที่ทำงานไม่ถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการจะทำงานเพิ่ม
2 ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภาพและพัฒนากำลังคน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เข้าถึงได้ที่ https://gcloud.dsd.go.th/~dgt/
3 เข้าถึงได้ที่ https://www.dsd.go.th/DSD/Activity/ShowDetails/102862?category_id=1
เอกสารอ้างอิง
IMD World Competitiveness Center. 2023. “World Digital Competitiveness Ranking 2023”. November 2023. https://www.imd.org/centers/wcc/world-competitiveness-center/rankings/world-digital-competitiveness-ranking/
SkillsFuture Singapore, “Skills Demand for the Future Economy 2023/24”. https://www.skillsfuture.gov.sg/skillsreport/download-full-report
World Economic Forum. 2023. “Future of Jobs Report 2023 Insight Report”. April 2023.
https://www.weforum.org/publications/the-future-of-jobs-report-2023/
________
เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Thaipublica เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2024