ผู้เขียน: เกษมสุข ทักษาดิพงศ์
Carry Trade (แครี่เทรด)
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2556
"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ดอกเบี้ยจะลงหรือไม่ ก็เป็นเพราะ กนง. ตัดสินใจ ไม่เกี่ยวกับใครส่งสัญญาณ เพราะคนที่ดูแลเขามีความรู้ความเข้าใจพอ ผมว่าจริงๆ ดอกเบี้ยไม่ค่อยเกี่ยวกับการสกัดเงินทุนเท่าไหร่ เพราะเงินทุนไหลเข้ามาจากการทำแครี่เทรดหรือการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกประเทศไม่ใช่แค่ไทยเรา ..." ที่มา: โพสต์ทูเดย์ (31 มกราคม 2556) |
การทำ Carry Trade คืออะไร?
การทำ Carry Trade เป็นการกู้ยืมเงินในสกุลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ หรือเรียกว่าสกุลเงินระดมทุน (Funding currency) เพื่อมาซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยนักลงทุนสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของผลตอบแทนและการแข็งค่าของสกุลเงินเป้าหมายจากการไหลเข้าของเงินทุนดังกล่าว และเมื่อได้รับผลตอบแทนในระดับหนึ่งแล้วก็จะปิดสถานะ Carry Trade (Carry trade unwinding) ด้วยการขายสินทรัพย์นั้นและซื้อคืนเงินที่อยู่ในสกุลเงินระดมทุนเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้นการทำ Carry trade จึงมีลักษณะคล้ายกับการจับเสือมือเปล่าเนื่องจากสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้จากความไม่สมมาตรของตลาดการเงินแต่ละประเทศในขณะที่มีความเสี่ยงไม่มากนักหากนักลงทุนสามารถเข้าออกตลาดได้รวดเร็วเพียงพอ จึงทำให้การทำ Carry trade ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ของนักลงทุนระหว่างประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา
การทำ Carry trade อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร?
หากพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศระดมทุนแล้ว การทำ Carry trade นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชนเนื่องจากเงินทุนส่วนหนึ่งแทนที่จะถูกปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจ แต่กลับถูกปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนเพื่อนำไปหาผลตอบแทนจากต่างประเทศซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง และยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระคืนเงินกู้ด้วยแล้ว มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ธนาคารกลางหลายแห่งเลือกใช้ก็อาจจะไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควรเพราะสภาพคล่องส่วนหนึ่งถูกนำไปทำ Carry trade นั่นเอง ในขณะที่ประเทศเป้าหมายจะได้รับความเสียหายทั้งในเรื่องของการส่งออกที่ลดลงจากการแข็งค่าของค่าเงิน และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเงินทุนเหล่านี้ไหลออกอย่างฉับพลันจากการปิดสถานะเพื่อลดความเสี่ยงหากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินระดมทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น (ต้นทุนการทำ Carry trade เพิ่มขึ้น) หรือย้ายไปซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินอื่นหากผลตอบแทนของสินทรัพย์ในประเทศเป้าหมายมีแนวโน้มลดลง (ผลตอบแทนการทำ Carry trade ต่ำลง) และการทำ Carry trade ก็ยังทำให้ค่าเงินของทั้งสองประเทศมีความผันผวนเป็นอย่างมากซึ่งไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศเช่นกัน
ทำไมไทยจึงเป็นเป้าหมายในการทำ Carry trade?
การที่เศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาอย่างในปัจจุบันนั้น ทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงโดยการกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำและอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และเยนกลายเป็นสกุลเงินระดมทุนขนาดใหญ่ ในทางกลับกันผลตอบแทนของสินทรัพย์ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นยังอยู่ในระดับสูง จึงผลักดันให้เกิดการทำ Carry trade อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายในการเข้ามาของเงินทุนเหล่านี้เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินบาทค่อนข้างสูงกว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเยน และผลกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังมีปัจจัยด้านอื่น เช่น นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความยืดหยุ่นต่อนักลงทุน ระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมากนัก และอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ช่วยสนับสนุนให้สินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินบาทมีความโดดเด่นเหนือสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนในอัตราที่ใกล้เคียงกันเนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่านั่นเอง
แล้วไทยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
นับตั้งแต่ต้นปี การไหลเข้าของเงินทุนเพื่อทำ Carry trade ในไทยนั้นส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 2.4% แต่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอย่างมาเลเซียกลับอ่อนค่าลงราว 1.4%1 จึงอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาและส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนการทำ Carry trade ยังทรงตัวในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้ดีทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินบาทยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง รวมถึงการออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าเพื่อรักษาค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้แรงจูงใจในการทำ Carry trade ยังไม่น่าจะหมดไปในเร็ววัน
ทางออกที่เหมาะสมในบริบทของไทยคืออะไร ?
แม้ว่าการใช้นโยบายการเงินเพื่อจัดการเงินทุนที่ไหลเข้ามาโดยการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราหรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดูจะเป็นทางเลือกที่เห็นผลได้รวดเร็วและชัดเจนที่สุด แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกันหากมีแนวโน้มว่าจะเกิดการทำ Carry trade ที่กินระยะเวลายาวนานเหมือนในปัจจุบัน เพราะว่าการแทรกแซงค่าเงินจะตามมาด้วยการดูดซับสภาพคล่อง (Sterilization) เสมอเพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องล้นระบบจนนำไปสู่การขาดทุนในส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจากธุรกรรมแทรกแซงค่าเงิน นอกจากนี้แล้ว การดูดซับสภาพคล่องยังทำให้มีปริมาณพันธบัตรหมุนเวียนในตลาดรองรับความต้องการซื้อจากการทำ Carry trade เพิ่มขึ้น เกิดเป็นวงจรดึงดูดเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถแบกรับผลขาดทุนไว้ได้อีกและต้องหยุดการแทรกแซงในที่สุด
ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดส่วนต่างผลตอบแทนสินทรัพย์ระหว่างประเทศลงในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นนั้นก็อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดปัญหาฟองสบู่ตามมาภายหลัง อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินทุนไหลเข้าได้ตามความคาดหมาย เนื่องจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในภาพรวมหลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วยังคงมีความน่าสนใจกว่าประเทศอื่น
ดังนั้นเมื่อไม่มีมาตรการใดที่สามารถชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้โดยไม่เกิดความเสียหาย การตักตวงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกระแส Carry trade จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้นว่าการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการไทยเร่งนำเข้าเครื่องจักรที่มีศักยภาพสูงเพื่อลดต้นทุนในการผลิตซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เงินทุนไหลออกไปบ้างแล้ว ยังเป็นการเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะยาวอีกด้วย
1 ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556