SHARE
SCB EIC BRIEF
22 มกราคม 2024

EEC ตัวช่วยขับเคลื่อนการลงทุนไทยปี 2023

ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตเกิน 3% ได้อีกครั้งจะต้องอาศัยเครื่องยนต์การลงทุนมาเป็นตัวช่วยสำคัญ

เศรษฐกิจไทยใช้เวลา 4 ปีกว่าจะฟื้นจากวิกฤตโควิดกลับมายืนจุดเดิม เศรษฐกิจไทยหดตัวแรงราว -6% ในปี 2020 และกลับมาฟื้นตัวเพียง 1.5% 2.6% และราว 2.6% ในช่วงปี 2021 – 2023 เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าและโตต่ำลงมาก เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาทำงานไม่ครบและไม่เต็มที่ ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตเกิน 3% ได้อีกครั้งจะต้องอาศัยเครื่องยนต์การลงทุนมาเป็นตัวช่วยสำคัญ 

EEC มุ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเชิงรุกเจาะกลุ่มศักยภาพ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

การปรับกลยุทธ์ใหม่ในแผนระยะ 5 ปีของ EEC มุ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเชิงรุกเจาะกลุ่มศักยภาพ และวัดผลสร้างเม็ดเงินลงทุนจริง จะช่วยขับเคลื่อนให้การลงทุนไทยโตขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และโลกแบ่งขั้ว การย้ายฐานการลงทุนไปประเทศใกล้เคียง หรือประเทศขั้วพันธมิตรเริ่มชัดขึ้น บรรยากาศการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และดิจิทัล 

EEC ปรับแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (ปี 2023 – 2027) ใหม่

กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์หลัก และกำหนดมุมมองใหม่ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ สรุปแนวทางหลัก ๆ ได้ดังนี้

1. กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ 1) การแพทย์และสุขภาพ 2) ดิจิทัล เช่น ดิจิทัล หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) ยานยนต์สมัยใหม่ เช่น EV 4) BCG เช่น เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และ 5) บริการ เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบินและโลจิสติกส์

2. ตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท) เป้าหมายใหม่จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในประเทศให้เติบโตได้มากราว +40% จากแผนเดิมช่วงปี 2018 – 2022 ซึ่งบรรลุเป้ามูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุน BOI 2.2 ล้านล้านบาท แต่เม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่ยังไม่มากเฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

3. จัดทีมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติบนหลักการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เน้นเจรจากลุ่มธุรกิจต่างชาติหัวหอกที่เข้ามานำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องให้ตามมาได้ และช่วยขยับตำแหน่งของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกไปสู่ระดับต้นน้ำมากขึ้นได้ และเจรจาสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน 5 คลัสเตอร์หลักเป็นกรณี พรบ. EEC กำหนดกรอบการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเอาไว้แล้ว ในทางปฏิบัติจะพิจารณาสิทธิประโยชน์เป็นกรณี โดยคำนึงถึงการเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ความสำคัญของกิจการต่อ Supply chain และ Value chain และการสร้างประโยชน์ต่อประเทศเป็นสำคัญ

4. จัดแพ็กเกจสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ ทั้งมาตรการภาษีและมิใช่ภาษี เช่น สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด และการอนุญาตให้อยู่อาศัยในระยะยาวเป็นกรณีพิเศษ (EEC long-term VISA) โดยให้วีซ่าระยะยาวตามสัญญาจ้าง พร้อมใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC หรือ ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมถึงคู่สมรสและบุตร

5. สร้างระบบนิเวศการลงทุน พัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising venue) รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 2024 เริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศที่ใช้เงินตราต่างประเทศในการระดมทุน รวมถึงบริษัทไทยที่จะไปจดทะเบียนในต่างประเทศจะมีทางเลือกในการระดมทุน และมีทางเลือกเครื่องมือทางการเงินมากขึ้นได้

6. จัดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยยกระดับกฎหมายการให้บริการอนุมัติและอนุญาตตาม พรบ. EEC ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร การสาธารณสุขคนเข้าเมือง การจดทะเบียนพาณิชย์โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน จะช่วยลดอุปสรรคและเร่งระยะเวลาเริ่มลงทุนได้จริง จากเดิม 2 ปีเหลือ 9 เดือน

EEC ปรับกลยุทธ์ใหม่ ทำงานเชิงรุก เท่าทันกระแสโลกและการแข่งขันสูง เร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้ไทยมีที่ยืนบนห่วงโซ่การผลิตโลกมูลค่าสูงขึ้น จะช่วยยกระดับบทบาทการลงทุนให้กลับมาเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

________
เผยแพร่ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 17 มกราคม 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ