SHARE

เศรษฐกิจไทยน่าผิดหวัง….หรือเพราะเราหวังสูงเกินไป

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าและต่ำลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต สิ่งนี้สะท้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติที่สะสมมานาน

หากมองย้อนกลับไปในอดีต การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4-5% ต่อปีในช่วงเวลาปกติคงเป็นเรื่องที่เราชินตา โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากประเทศเพิ่งผ่านพ้นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตซับไพรม์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย มักจะตามมาด้วยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้สูงจากปัจจัยฐานที่หดตัวรุนแรง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะหลังกลับเติบโตช้าลงไปมาก โดยเฉพาะช่วงการฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19

ปี 2023 ดูเหมือนจะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทย “น่าผิดหวัง” จากตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไปมาก โดยเฉพาะตัวเลข GDP ในไตรมาสสามที่ขยายตัวเพียง 1.5% ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2023 มีแนวโน้มจะเติบโตต่ำกว่า 3% ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับ Pre-COVID ได้ ไทยถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าในกลุ่มรั้งท้ายของโลกและปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับ Pre-COVID (SCB EIC ประเมินไทยอยู่ที่อันดับ 155 จากข้อมูล 189 ประเทศ) บทความนี้จึงอยากชวนติดตามว่าเกิดอะไรกับเศรษฐกิจไทย และเราคาดว่าจะได้เห็นอะไรในปีใหม่รวมถึงปีถัดไปต่อจากนี้

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและต่ำลง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2024 ตามการส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวได้จากการค้าโลกที่จะขยายตัวสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวดีตามการฟื้นตัวของการส่งออกรวมถึงแนวโน้มมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าและต่ำลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต สิ่งนี้สะท้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติที่สะสมมานาน ประกอบกับรอยแผลเป็นจากวิกฤต COVID-19 ทิ้งไว้ ส่งผลให้ระดับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทยลดลง จากเดิมที่ SCB EIC ประเมินไว้อยู่ที่ราว 3.5% ต่อปีในช่วงปี Pre-COVID (2017-2019) เหลือ 3% ต่อปีในระยะต่อไป (2024-2045) สาเหตุสำคัญจาก

1) ปัจจัยทุนต่ำลง เป็นผลจากการลงทุนในประเทศต่ำมานานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยช้าลงและไม่สม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาค เช่น เวียดนาม โดยปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ไทยลดลงจากเกือบ 50% ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว แตกต่างจากหลายประเทศในอาเซียนที่ยังรักษาสัดส่วนการลงทุนในระดับสูง หากมองลึกลงไปจะพบว่า ตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์ สัดส่วนการลงทุนต่อการบริโภคภาครัฐลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนการศึกษาและสาธารณสุขที่อยู่ในระดับต่ำ

2) ปัจจัยแรงงานต่ำลง เป็นผลจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว โดย United Nations (2020) ประเมินว่าอาจจะใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีนับจากนี้ที่ประเทศไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากราว 7% เป็น 14% ของประชากรทั้งหมด และกำลังแรงงานไทยมีแนวโน้มจะลดลงราว 7 ล้านคนภายในปี 2040 จากปัจจุบัน

3) ปัจจัยผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity : TFP) ลดลง เป็นผลจากคุณภาพการผลิตทั้งเทคโนโลยีและผลิตภาพแรงงานต่ำ จากสองปัจจัยแรกที่กล่าวไปข้างต้น สะท้อนปัญหาการสะสมทุนและจำนวนแรงงานล้วนเป็นปัญหาเชิงปริมาณ ในขณะที่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงและส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงมากกว่ามาจากปัจจัยผลิตภาพการผลิต ที่เกิดจากการลงทุนเทคโนโลยีและ R&D ต่ำ ผลิตภาพแรงงานไทยที่ปรับลดลงเกือบทุกสาขาการผลิตและยังต่ำกว่าระดับ Pre-COVID ประสิทธิภาพภาครัฐ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายมิติที่ประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา สะท้อนจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย International Institute for Management Development (IMD) ปี 2023 ที่ประเทศไทยเกือบรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 53 และ 54 จาก 64 ประเทศ ตามลำดับ 

สร้างความหวังใหม่ให้เศรษฐกิจไทย ผ่านการลงทุนอย่างมีกลยุทธ์

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานเป็นปัจจัยสำคัญฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจึงมีความจำเป็น ผ่านการสร้างการลงทุนใหม่อย่างมีกลยุทธ์ที่มุ่งเป้าให้เศรษฐกิจไทยเติบโตทั่วถึงและยั่งยืนมากขึ้น เริ่มจาก

1) สร้างบรรยากาศส่งเสริมการลงทุน ภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย 1. โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่เหมาะสมและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2. โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันในการประกอบธุรกิจ ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและโปร่งใส และ 3. โครงสร้างระบบการเงินที่พร้อมสนับสนุนการโยกย้ายทรัพยากรทางการเงินไปสู่กิจกรรมการลงทุนในประเทศ

2) สร้างการวางแผนระดมทุนและการจัดสรรเงินลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดให้เอกชนลงทุนเพิ่มด้วยแรงจูงใจที่เหมาะสม สร้าง Project-based funding และทบทวนการจัดสรรงบลงทุนของรัฐบาลโดยปรับสัดส่วนการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) สร้างการลงทุนใหม่อย่างมีกลยุทธ์ โดยเลือกการลงทุนใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีจำกัดมากขึ้น เช่น ลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ให้สอดรับกับบริบทและกฎเกณฑ์โลกที่เปลี่ยนไป ลงทุนเพื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกที่เหมาะสมกับความต้องการสินค้าและบริการ โครงสร้างตลาด โครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความท้าทายรออยู่มาก และคงไม่น่าแปลกใจ หากเราเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยังต่ำต่อเนื่องและน่า “ผิดหวัง” อีก หากเรายังตั้งความหวังมากไปว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพสูงจากภาพจำในอดีต แต่แท้จริงแล้วคำถามสำคัญที่ควรหันมามอง ทำความเข้าใจ และแก้ไข คือเศรษฐกิจไทยเติบโตน่าผิดหวัง หรือจริง ๆ แล้วเราเองที่หวังสูงเกินไปกันแน่…

________
เผยแพร่ใน Thairath money วันที่ 7 มกราคม 2024

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ